‘ภากร’ นำทีมตลท.-นักข่าวทัวร์ EEC มองหาลู่ทางลงทุน สร้างความยั่งยืนปท.

“ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นำคณะผู้บริหารและสื่อมวลชนไปเยี่ยมชม ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา (ระยอง-พัทยา) และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด(บ้านฉาง จ.ระยอง) ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ระหว่างวันที่ 25-27 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา เป็นการลงพื้นที่เก็บข้อมูลนำกลับไปศึกษาต่อยอดการลงทุนใหม่ๆ เพื่อให้ตลาดทุนมีส่วนในการพัฒนาประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

“ภากร” ให้สัมภาษณ์ว่า การมาดูงานครั้งนี้ เป็นเวลาที่เหมาะสม เห็นโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลดำเนินการมีความก้าวหน้าไปมาก เห็นศักยภาพในการต่อยอดเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ปัจจุบันมีสายการบินทั้งสัญชาติไทยและต่างประเทศ จำนวน 18 สายการบินมาให้บริการกว่า 30 เส้นทางบิน มีจำนวนผู้โดยสารเกือบ 2 ล้านคนในปีงบประมาณ 2561 และยังมีแผนในการพัฒนาโครงการท่าอากาศยานฯอีกมาก แต่จะทำอย่างไรให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์และทั่วโลกให้ความสำคัญ ไม่ใช่คำนึงถึงกำไรที่เกิดขึ้นเพียงระยะสั้นเท่านั้น

ภากร ปีตธวัชชัย

เป็นเรื่องดีที่รัฐบาลนี้เกิดโครงการ EEC เป็นการวางแผนต่อจิ๊กซอว์ประเทศในระยะยาว และเชื่อมโยงกลุ่มประเทศ CLMV อาเซียน จากอดีตไม่เคยมี หลังจากเกิดโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด เมื่อเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา มีการนำทรัพยากรธรรมชาติมาสร้างมูลค่าเพิ่มหรือvalue added จนสามารถสร้างบริษัทพลังงาน บริษัทปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมพลาสติกระดับ world Class หลายแห่ง ซึ่งแต่ก่อนทำได้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้นทุนถูก แต่ปัจจุบันต้นทุนเราสู้เวียดนามและพม่าไม่ได้แล้ว

โจทย์ตอนนี้ประเทศไทยจะทำอย่างไร เมื่อแก๊สหมดลงภายใน 10 ปีข้างหน้า รัฐบาลจึงเกิดโครงการนี้ขึ้นมา มีการวางโครงสร้างพื้นฐาน มีระบบโลจิสติกส์ มีนโยบายต่อยอดสินค้าเกษตร มีอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต มีอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็น “คอนเซ็ปต์ที่ดี แต่เป็นโจทย์ที่ยาก”

ที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามทำหลายเรื่อง มีการให้สิทธิประโยชน์สำหรับการเข้ามาลงทุน มีการวางโครงสร้างพื้นฐานระดับหนึ่ง ขณะนี้ตลาดทุนเริ่มเข้ามามีบทบาท เพราะโครงการลงทุนจำนวนมากจำเป็นต้องใช้เงินมหาศาล แต่จะดึงดูดให้คนเข้ามามากขึ้นอย่างไร ภาคการเงินแข็งแรงพอไหม ไม่ใช่แค่ระบบธนาคาร หรือการออกหุ้นกู้ หรือออกหุ้นทุน จะต้องมีมากกว่านั้น เช่น กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะแหล่งเงินของสตาร์ทอัพ เนื่องจากอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุน ไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ เหมือนบริษัทของเยอรมัน ญี่ปุ่นที่เก่ง ต่างมีขนาดเล็ก ๆ บริษัทเหล่านี้จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างไร

ปัจจุบันประเทศไทยมีเงินออมสูงมาก คนอยากจะลงทุนมาก ขนาดพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีให้ผลตอบแทน 2.7% ก็ยังลงทุน กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ กองทุนตราสารหนี้ กองทุนหุ้น เติบโตขึ้นมาก แต่ในระยะยาว การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะขยายใหญ่มากขึ้น รัฐบาลจะเอาเงินจากที่ไหนมาลงทุน และจะทำอย่างไรให้คนไทยเข้าถึงการลงทุนได้มากขึ้น ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้

“เราจะต้องหาโอกาสในการลงทุนใหม่ ๆ ทั้งในสินทรัพย์ดิจิทัล กองทุนตราสารหนี้ และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยหรือไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น”


นอกจากนี้ ประเทศไทยมีจุดเด่นในเรื่องสินค้าเกษตร เราเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายใหญ่ น้ำตาลเป็นอันดับสอง แต่กลับไม่มีตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ที่แข็งแรง จะต้องใช้ราคาตลาดในโลกเป็นตัวกำหนดราคากลาง มีภาครัฐเข้าแทรกแซงราคา หากประเทศไทยมีตลาดนี้เข้ามาช่วย คงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาภาครัฐ ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมน้ำตาล ที่ผ่านมาใช้ระบบโควต้ามากำหนดส่วนแบ่ง และโควต้าการขายและส่งออกต่างประเทศ ซึ่งก็ได้ผลที่ดี

เรื่องทอง ประเทศไทยก็เก่ง ขายออกไปพม่าและกัมพูชาจำนวนมาก แต่ต้องส่งไปสิงคโปร์ และเซี่ยงไฮ้ เพราะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เรื่องนี้ต้องคิด

ทำให้การมาเยี่ยมชมกิจการครั้งนี้ ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้กลับบ้านมือเปล่า มีการบ้าน นำข้อมูลที่ได้รับกลับไปศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้คนไทยเข้าถึงการลงทุนได้มากขึ้น และอะไรจะเป็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ ทั้งฟรีเทรดโซน สถานที่ซื้อขายส่งมอบทอง การจัดตั้งตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า แต่จะต้องคิดมากกว่าการซื้อขาย ยาง น้ำตาล เรื่องข้าว มันสําปะหลังก็น่าสนใจ เพราะมีมูลค่าเพิ่มเหมือนผลผลิตปาล์ม รวมถึงการใช้สิทธิประโยชน์จากโครงการ EEC โดยการลงทุนในแต่ละโครงการ ตลาดหลักทรัพย์ไม่จำเป็นต้องลงทุนเองทั้งหมด เพราะเราไม่เก่งในบางเรื่อง จะดึงใครมาเป็นพันธมิตรในอนาคต เพื่อเติบโตไปด้วยกัน…