หุ้น 1800

 

ทูตไทยรับมอบของพระราชทาน ร.9 อาทิ กังหันน้ำชัยพัฒนาจำลอง จากอดีตทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย เพื่อเป็นสมบัติของสถานทูตไทย “ฉลองความสัมพันธ์ไทย-เบลเยียมครบ 150 ปี”
เมื่อ 31 มกราคม 2561 บุญธง ก่อมงคลกูล ผู้สื่อข่าวไทยรัฐประจำเบลเยียม รายงาน?ว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมา นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม ได้รับมอบของพระราชทานที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานให้กับ นายปิแอร์ วาเซน อดีตเอกอัครราชทูตเบลเยียม ประจำประเทศไทย อาทิ กังหันน้ำชัยพัฒนาจำลอง เพื่อเป็นสมบัติของสถานทูตไทย
ในงานเลี้ยงอาหารกลางวันที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตไทย เพื่อเตรียมงานฉลองความสัมพันธ์ไทย-เบลเยียม ครบรอบ 150 ปี ในปี 2018 แขกรับเชิญประกอบด้วย ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศสมเด็จพระราชาธิบดีฟิลิปป์แห่งเบลเยียม เลขาธิการสำนักพระราชวังเบลเยียม ประธานกลุ่มความสัมพันธ์ทวิภาคีเบลเยียม-ไทย รัฐสภาเบลเยียม อดีตเอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย กงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำเมืองอันตเวิร์ป รวมทั้งภาคเอกชนเบลเยียมและไทย ที่มีบทบาทสำคัญต่อความสัมพันธ์เบลเยียม-ไทย หรือเรียกได้ว่าเป็น Friends of Thailand
เอกอัครราชทูตมนัสวี กล่าวว่า ปีนี้นับเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้จัดงานการเฉลิมฉลองครบ 150 ปี ของการลงนามสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ (Treaty of Friendship and Commerce between Belgium and Siam) เมื่อปี พ.ศ. 2411 (ค.ศ. 1868) ทั้งนี้ มีสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ ที่เป็นชื่อสี่แยกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยได้ชื่อทางแยกมาจากชื่อบริษัท เอส. เอ. บี. ของฝรั่งชาติเบลเยียม ซึ่งมีสำนักงานอยู่บริเวณนั้น [S. A. B. ย่อมาจาก Societe Anonyme Belge pour le Commerce et l’Industrie au Siam[1] แปลว่า “บริษัทเบลเยียมเพื่อการพาณิชย์และการอุตสาหกรรมในสยาม จำกัด และสะพานมิตรภาพไทย-เบลเยียม ที่เป็นสะพานข้ามถนนพระราม 4 บริเวณแยกถนนวิทยุ ที่ประเทศเบลเยียมมอบให้
ในโอกาสนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ได้ประสานงานกับกรมไปรษณีย์เบลเยียม หรือ Bpost ออกแบบสแตมป์ที่ระลึกในโอกาสฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตเบลเยียม-ไทย ครบ 150 ปี 2 แบบ โดยแบบแรก เป็นภาพธงเบลเยียมกับธงไทยมีเลข 150 และคำว่า Belgium Thailand Friendship 1868-2018 และแบบที่สองเป็นรูปช้างสีขาวกับสิงห์สีเหลือง พร้อมตัวเลข 150 years ตรงกลาง ด้านล่างมีคำว่า Belgium-Thailand Friendship
นอกจากนั้น สถานเอกอัครราชทูตไทย จะจัดงาน Antwerp Thai Festival ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 26-27 พฤษภาคม ณ กรุนด์พลาส เมืองอันต์เวิร์ป และงาน Essence of Thailand ครั้งที่ 11 ในวันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน ที่กรุงบรัสเซลส์ ซึ่งจะมีการแสดงศิลปะวัฒนธรรมไทย การออกร้านอาหารและขนมไทย รวมทั้งผลิตภัณฑ์สินค้าไทยหลากหลายชนิด ที่มีผู้สนใจชาวเบลเยียม ชาวต่างชาติ และชาวไทยมาร่วมงานนับหมื่นคน
ทั้งนี้ ชาวเบลเยียมที่ได้เดินทางเข้ามารับราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 มีหลายคน อาทิ นายกุสตาฟ รอลังค์ จักแมงส์ ที่ได้ถวายงานรับใช้ในการจัดวางระบบกฎหมาย ศาล และการบริหารราชการ รวมทั้งนโยบายทางการทูต ที่ทำให้ไทยรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ และฝรั่งเศส จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาอภัยราชา และ ดร.เออเจน ไรต์เตอร์ ได้ทำหน้าที่แพทย์ประจำพระองค์ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาประเสริฐศักดิ์ดำรง นอกจากนั้น เครื่องบินลำแรกที่บินเข้ามายังประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2454 มาลงที่สนามราชกรีฑาสโมสร ปทุมวัน นายวายเดน บอร์น ชาวเบลเยียม ก็เป็นผู้ขับเข้ามาสาธิตถวายรัชกาลที่ 6
ความสัมพันธ์เบลเยียม-ไทยที่กระชับแน่นในทุกระดับ ตั้งแต่พระประมุขในสมัยสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง กับในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่เคยเป็นพระสหายขณะทรงรับการศึกษาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ด้านการค้าและการลงทุนก็มีบริษัทเบลเยียมเข้ามาลงทุนดำเนินธุรกิจในประเทศไทยจำนวนมาก อาทิ บริษัทโซลเวย์ที่มาร่วมทุนกับบริษัทวีนิไทย บริษัทคาทูนนาซี บริษัทแทรคทาเบล มีคนเบลเยียมทำงานในประเทศไทยและแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบ 4 พันคน ยิ่งกว่านั้น ความสัมพันธ์ระดับประชาชนก็มีความแน่นแฟ้น และอบอุ่นมากอีกด้วย