“กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย แถลงเปิดใจครั้งแรก หลังถูกธนาคารกรุงไทย แจ้งข้อกล่าวหากระทำความผิดร้ายแรง กรณีปล่อยกู้ EARTH ยืนยันอนุมัติตามหลักเกณฑ์ พร้อมตั้งข้อสังเกตคณะกรรมการตรวจสอบอาจไม่เป็นกลาง
นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย) กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยส่งหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดร้ายแรง กรณีปล่อยกู้บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ลงวันที่ 25 ธ.ค. 2561
ทั้งนี้ ข้อกล่าวหาระบุว่า “ท่านไม่รักษาผลประโยชน์ของธนาคารและปฏิบัติงานไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต รวมถึงใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริตในการแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายจากธนาคารหรือบุคคลภายนอกเพื่อตนเองหรือเพื่อบุคคลอื่นเป็นเหตุให้ธนาคารได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง”
นายกิตติพันธ์ กล่าวว่า “เป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก” พร้อมกับชี้แจงว่า กระบวนการปล่อยสินเชื่อให้
EARTH เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ รวมทั้งในขณะที่เขาเป็นผู้บริหารสินเชื่อ 2 วงเงิน มูลค่า 4,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสินเชื่อที่ธนาคารกรุงไทยให้ EARTH ทั้งหมด 1.2 หมื่นล้านบาทนั้นยังคงเป็นสินเชื่อปกติ ไม่มีการผิดนัดชำระ จ่ายดอกเบี้ยตรงเวลา และไม่มีการทำผิดเงื่อนไข แต่อย่างใด
“ผมเป็นผู้ดูแลสายงานที่นำเสนอขออนุมัติสินเชื่อให้เอิร์ธ 2 วงเงิน มูลค่าประมาณ 4,500 ล้านบาท เมื่อปี 2558 คำขออนุมัติผ่านการตรวจสอบจากสายงานประเมินความเสี่ยง ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อ และผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร คำขออนุมัติสินเชื่อดังกล่าวทำอย่างถูกต้องทั้งในแง่คุณสมบัติของลูกค้า การประเมินความเสี่ยง การกลั่นกรอง ก่อนเสนอให้คณะกรรมการบริหารพิจารณาขั้นสุดท้าย
“มีการกล่าวอ้างว่า สิ่งที่ผมปฏิบัติไม่ได้เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของธนาคารกรุงไทย หรือ ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพที่ดี ทำให้เกิดการอนุมัติสินเชื่อผิด โอกาสเกิดขึ้นไม่มีหรอกครับ ผมคนเดียวอนุมัติสินเชื่อไม่ได้ ผมไม่มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อใดๆ เลย และไม่ใช้อำนาจในการอนุมัติสินเชื่อใดๆ ทั้งสิ้น” นายกิตติพันธ์ กล่าว
นอกจากนี้ ในช่วงปี 2558 ธนาคารกรุงไทยได้เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ อีก 2 รุ่น วงเงินรวม 5,500 ล้านบาท
ทั้งนี้ สาเหตุทีทำให้สินเชื่อ EARTH เป็นหนี้เสีย เกิดจากกรณีที่ไม่สามารถชำระหนี้ระยะสั้นประมาณ 200 ล้านบาท ในเดือน พ.ค. 2560 แต่เมื่อไม่ได้รับการผ่อนผันทำให้เกิดผลกระทบกับวงเงินอื่น (Cross Default) ทำให้วงเงินอื่นทั้งหมดเปรียบเสมือนว่าผิดนัดชำระหนี้ไปด้วย ทำให้สินเชื่อทั้งหมดกลายเป็น NPL ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดกับธนาคารกรุงไทย จึงไม่ได้เกิดจากสินเชื่อ 2 วงเงิน ที่ นายกิตติพันธ์ มีส่วนร่วมในการนำเสนอเมื่อปี 2558
นายกิตติพันธ์ กล่าวว่า “ผมออกจากธนาคารกรุงไทยประมาณเดือน ต.ค.ปี 2559 และ EARTH เกิดเป็นปัญหาหลังจากผมออก 9 เดือน”
“เรื่อง EARTH เป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องที่ควรตรวจสอบ แต่การตรวจสอบไม่ควรจะตรวจสอบแค่กระบวนการอำนวยสินเชื่อ แต่ควรตรวจสอบการออกหุ้นกู้ด้วย และขณะที่ลูกหนี้มีปัญหาวิธีการปฏิบัติของกรุงไทยเหมือนธรรมเนียมปฏิบัติกับลูกหนี้รายอื่นหรือไม่ เพราะเรื่องพวกนี้เป็นมาตรฐานและมีหลักฐานพิสูจน์ได้ และโดยส่วนตัวอยากจะขอให้มีการตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริง ที่เป็นธรรมที่สุด เพื่อให้คำตอบกับสังคมว่า ความจริงคืออะไร” นายกิตติพันธ์ กล่าว
นอกจากนี้ นายกิตติพันธ์ ยังตั้งข้อสังเกตต่อกระบวนการตรวจสอบด้วยว่า อาจจะไม่เป็นธรรม เพราะการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโดยคณะกรรมการบริหาร ซึ่งถือเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสีย อาจจะเข้าข่าย Conflict of Interest เพราะมีส่วนในการอนุมัติสินเชื่อด้วยนั้นทำให้อาจจะไม่มีความเป็นกลาง
ขณะที่กระบวนการตรวจสอบนั้น มีข้อกล่าวหาที่คลุมเครือ ไม่ได้มีการระบุข้อกล่าวหาที่ชัดเจนว่า ความผิดเกิดขึ้นเมื่อใดและอย่างไร นอกจากนี้ เมื่อทำหนังสือขอข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อจะได้ชี้แจงและแก้ข้อกล่าวหาได้ถูกต้องและครบถ้วน แต่กลับไม่ได้รับการติดต่อใดๆ เลย และไม่ให้โอกาสชี้แจงรายละเอียด
“จนในที่สุดก็มีมติกล่าวหาว่าผมผิด ตลอดเวลาตั้งแต่เชิญไปคุยเมื่อ 11 ส.ค. 2561 จนกระบวนการเสร็จสิ้นลงแล้ว ผมไม่เคยได้มีโอกาสเข้าไปชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างชัดเจน อยากให้ทุกคนช่วยดูว่า กระบวนการนี้ยุติธรรมกับผมหรือไม่”
“ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสเข้าพบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มา 3 ครั้ง โดยได้แจ้งข้อกังวลใจให้ทราบว่า กระบวนการอาจจะไม่เป็นธรรมกับผม แต่ธปท. บอกว่า ยังไม่สามารถทำอะไรได้จนกว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้น ซึ่งตอนนี้เสร็จสิ้นแล้วหวังว่า ธปท. จะให้เป็นธรรม และเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้
“ผมยืนยันว่า ไม่ได้ทำความผิดอะไรเลย แสดงเจตนาอย่างเต็มที่แล้วที่จะชี้แจงข้อกล่าวหาทั้งหมด แต่ไม่ได้รับข้อมูลที่มารายละเอียดมากพอให้ชี้แจงรายละเอียดได้ ผมตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการนี้ต้องการแสวงหาข้อเท็จจริงทั้งหมด หรือ ต้องการแค่แสวงหาคนผิดใช่หรือไม่”
สำหรับผลกระทบต่อการทำงานในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย หลังจากได้รับการกล่าวโทษนั้น นายกิตติพันธ์ กล่าวว่า ได้รายงานและหารือกับทาง CIMB Group ถึงแนวทางที่ดีที่สุด แต่ยังไม่ข้อสรุปว่าควรดำเนินการอย่างไร ซึ่งปัจจุบันผมก็ยังไปทำงานตามปกติ แต่มีความเป็นได้ว่าทางกลุ่มอาจมีการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับ ธปท. อยู่แล้ว
ทั้งนี้ นายกิตติพันธ์ สามารถทำเรื่องอุทธรณ์ผลการตรวจสอบภายใน 60 วัน ซึ่งจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้นต้องหารือกับทีมทนายความส่วนตัวก่อน