“สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด” ฟันธง ปีนี้เงินทุนจะไหลออก

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เชื่อเงินไหลเข้าช่วงต้นปีเป็นแค่สถานการณ์ระยะสั้น แต่ปีนี้จะเห็นเงินทุนไหลออก ทั้งฝั่งหุ้นและตราสารหนี้ คาดจะเริ่มเห็นชัดหลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยกลางปี ถ้าไทยไม่ขึ้นตามจะยิ่งเร่งการไหลออกให้เร็วขึ้น

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ สายงานตลาดเงินและตลาดทุน ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ปี 2562 จะเริ่มเห็นเงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นมากกว่าไหลเข้า หลังจากหลายปีที่ผ่านมามีเงินทุนไหลเข้า โดยเห็นได้จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

“แต่ที่เห็นเงินทุนไหลเข้ามาตั้งแต่ต้นปี เป็นการเข้ามาระยะสั้น หลังจากการเลือกตั้งชัดเจน แต่ระยะยาวเหมือนเงินจะไหลออกมากกว่าไหลเข้า โดยเงินจะไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้น ซึ่งแม้ที่ผ่านมาจะไหลออกไปค่อยข้างมากแล้วแต่ยังมีโอกาสไหลออกไปได้อีก” นายทิม กล่าว

ทั้งนี้ นายทิม ประเมินว่า การไหลออกของเงินทุนจะเริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้นในช่วงกลางปี 2562 หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และหากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นตามจะยิ่งเร่งให้เงินไหลออก เพราะส่วนต่างดอกเบี้ยจะห่างมากกว่า 0.75%

พร้อมกับประเมินว่า ค่าเงินบาทอยู่ในทิศทางอ่อนค่า โดยคาดว่ากลางปีจะอ่อนค่าไปอยู่ที่ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปลายปีอยู่ที่ 33.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในขณะเดียวกัน นายทิม แสดงความกังวลว่า ประเทศไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดน้อยลง เหลือเพียง 5% ของจีดีพี จากปี 2561 เกินดุล 8% ซึ่งลดลงจากหลายที่ผ่านมาที่เกินดุลประมาณ 10%

“ปี 2559 ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 2 หมื่นกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2560 ลดเหลือ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2561 เหลือ 3,000 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะมีการนำเข้ามากขึ้น แปลว่าประเทศไทยมีการป้องกันตัวจากความวุ่นวายน้อยลง ดังนั้นถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อในปีที่ดุลบัญชีเดินสะพัดไม่แข็งแรง ทำให้ไทยต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม และส่วนต่างดอกเบี้ยเริ่มกว้าง 0.75% แล้ว” นายทิม กล่าว

นายทิม คาดว่า ในปีนี้เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง เป็น 3% และกดดันให้ ธปท. ต้องขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งเช่นกันเป็น 2.5% แม้ว่า เงินเฟ้อจะต่ำกว่าเป้าหมายของ ธปท. เพราะเชื่อว่า เงินเฟ้อไม่ใช่ปัจจัยหลักในการตัดสินใจของ ธปท. เห็นได้จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. 2561 ซึ่งเงินเฟ้อต่ำกว่า 1%

นอกจากนี้ นายทิม เชื่อว่า “ธปท.มีโอกาสปรับลดเป้าหมายเงินเฟ้อลง และขออนุญาตจากกระทรวงการคลังต้นปี 2563 เพราะ ธปท.พูดชัดเจนว่า เริ่มคิดจะลดเป้าหมายเงินเฟ้อที่ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 2.5% และกรอบ 1-4% เนื่องจากเงินเฟ้อต่ำเป็นปัญหาทั้งโลก ราคาสินค้าเกษตร ราคาน้ำมันต่ำทั้งโลก และการค้าออนไลน์ทำให้การขึ้นราคาสินค้ายากขึ้น เพราะการเปรียบเทียบราคาทำได้ง่าย รวมทั้งประเทศไทยกำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ ทำให้การใช้จ่ายลดลง”

สำหรับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย ปี 2562 คาดว่าจะเติบโตมากกว่า 4% โดยมีเศรษฐกิจต่างจังหวัดเป็นปัจจัยสนับสนุน เนื่องจากได้ประโยชน์จากกิจกรรมการเลือกตั้งและนโยบายรัฐบาลปัจจุบันที่ช่วยเหลือภาคเกษตรและผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งการเบิกจ่ายโครงการรัฐเข้มข้นมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการเลือกตั้งอย่างใกล้ชิด ซึ่งเชื่อว่าจะผ่านไปได้อย่างสงบ โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตามคือ พรรคไหนจะเป็นผู้ชนะ ใครจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคขนาดกลางจะมีบทบาทมากในการจัดตั้งรัฐบาล

ขณะที่เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะยังเติบโตได้ 3.6% เพราะแม้ว่าจะมีหลายปัจจัยที่อาจจะทำให้การเติบโตชะลอตัวลงอย่างชัดเจน เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน การเมืองยุโรป นโยบายการรักษาสมดุลที่เข้มงวดของจีน และความผันผวนของราคาน้ำมัน แต่เชื่อว่ามีความพยายามที่จะหาทางออกที่ดี

“อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปีนี้ภาวะเศรษฐกิจจะเติบโตได้ดี แต่ไม่มีปัจจัยใหม่ให้นักลงทุนตื่นเต้น เพราะปัจจัยส่วนใหญ่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศรับรู้ไปหมดแล้ว ซึ่งสำหรับตลาดทุนจะต้องรอปัจจัยบวกใหม่ๆ ซึ่งเรายังมั่นใจว่า ประเทศไทยจะเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือในปีนี้ และจะเป็นปัจจัยบวกในระยะสั้น” นายทิม กล่าว