บล.ภัทร หวั่น “สุญญากาศทางการเมือง” ฉุดเศรษฐกิจครึ่งปีแรกชะลอ

บล.ภัทร หวั่นความไม่แน่นอนจากกฎการเลือกตั้งใหม่ และสุญญากาศทางการเมืองระหว่างตั้งรัฐบาลใหม่ ทำให้นักลงทุน-ประชาชนรอดูสถานการณ์ ส่งผลเศรษฐกิจครึ่งปีแรกชะลอตัว

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศมีความไม่แน่นอนอยู่มากจากกฎการเลือกตั้งแบบใหม่ และสุญญากาศทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นระหว่างวันเลือกตั้งกับวันที่มีรัฐบาลใหม่ ซึ่งอาจส่งผลนักลงทุนและประชาชนชะลอการตัดสินใจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ชะลอตัวลงได้

“กฎการเลือกตั้งในครั้งนี้สร้างความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นไปอีกในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะมีการให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คนที่คณะรัฐประหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลือก มาโหวตนายกรัฐมนตรีด้วย เพราะฉะนั้นผลการเลือกตั้งอย่างเดียวไม่ได้สรุปว่าใครจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งถ้าลองประเมินเล่นๆ จะเห็นว่าผลการเลือกตั้งมีความเป็นไปได้ 4 กรณี” ดร.พิพัฒน์ กล่าว

กรณีที่ 1 ส.ว.ทั้งหมดเลือกพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วม ได้คะแนนเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร สามารถจัดตั้งรัฐบาล เสียงข้างมากได้

กรณีที่ 2 พรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วม ระดมเสียงส่วนใหญ่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แต่ไม่ได้เสียงข้างมาก เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งกรณีนี้มีความเสี่ยงที่รัฐบาลจะไม่สามารถออกกฎหมายได้ มีความเสี่ยงต้องเข้าสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ

กรณีที่ 3 พรรคเพื่อไทย และพรรคอื่นๆ ที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลปัจจุบัน สามารถระดมเสียงได้เกิน 375 ที่นั่ง ทำให้แกนนำเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้

กรณีที่ 4 เลือกตั้งแล้วไม่สามารถสรุปผลได้ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ทำให้รัฐบาลปัจจุบันยังอยู่ในตำแหน่งต่อไป โดยมี ม.44

“ในแต่ละกรณีมีความไม่แน่นอนอยู่ นอกจากนี้ เมื่อประเมินจากระยะเวลาหลังจากการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. เราอาจจะไม่รู้ผลการเลือกตั้งจนกว่าวันที่ 9 พ.ค. การประชุมสภาครั้งจะยังไม่มีจนกว่าจะกลางเดือน พ.ค. และรัฐบาลใหม่อาจจะไม่ตั้งจนถึงสิ้นเดือน พ.ค. แสดงว่า ช่องว่าง 2-3 เดือนนี้ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง เกิดสุญญากาศทางการเมือง นักลงทุนและผู้บริโภคจะรอดูสถานการณ์ไปก่อน ทำให้เศรษฐกิจในครึ่งแรกปีชะลอตัวลงได้”

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังต้องพิจารณาจากสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นว่าจะผ่านไปได้ด้วยความสงบและขับเคลื่อนประเทศต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้ ว่าสามารถส่งผ่านรัฐบาลหนึ่งไปสู่ประชาธิปไตยด้วยสงบเรียบร้อยหรือไม่ และคนส่วนใหญ่ยอมรับอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ดร.พิพัฒน์ คาดว่า หากการเลือกตั้งผ่านไปได้ด้วยดี การเร่งตัวของการลงทุนภาครัฐ การกระตุ้นทางการคลัง และการลงทุนภาคเอกชน อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจ และลดทอนผลกระทบด้านลบจากปัจจัยภายนอกได้บางส่วน

เศรษฐกิจไทยในปี 2562 น่าจะยังคงเติบโตได้ดีอยู่ แต่มีทิศทางชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยคาดว่าจะเติบโตได้ 3.7% จากปี 2561 ที่คาดว่าจะเติบโตได้ 4.2-4.3% เนื่องจากการส่งออกและการท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจในปีก่อน มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจีน และผลของความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ส่วนภาคการบริโภคอาจได้รับแรงกดดันจากรายได้ภาคเกษตรที่ยังคงมีแนวโน้มอ่อนตัว และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำ”