ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรบริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ เป็น “BB+” ผลการดำเนินงานอ่อนแอ ธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้าขาลง แข่งดุเดือด มาร์จิ้นขั้นต้นติดลบ รายได้ส่งออกดีขึ้น บริษัทมีความเสี่ยงเพิ่มจากการดิ้นออกไปทำธุรกิจโรงไฟฟ้า และต่างประเทศ กลยุทธ์บริษัทไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่บ่อย
บริษัททริสเรทติ้งปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) เป็นระดับ “BB+” จากเดิมที่ระดับ “BBB-” สะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องในธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า ตลอดจนแนวโน้มที่น่ากังวลของตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าภายในประเทศ
บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันที่อยู่ในระดับปานกลาง โอกาสของการเติบโตในตลาดส่งออก และกระแสเงินสดรับที่ค่อนข้างแน่นอนจากกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนบางส่วนจากสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า รวมถึงความเสี่ยงจากการดำเนินงานธุรกิจพลังงานแห่งใหม่ที่บริษัทมีแผนจะดำเนินการ และความไม่แน่นอนของกลยุทธ์ของบริษัทจากการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
บริษัทมีผลดำเนินงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ความพยายามที่จะฟื้นตัวยังไม่ประสบผลสำเร็จ ถึงแม้ว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย(อิบิทดา) จะเพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านบาทในปี 2560 เป็น 54 ล้านบาทใน 9 เดือนปี 2561 แต่ยังคงต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ การฟื้นตัวของธุรกิจของบริษัทมีแนวโน้มต้องยืดออกไป
ตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าตกลงอย่างมากตั้งแต่ปี 2559 ส่งผลให้ยอดการผลิตของบริษัทลดลงเช่นกัน ในช่วง 9 เดือนปี 2561 ยอดขายหม้อแปลงไฟฟ้าลดลง 16% เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ กำไรยังคงอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง อัตรากำไรขั้นต้น(มาร์จิ้น)ของหม้อแปลงไฟฟ้าลดต่ำลงกว่าครึ่งมาอยู่ที่ระดับ 7% จากระดับ 13% ในปี 2560 ส่วนยอดขายหม้อแปลงไฟฟ้าในประเทศที่คิดเป็นสัดส่วน 70% ของยอดขายทั้งหมด ได้รับผลกระทบอย่างมากโดยมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ -2% ในช่วง 9 เดือนปี 2561 ซึ่งลดลงจากปี 2560 ที่ระดับ 6% โดยกำไรขั้นต้นในกลุ่มลูกค้ารัฐวิสาหกิจยังคงอ่อนแอ
ทริสเรทติ้งมองแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้าในประเทศลดลงแม้ความต้องการไฟฟ้ามีเพิ่มขึ้น และยังเผชิญกับความล่าช้าของการประมูลงานกับรัฐวิสาหกิจ ในขณะที่ความต้องการจากเอกชนก็อ่อนตัวลงเช่นกัน
ในขณะที่รายได้ในประเทศอ่อนตัวลง รายได้จากตลาดต่างประเทศกลับดีขึ้น ส่งออกเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 243 ล้านบาทในปี 2560 ยอดขายต่างประเทศ 9 เดือนปี 2561 อยู่ที่ 183 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% ลูกค้าหลักมาจากประเทศออสเตรเลียและญี่ปุ่น อัตรากำไรขั้นต้นจากการส่งออกอยู่ระหว่าง 20-30% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ทริสเรทติ้งมองว่าผลประกอบการของบริษัทจะดีขึ้นได้จากการขยายตัวของยอดขายในตลาดต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในประเทศ ทริส จึงไม่ได้คาดหวังการฟึ้นตัวอย่างรวดเร็วในธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า คาดยอดขายจะอยู่ในช่วง 800-950 ล้านบาทต่อปี ( 2561-2564) อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้าจะทยอยดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 12-16% ซึ่งยังคงต่ำมากเมื่อเทียบกับระดับ 23-27% ในช่วงปี 2555-2558
บริษัทได้ซื้อ บริษัท คิว โซลาร์ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของและดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) บริษัทเริ่มรวมงบการเงินของบริษัทคิว โซลาร์ 1 เข้ามาอยู่ในงบการเงินของบริษัทเมื่อปลายเดือนกันยายน 2560
ทริสคาดว่าจะเกิดอิบิทดาที่ประมาณ 120 ล้านบาทต่อปี แต่ยอดขายจะไม่ยั่งยืนในระยะยาว เนื่องจากอิบิทดาจะลดลงอย่างมากหลังจากที่ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) หมดอายุในเดือนธ.ค. 2564 นอกจากนี้ การซื้อกิจการในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริงในบริษัทคิว โซลาร์ 1 ทำให้บริษัทต้องมีการตั้งสำรองการด้อยค่าจำนวน 193 ล้านบาทซึ่งส่งผลให้บริษัทขาดทุนอย่างมากในปี 2560
บริษัทพยายามขยายไปสู่การเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อลดความผันผวนของรายได้ แต่ก็มีโอกาสที่บริษัทจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และการที่บริษัทมีแนวโน้มที่จะไปลงทุนในต่างประเทศยิ่งทำให้มีโอกาสในการต้องเผชิญกับความเสี่ยงของประเทศที่ไปลงทุน ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ และความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้รับซื้อไฟฟ้าด้วยเช่นกัน ตัวอย่างล่าสุด ในช่วงไตรมาส1/ 2561 บริษัทได้ยกเลิกการลงทุนในโครงการมินบู ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศพม่าด้วยขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 220 เมกะวัตต์ เนื่องจากการพัฒนาโครงการที่ล่าช้าส่งผลให้ผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่บริษัทคาด บริษัทเสียเงินจาการยกเลิกการลงทุนในครั้งนี้เป็นจำนวน 20 ล้านบาท และบริษัทศึกษาการลงทุนในโรงไฟฟ้าหลายประเทศ ทริสมองว่าความเป็นไปได้ที่โครงการจะเริ่มดำเนินการมีน้อยมากในระยะเวลาอันใกล้นี้
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นครั้งใหญ่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาทำให้เกิดความกังวลต่อความต่อเนื่องและความแข็งแกร่งในธุรกิจหลักของบริษัทในขณะที่ธุรกิจใหม่ก็มีความเสี่ยงในระดับสูงจากการดำเนินงานที่ไม่เป็นไปตามแผน
อย่างไรก็ตามภาระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากมีการเพิ่มทุน ณ เดือนก.ย.2561 เงินกู้รวม อยู่ที่ 309 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ในระดับต่ำที่ 15% บริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอ โดยเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นมีจำนวน 520 ล้านบาท บริษัทมีเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 460 ล้านบาทซึ่งเป็นยอดคงเหลือจากการเพิ่มทุนที่ผ่านมา
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงิน ลงทุนในโรงงานไฟฟ้ามูลค่าประมาณ 1,200 ล้านบาท รายได้จะเพิ่มขึ้นจาก 1,000 ล้านบาทในปี 2561 ไปจนถึง 1,300 ล้านบาทภายในปี 2564 อัตราอิบิทดาเพิ่มขึ้น 8% ในปี 2561 เป็นระหว่าง 16 -18% จนถึงปี 2564 อิบิทดาจะเพิ่มจาก 80 ล้านบาท เป็น 220 ล้านบาทในช่วงปีประมาณการ การลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าใหม่จะส่งผลต่อสถานะทางการเงินให้แย่ลงในระยะสั้น แต่สามารถก่อให้เกิดรายได้ประจำที่แน่นอนเพื่อชดเชยกำไรที่ลดลงจากธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า