บล.โกลเบล็ก มองตลาดหุ้นไทยได้อานิสงส์ปัจจัยต่างประเทศคลี่คลายทั้งเฟดส่งสัญญาณชะลอขึ้นดอกเบี้ย บวกกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนมีแนวโน้มตกลงกันได้ หนุนดัชนีแกว่งตัวกรอบ 1,565 – 1,605 จุด แนะลงทุนหุ้นปันผลสูง ชู KAMART-SIRI-SNC-ORI-DIF-BTS-GIF-SC-MC-AIT-QH-KKP -TKS ส่วนราคาทองคำเก็งกำไรกรอบ 1,275–1,300 ดอลลาร์/ออนซ์ กังวลเศรษฐกิจจีนชะลอตัว
น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก (GBS) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยได้อานิสงส์จากปัจจัยต่างประเทศมีทิศทางเชิงบวกมากขึ้น โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯมีความระมัดระวังมากขึ้นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จากที่คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯในปีนี้ราว 2 -2.5% ซึ่งมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปี 2561 และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนมีแนวโน้มคลี่คลายลงโดยสหรัฐฯ กำลังพิจารณาผ่อนคลายมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ขณะที่จีนเสนอเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ
ส่วนปัจจัยที่ยังคงกดดันตลาดหุ้นในช่วงนี้ อาทิ การส่งออกของไทยเดือนธันวาคม 2561 ลดลง 1.72% แย่กว่าที่ตลาดคาดว่าจะหดตัว 0.6% ส่วนการส่งออกทั้งปี 61 เติบโต 6.7% พลาดเป้าที่ระดับ 8% รวมถึงจีนเผย GDP ไตรมาส 4/61 ขยายตัว 6.4% ดีกว่าคาดที่ 6.3% ตลอดปี 61 ขยายตัว 6.6% แม้สูงกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลจีนกำหนดที่ 6.5% แต่ต่ำกว่าปี 60 ที่ขยายตัว 6.9% และภาวะชัตดาวน์ของสหรัฐฯยังยืดเยื้อทำสถิติยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ กดดันการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯในช่วงไตรมาสแรก
ขณะที่ปัจจัยที่ยังคงจับตาในสัปดาห์นี้ คือ ความชัดเจนของวันเลือกตั้ง ส่วนในวันที่ 22 ม.ค. กระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอที่ประชุมครม. ควบคุมค่าบริการทางการแพทย์ของรพ.เอกชน และวันที่ 23 ม.ค. ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ยอดการผลิตและส่งออกรถยนต์ รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์
รวมถึง วันที่ 24 ม.ค. ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย อียู และสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นเดือนม.ค. และในวันที่25 ม.ค. ธปท.มีกำหนดชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน
ด้านนายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก จำกัด กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มผันผวน คาดจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,565 – 1,605 จุด แนะลงทุนในหุ้น High Dividend Yield ได้แก่ KAMART, SIRI, SNC, ORI, DIF, BTS,GIF, SC, MC, AIT, QH, KKP, TKS รวมถึงหุ้นที่ได้อานิสงส์จากมาตรการคืน VAT 5% กระตุ้นช็อปช่วงตรุษจีน แนะนำ CPALL, MAKRO, BJC และหุ้นที่ได้ประโยชน์จากขยายเวลาให้ฟรีค่าธรรมเนียม VOA แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 30 เม.ย.62 ได้แก่ AOT, CENTEL, ERW
ด้านแนวทางการลงทุนในทองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า รัฐบาลอังกฤษเข้าใกล้จุดที่ต้องเลือกว่าจะทำอย่างไรต่อไประหว่าง เดินหน้าไปสู่ no deal Brexit หรือ ยอมถอยกลับไปทำประชามติใหม่ หรือ ยอมถอนตัวเพื่อให้คณะทำงานใหม่เข้ามาจัดการแทน แต่นักลงทุนเชื่อมั่นว่าโอกาสที่อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปลดลงแล้ว ซึ่งหมายความว่าความเสี่ยงในภูมิภาคนี้ลดลงด้วย อย่างไรก็ตาม ควรติดตามถ้อยแถลงเกี่ยวกับความคิดเห็นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายในอนาคตของ ECB ในวันที่ 24 ม.ค.ด้วย
ในขณะที่ ฝั่งสหรัฐฯเริ่มมีข่าวดี ทั้งเรื่อง shutdown ที่ฝั่งรีพับลิกันน่าจะผ่อนข้อเสนอลง และฝั่งเดโมแครตอาจปรับท่าทีมายอมประนีประนอมมากขึ้น และเรื่องสงครามการค้ากับจีนที่การเจรจามีความคืบหน้าไปอย่างมากจากการที่ปธน.ทรัมป์ลดท่าทีที่แข็งกร้าวลง ทำให้นักลงทุนคาดหวังถึงความเสี่ยงโดยรวมที่ลดลง แต่ควรติดตามความคิดเห็นและข้อเสนอของผู้เชี่ยวชาญในการประชุม World Economic Forum ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23–26 ม.ค.นี้ประกอบด้วย แม้ว่าสหรัฐฯถอนตัวและระดับผู้นำจากหลายชาติสำคัญต่างงดเข้าร่วมก็ตาม
ส่วนด้านราคาทองคำถูกขายทำกำไร แต่ยังมีแนวโน้มแกว่งในกรอบระหว่าง 1,275–1,300 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากได้การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นปัจจัยหนุน แต่โอกาสจะทะลุขึ้นไปยืนเหนือแนวต้าน 1,300 ดอลลาร์/ออนซ์ มีน้อยลงจากการที่เงินทุนต่างไหลกลับมาเก็งกำไรสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อตอบรับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่ลดลง แต่ราคาทองคำในประเทศยังจะถูกกดดันจากการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งคาดการณ์การดีดกลับไม่พ้นระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ถ้าราคามีแนวโน้มจะแกว่งแบบอ่อนตัว
ทั้งนี้ แนะนำกลยุทธ์โดยอิงราคาในรูปสกุลเงินดอลลาร์ ด้วยการเล่นเก็งกำไรในกรอบ 1,275–1,300 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยเน้นปิดทำกำไรและตัดขาดทุนเร็ว ส่วนการเก็งกำไรทองคำในรูปสกุลเงินบาทให้เน้นตั้งรับเมื่อราคาอ่อนตัว และอาจพิจารณาเข้าซื้อมากขึ้นเมื่อเงินบาทส่งสัญญาณอ่อนตัว