5 ผู้นำ กับ 5 พันธกิจ พา กสิกรไทย สู่ “Cognitive Banking”

เมื่อถูกถามว่า “วันนี้ธนาคารกสิกรไทยแข่งกับใคร” ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ผู้หญิงเพียงหนึ่งเดียวบนเวทีในงานแถลงวิสัยทัศน์ A YEAR OF i ของ 5 ผู้บริหารกสิกรไทย ตอบว่า “เราไม่ได้แข่งกับเพื่อนๆ ในประเทศ เพราะวันนี้เรารู้กันแล้วว่า ทุกวันนี้พื้นที่มันไม่มีขอบเขตอีกต่อไป เพราะฉะนั้นคู่แข่งคือทุกคนในโลกนี้”

“และถ้าจะแข่งกันก็ต้องแข่งกันตอบโจทย์ประโยชน์ลูกค้า ให้บริการที่ดีที่มีความหมายมากขึ้น เพราะถ้าแข่งกันในเชิงสร้างสรรค์มันคงจะดีมากกว่าการลดราคาไปเรื่อยๆ” ขัตติยา กล่าว

นี่ไม่ใช่แค่ “คำตอบสวยๆ” เพราะผู้บริหารระดับสูงของกสิกรไทยทั้ง 5 คน ยืนยันพันธกิจที่จะเดินหน้าบนเส้นทางการแข่งขันของ “ธุรกิจแบงก์ยุคใหม่” ที่ต้องนำเทคโนโลยี ข้อมูล พนักงาน และพันธมิตร มาผนวกกันเพื่อเป้าหมายหลัก คือ ให้บริการที่ตรงใจสำหรับลูกค้าแต่ละคน เพื่อให้ธนาคารกสิกรไทย เป็น “ธนาคารอัจฉริยะ” (Cognitive Banking)

iNCORPORATE : ปรากฏการณ์ความร่วมมือ


Mission Leader >> ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

“ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ให้เกิดปัญหากับระบบธนาคาร เช่น กฎเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ลูกค้าเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทำให้ต้องมีการลงทุนด้านเทคโนโลยี มีการแข่งขันซึ่งไม่ใช่เฉพาะในกลุ่มธนาคาร แต่มีผู้เล่นใหม่ๆ ทำให้เกิดการปรับตัว เพราะเราเห็นตัวเลขต่างๆ แสดงถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งหากใครไม่ปรับตัว โอกาสในการแข่งขันก็น้อยลงไป”

อย่างไรก็ตาม ปรีดี บอกว่า สำหรับในยุคสมัยนี้ ที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขนาดนี้ ธนาคารใดธนาคารหนึ่งจะปรับเปลี่ยนเพียงลำพังไม่ได้

“ภาพรวมโลกเปลี่ยนไป จะมาทำคนเดียว อยู่คนเดียวไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่า ธนาคารพาณิชย์พยายามร่วมมือร่วมใจในโปรเจกต์ต่างๆ ทำให้เป็นมาตรฐาน ที่จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมของธนาคารพาณิชย์ ต่อเศรษฐกิจ ต่อประเทศ และประชาชนโดยรวม”

เพราะฉะนั้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการเงินของไทยจึงมีผลงานจาก “ปรากฏการณ์ความร่วมมือ” เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น…

>> โครงการพร้อมเพย์ที่มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 46.5 ล้านไอดี มีปริมาณธุรกรรม 4.5 ล้านรายการต่อวัน

>> การสร้างมาตรฐานคิวอาร์ โค้ด ระบบชำระเงินสำหรับประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก มีร้านค้าใช้งานคิวอาร์ โค้ด แล้ว 3 ล้านราย

>> การขยายศักยภาพ ITMX ระบบกลางที่รองรับธุรกรรมข้ามธนาคารให้เป็น 1,000 รายการต่อวินาที และธนาคารสมาชิกจะเพิ่มความสามารถของระบบแต่ละธนาคารเป็น 2 เท่าภายในปีนี้

>> โครงการสนับสนุนการชำระเงินด้วยบัตรเดบิตแทนเงินสด ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรเดบิตทั้งสิ้น 59 ล้านใบ มีเครื่องรูดบัตร (EDC) รวม 700,000 เครื่อง

>> โครงการ TB-CERT เพื่อความมั่นคงและปลอดภัยของระบบไอทีของสถาบันการเงิน ปัจจุบันสมาชิก 23 องค์กรมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและฝึกซ้อมรับสถานการณ์ภัยไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง

และความร่วมมือจะไม่หยุดเพียงเท่านี้ โดย ปรีดี กล่าวว่า ภายใน 2 ปีข้างหน้าจะขยับขยายในอีกหลายเรื่อง เช่น

การต่อยอดโครงการพร้อมเพย์จากการให้บริการคิวอาร์ โค้ด มาตรฐานไทยในประเทศ สู่การให้บริการ คิวอาร์ โค้ด มาตรฐานไทยในประเทศ CLMV+3 ที่จะทำให้ผู้ชำระเงินที่มีแอป โมบาย แบงกิ้ง ของธนาคารไทยทุกธนาคาร สามารถสแกนชำระเงินนอกประเทศได้ และบริการร้านค้าสแกนคิวอาร์ โค้ด ของลูกค้าผู้ชำระเงิน (B Scan C) ที่จะช่วยให้การชำระเงินสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

โครงการ Thailand Blockchain Community Initiative เริ่มให้บริการด้านหนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee) โดยมีสถาบันการเงินทั้งไทยและต่างประเทศ 22 ธนาคาร กลุ่มภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจ 7 กลุ่มเข้าร่วม คาดว่าจะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้ และในปีนี้จะมียอดธุรกรรมประมาณ 40,000 รายการ

มีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปต่อยอดสู่บริการรับรองเอกสารทางการศึกษา (E-Transcript) ที่จะช่วยสร้างความมั่นใจ เพิ่มความสะดวก ให้แก่นิสิต นักศึกษาที่จบใหม่ รวมทั้งบุคคลที่ต้องการหาตำแหน่งงานและองค์กรที่กำลังเปิดรับบุคลากร

โครงการ National Digital ID (NDID) ที่ลูกค้าสามารถยืนยันตัวตนผ่านระบบออนไลน์ ช่วยให้เปิดบัญชีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่ต้องไปแสดงตนที่สาขา การขอสินเชื่อและการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ทางออนไลน์

“ตอนนี้อยู่ใน Sandbox คงอีกไม่นานเกินรอก็จะออกมา”

โครงการเอทีเอ็มสีขาว (White-Label ATMs) ที่จะช่วยให้ธนาคารบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น ตอกย้ำความก้าวหน้าของระบบธนาคารไทยที่อยู่ในระดับแนวหน้าของอาเซียน ซึ่ง ปรีดี ยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หวังว่าปีนี้จะได้เห็นเป็นรูปธรรม

“เรื่อง No Fee ที่มีข่าวว่า ธนาคารจะเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการทำธุรกรรมหน้าเคาน์เตอร์ ความพร้อมจะเกิดขึ้นได้เมื่อพัฒนาดิจิทัลเป็นระบบชำระเงิน แต่ตอนนี้เป็นแค่การโอนเงิน ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ หรือ ปีหน้า”

iNSIGHT : รู้จัก… เพื่อรู้ใจ


Mission Leader >> ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

“Serving You Better with the Power of Data อย่างแรก คือ ลูกค้าใช้บริการได้สะดวก ง่ายดาย ทุกที่ทุกเวลา และด้วยพลังของ Data ลูกค้าจะได้รับบริการที่ถูกออกแบบมาเสมือนจัดไว้ให้เฉพาะแต่ละคน ตอบโจทย์ทั้งส่วนบุคคลและธุรกิจ และจะเปลี่ยนไปตลอดเวลา

นอกจากนี้ มีคนเป็นจำนวนมาก ไม่มีโอกาสใช้บริการทางการเงิน แต่พลังของข้อมูลจะทำให้ทุกคนเข้าถึงบริการการเงิน และด้วยพลังของข้อมูล และเทคโนโลยีทำให้ธนาคารตัดสินใจได้เร็วขึ้น เช่น การอนุมัติเงินกู้ได้เร็วขึ้น ทำให้ธนาคารมีต้นทุนต่ำลง ราคาที่จะคิดกับลูกค้าถูกลง

“มันแปลว่า เราทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ซึ่งได้ด้วยพลังของข้อมูล เช่น เรากำลังทำ Face Pay ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการทดลอง”

การนำเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ผสานกับศักยภาพด้าน Data Analytics ช่วยปรับเปลี่ยนรูปแบบบริการให้ชีวิตลูกค้าง่ายกว่าเดิม เช่น เพียงแค่ใบหน้าก็สามารถเปิดบัญชีได้โดยไม่ต้องไปสาขา แค่ใช้เสียงก็สามารถจ่ายเงินได้โดยไม่ต้องพกกระเป๋าเงิน หรือการถอนเงินโดยไม่ต้องใช้บัตรหรือโทรศัพท์มือถือ

ขัตติยา ยังยกตัวอย่าง “พ่อค้าแม่ค้า” ซึ่งเป็นกลุ่ม Unbanked และ Underbanked ที่มีการเดินบัญชีผ่านธนาคารน้อย หรือไม่มีหลักฐานแสดงรายได้ที่สม่ำเสมอทำให้ไม่ได้รับสินเชื่อจากธนาคาร เพราะธนาคารไม่เข้าใจ แต่หากธนาคารมีข้อมูลของลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น รู้จักพฤติกรรมของลูกค้า จะสามารถอนุมัติสินเชื่อ จากที่ไม่เคยกล้าปล่อย

“ทั้งหมดนี้เป็นเป้าหมายที่ทะเยอทะยานมาก ถามว่าธนาคารกสิกรไทยพร้อมหรือไม่ เราพร้อมค่ะ โดยที่ Data เป็นทรัพยากรชิ้นสำคัญของธนาคาร ให้ฝ่ายงานต่างๆ นำไปวิเคราะห์ เรามีโครงสร้างพื้นฐาน คนของเราเก่งแน่นอน วิธีการทำงานของเราจะผสมผสานความฉลาดของ AI บวกกับปัญญาของคน (Augmented Intelligence)

ในที่สุดธนาคารกสิกรไทยก็จะเป็นธนาคารอัจฉริยะ (Cognitive Banking) เป็นธนาคารที่ฉลาด รู้ใจ ตอบความต้องการลูกค้าได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ทั้งยังให้ความสำคัญกับการรักษาความลับข้อมูลของลูกค้า

“ในปี 2562 จะปล่อยสินเชื่อที่เป็น Data-Driven Lending วงเงิน 30,000 ล้านบาท และภายในปี 2563 เราตั้งเป้าหมายจะทำให้ 50% ของรายได้มาจากการนำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ ซึ่งเป้าหมายนี้อาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะปัจจุบันทำได้เพียง 5% แต่ถ้าจะเรียกตัวเองว่าเป็น Data-Driven Bank ต้องมีรายได้ส่วนนี้เกิน 50% ซึ่งการจะไปถึงเป้าหมายที่ค่อนข้างยากนี้เราต้องทำจนเป็นธรรมชาติ ทำเป็นวัฒนธรรม”

นอกจากนี้ จะมีการปรับโครงสร้างเพื่อมุ่งเน้น 3 ด้าน ได้แก่ กลุ่มงานด้านการขายและบริการ ที่มุ่งตอบโจทย์ลูกค้าแบบรายบุคคล (Segment of One) กลุ่มงานยุทธศาสตร์ ที่มุ่งเน้นด้านการนำข้อมูลมาสร้างประโยชน์ให้แก่ธนาคาร และกลุ่มงานด้านผลิตภัณฑ์ ที่มุ่งนำเสนอนวัตกรรมบริการที่ตอบโจทย์ตรงใจ

iGNITE : จุดประกายโอกาส… ก้าวข้ามพรมแดน

Mission Leader >> พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

“วันนี้กสิกรไทยลองทำสิ่งใหม่ เราตัดสินใจร่วมกันว่า จะไม่ได้มองแค่ในประเทศ เราข้ามพรมแดนไปแล้ว เราข้ามความเป็นแบงก์ไปแล้ว ข้ามการแข่งขันแบบปกติไปแล้ว เรามองว่า ทุกคนแข่งขันกันได้ และเป็นพันธมิตรกันได้”

ลองไปรอบๆ จะเห็นกลุ่มประเทศ CCLMVI (ได้แก่ จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพสูง ด้วยขนาดเศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าภายในปี 2573 กลุ่มประเทศ CCLMVI จะมีจีดีพีรวมอยู่ที่ 28.64 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ใหญ่กว่าเศรษฐกิจไทยถึง 41 เท่า และมีประชากรรวมมากกว่าไทยถึง 28 เท่า

“การเดินเข้าไปใน กลุ่มประเทศ CCLMVI ต้องอาศัย “เศรษฐกิจผสานมิติ” (Augmented Economy) คือ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลเทคโนโลยีมีการเชื่อมต่อโลกออนไลน์และออฟไลน์อย่างผสมผสานกลมกลืน ทุกธุรกิจจะอยู่รอดได้ต้องใช้ทักษะความชำนาญที่มีบวกกับการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเข้าถึงลูกค้าให้ได้มากที่สุด”

นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทยรู้ว่าที่ไหนมีเทคโนโลยี จึงตั้งบริษัท KVision เพื่อแสวงหาเทคโนโลยีและลงทุนในฟินเทค หรือ สตาร์ทอัพ ด้วยเงินลงทุนกว่า 8 พันล้านบาท

KVision ได้จัดตั้ง Innovation Lab ขึ้น ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อิสราเอล จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม เพื่อเฟ้นหา Innovation, Tech Partner, และ Tech Talent ใหม่ๆ เพื่อนำมาสนับสนุนการพัฒนาบริการของธนาคารใน CCLMVI ควบคู่กับแสวงหาเทคโนโลยีที่ช่วยต่อยอดธุรกิจให้ลูกค้าไทยเข้าสู่ตลาดใหม่ที่ไร้พรมแดน

“เรามีความคาดหวังว่า เราจะขยับเข้าไปได้ ไปเป็น partner ในกลุ่มประเทศ CCLMVI และตอบโจทย์ลูกค้าให้ถึงระดับปัจเจกบุคคล เราตั้งเป้าหมายที่ท้ายพอสมควร คือ สร้างการเติบโตรายได้จากธุรกิจในต่างประเทศกว่า 8 เท่า ภายใน 3 ปีข้างหน้า”

iNTEGRATE : รวมพลังเพื่อเติบโต

Mission Leader >> พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

“การ Integrate ของเรา คือ การรวมช่องทางที่ลูกค้าเข้ามาติดต่อกับเรา ทั้งผ่านทาง Online และ Offline ให้มีความรู้สึกว่าเหมือนกันหมด เป็นเรื่องใหญ่มากที่เราพยายามทำ ปีที่ผ่านมายังทำได้ไม่ดีเท่าไร ปีนี้เป็นโจทย์ที่ต้องทำให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังต้อง Integrate กับ partner ด้วย เพื่อทำให้ลูกค้าที่เข้ามาสามารถทำได้ง่ายขึ้น มีประสบการที่ดี”

รวมทั้งยังต้องประสานความร่วมมือระบบของธนาคาร ระหว่าง “หน้าบ้าน” กับ “หลังบ้าน” ให้ดี เพราะต้องยอมรับว่า การห้บริการบางเรื่องยังช้าพอสมควร และการประสานงานระหว่าง ลูกค้ารายใหญ่ กลาง รายย่อย ซึ่งหากทำได้จะทำให้การบริการทำได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ธนาคารจะเดินหน้าธุรกิจเพื่อหารายได้ใหม่ โดยจะเดินหน้าแผนธุรกิจในการสร้างรายได้จากการให้สินเชื่อลูกค้าบุคคลที่มีจำนวนผู้กู้ยืมในตลาดนี้ประมาณ 31.3 ล้านราย ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 7% และตั้งเป้าหมายจะดันส่วนแบ่งตลาดเป็น 16%

โดยการผนึกพันธมิตรแพลตฟอร์มชั้นนำเพื่อไปอยู่ในที่ที่ลูกค้าอยู่ ช่วยให้สามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจลูกค้า วิเคราะห์ความต้องการสินเชื่อและศักยภาพที่จะชำระคืน แล้วส่งข้อเสนอสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อสร้างรายได้ใหม่ชดเชยการลดลงของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย จากการยกเลิกค่าธรรมเนียมผ่านช่องทางดิจิทัลและการชะลอตัวของธุรกิจประกัน

บริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยการนำสินทรัพย์ที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการปรับพอร์ตเพื่อสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น การปรับปรุงกระบวนการติดตามหนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอย่างเหมาะสมต่ออัตราการฟื้นตัวของสินเชื่อ

ภายใต้แนวทางที่ธนาคารกสิกรไทยจะเดินหน้าสร้างการเติบโตด้วยการขยายฐานลูกค้า การสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ โดยมีฐานข้อมูลมาช่วยในการลดต้นทุน วิเคราะห์หาบริการที่ตรงใจลูกค้า พร้อมการบูรณาการทุกมิติของทีมงานและการสร้างพันธมิตรกับภายนอก เชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินปี 2562 ที่วางไว้

อัตราการเติบโตของเงินให้สินเชื่อรวม 5-7% โดยสินเชื่อธุรกิจบรรษัทเติบโต 3-5% สินเชื่อเอสเอ็มอีเติบโต 2-4% และสินเชื่อลูกค้ารายย่อยเติบโต 9-12%

“NIM ในปี 2561 อยู่ที่ 3.39% ปีนี้อยู่ในระดับเดียวกัน การขึ้นราคากับลูกค้าน่าจะทำได้ยากพอสมควร เพราะลูกค้ารายใหญ่มีทางเลือกมากมาย ถ้าเผื่อแบงก์ชาติขอให้เราขึ้นดอกเบี้ยกับลูกค้ารายใหญ่ ลูกค้าก็คงไม่ยอม เพราะฉะนั้นคงจะขึ้นยาก ส่วนอีกกลุ่มที่พยายามทำมากขึ้น คือ การปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งจะได้มีรายได้ดอกเบี้ยมากขึ้น”

อัตราการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียม ในปี 2562 คาดว่าจะลดลงประมาณ 5 -7% ซึ่งดีกว่าปี 2561 ที่ปรับลดลง 9.17% เนื่องจากรายได้จากการประกันขายได้ลดลง

อัตราส่วนผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ 3.3-3.5% อัตราการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย -5% ถึง -7% และอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม 3.3-3.7% พร้อมแข่งขันและเติบโตอย่างต่อเนื่อง

“ที่ผ่านมาตั้งสำรองไปเยอะมากแล้ว เราตั้งสำรองเผื่อเพียงพอแล้วสำหรับการรองรับ ISRF9 เพราะฉะนั้นปีนี้ไม่ต้องตั้งเยอะแล้ว”

iNNOVATE : เทคโนโลยีเพื่อธุรกิจและชีวิตที่ดีกว่า

Mission Leader >> เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG)

“นวัตกรรม 3 อย่างที่เป็นวิสัยทัศน์ของธนาคารกสิกรไทย คือ Cognitive Banking, Augmented Intelligence และ การสร้างนวัตกรรมเพื่อคนไทยทุกคน โดยไม่ทิ้งคนไทนคนไหนไว้ข้างหลังเลย”

Cognitive Banking คือการนำข้อมูล และ ความเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง ช่วยให้พนักงานของธนาคารกสิกรไทยเข้าใจลูกค้าได้ดีขึ้น การให้บริการที่ตอบโจทย์ลูกค้า และการเป็น Super App ที่ทำหลายอย่างได้บน Application

Augmented Intelligence เป็นนวัตกรรมที่เหนือกว่า “ปัญญาประดิษฐ์” เพราะใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์บวกกับประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจในธุรกิจ และความต้องการของลูกค้าอย่างลึกซึ้ง

“ธนาคารอัจฉริยะ ที่แท้จริงจึงต้องมาจากการผนวกประสบการณ์ของพนักงานธนาคาร เข้ากับความชาญฉลาดของปัญญาประดิษฐ์ อันนำมาซึ่งแนวคิดด้านนวัตกรรมทางการเงินใหม่ที่เรียกว่า Cognitive Banking”

ขณะเดียวกับยังพัฒนานวัตกรรมสร้างคุณค่าให้แก่ทุกคน ด้วยการนำเทคโนโลยีมาลดต้นทุนเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการของธนาคารได้ และประยุกต์ใช้ข้อมูลเพื่อเพิ่มความสามารถในการให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าที่กว้างขวางขึ้น เกิดการนำเสนอสินเชื่อรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัลให้กับลูกค้ากลุ่ม Underbanked ที่ในอดีตไม่สามารถรับบริการสินเชื่อจากธนาคารได้เพราะขาดคุณสมบัติ เช่น การเดินบัญชีไม่เพียงพอ หรือไม่มีรายได้ที่สม่ำเสมอ

นอกจากนี้ จะผลักดันความสามารถที่ธนาคารจะทำงานร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพ หรือองค์กรธุรกิจชั้นนำ ผ่านนวัตกรรมแห่งความร่วมมือ 3 รูปแบบ ได้แก่

Open Banking API ความสามารถในการต่อเชื่อมบริการของธนาคารให้แก่พันธมิตรโดยสะดวกและปลอดภัย

K PLUS Business Platform การสร้างความหมายใหม่ของ K PLUS จากการเป็นธนาคารบนโทรศัพท์มือถือไปสู่การเป็นแพลตฟอร์มสำหรับธุรกิจที่พันธมิตรสามารถนำไปต่อยอดสร้างบริการแบบดิจิทัล โดยการประยุกต์ใช้คุณสมบัติที่มีอยู่แล้วอย่างเต็มศักยภาพ

Innovation Sandbox คือ สนามทดลองเพื่อรองรับการทดสอบไอเดียทางนวัตกรรมใหม่ ๆ ของพันธมิตรโดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพ ได้อย่างประหยัดและรวดเร็ว

“มีเป้าหมายการพัฒนา KBTG ไปสู่การเป็นองค์กรเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเปลี่ยนแกนเทคโนโลยีของโลกมาสู่ประเทศไทย ภายในปี 2565 โดยเริ่มจากงบลงทุนด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และบุคลากร ในปีนี้กว่า 5,000 ล้านบาท”