4 ธนาคารใหญ่ เปิดกำไรปี 61 โตน้อยกว่าเศรษฐกิจ กสิกรไทยเพิ่มขึ้น 12% จากตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง แบงก์กรุงเทพ โต 7% สินเชื่อขยายตัว 4% รายได้ดอกเบี้ย และไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น นักวิเคราะห์ผิดหวังไทยพาณิชย์ หั่นเป้ากำไร-ราคาหุ้นปี 62 กรุงศรีอยุธยา ตั้งเป้าสินเชื่อปีหน้าโต 6-8%
ธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 138,667 ล้านบาทในปี 2561 เติบโต 3.7% จากปี 2560 ถือว่ากำไรขยายตัวน้อยกว่าเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเติบโต 4.1% โดยธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้น มีเพียงธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่ลดลง 7% อย่างไรก็ตาม SCB มีกำไรสุทธิมากที่สุด กว่า 4 หมื่นล้านบาท
ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ในปี 2561 มีกำไรสุทธิ 35,330 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.0% โดยมีรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 121,401 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.9% ซึ่งมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 7.1% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 2.40% และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 9.1% จากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ และกำไรสุทธิจากเงินลงทุน แม้ว่าจะมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิของธนาคาร ยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อน เนื่องจากค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวมเติบโตดี ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 45.4%
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,083,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.0% จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ สินเชื่อลูกค้าบุคคล และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวมลดลงเป็น 3.4% ขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 190.9%
ธนาคารกรุงเทพคาดว่า แนวโน้มในปี 2562 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะชะลอลง อย่างไรก็ดี ความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายของภาครัฐรวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ อีกทั้งยังมีโอกาสจากการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ทำให้ธนาคารยังคงสามารถรักษาผลการดำเนินงานให้เติบโตอย่างมั่นคง ในขณะที่ยังคงแนวทางการบริหารฐานะการเงินด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง ควบคู่กับการรักษาสภาพคล่องและเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่สามารถรองรับการขยายธุรกิจในอนาคตและความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้ธนาคารมีเสถียรภาพทางการเงินที่ยั่งยืน
นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิ 38,459 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,121 ล้านบาท หรือ 12.00% เกิดจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 4,377 ล้านบาท หรือ 4.65% ส่วนใหญ่เกิดจากดอกเบี้ยรับของเงินให้สินเชื่อ และเงินลงทุน โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ ( NIM) อยู่ที่ระดับ 3.39% สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 5,750 ล้านบาท หรือ 9.17% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง
“เฉพาะไตรมาส 4 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 7,033 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนจำนวน 2,711 ล้านบาท หรือ 27.82% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 467 ล้านบาท หรือ 1.86% ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 505 ล้านบาท หรือ 3.87% จากผลิตภัณฑ์ตลาดเงินและตลาดทุน และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง ในขณะที่รายได้สุทธิจากการรับประกันภัยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 3,275 ล้านบาท หรือ 20.21% หลัก ๆ เกิดจากค่าใช้จ่ายทางการตลาด “นายพัชรกล่าว
สำหรับธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มีกำไรสุทธิลดลง 7.1% อยู่ที่ 40,067 ล้านบาท เป็นผลมาจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลง รวมถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลภายใต้โครงการ Transformation อย่างต่อเนื่อง แต่รายได้จากการดำเนินงานยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2562 ธนาคารได้ตั้งเป้าสินเชื่อจะขยายตัว 5-7% ส่วนเอ็นพีแอลอยู่ในระดับไม่เกิน 3% จากสิ้นปี 2561 อยู่ที่ 2.85%
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายแห่งผิดหวังกับผลประกอบการของ SCB ที่ประกาศออกมา จึงได้ปรับลดประมาณการลง โดยบล.หยวนต้า(ประเทศไทย) ปรับประมาณการกำไรปี 2562-2563 ลดลง 8.6% และ 6.1% ตามลำดับ และลดราคาเป้าหมายเป็นหุ้นละ 155 บาทสิ้นปีนี้
ธนาคารกรุงศรีอยุธยาโชว์ความแข็งแกร่ง ปี 2561 กำไรสุทธิโต 6.9% เป็น 24,812 ล้านบาท ทั้งรายได้ดอกเบี้ยและมิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น สินเชื่อโต 10.4% มาจากลูกค้าทุกประเภท
นายโนริอากิ โกโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ในปี 2562 ธนาคารตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อจะอยู่ในช่วง 6-8% คาดว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัว 4.1% และยังคงระมัดระวังปัจจัยภายนอกประเทศท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก