“นพพร” อีเมลล์แจงยิบไม่ผิดโอนหุ้นตัวเอง เตรียมร้องศาลขอความเป็นธรรม

“นพพร” อีเมลล์ แจงข้อเท็จจริงถูกฟ้อง 2 คดี ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรณีโอนหุ้น REC ของตัวเอง เตรียมยื่นหนังสือให้ศาลพิจารณาฟ้องโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

นายนพพร ศุภพิพัฒน์ อดีตผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท วินด์เอ็นเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง ( WEH ) ได้ส่งอีเมลล์ ชี้แจงกรณีที่บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีการแจ้งสื่อมวลชน เรื่องที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำสั่งรับฟ้องนพพร ในข้อหาฟอกเงิน ลักทรัพย์นายจ้าง ลงบัญชีเท็จ และปลอมเอกสาร เนื่องจากการแถลงดังกล่าวให้ข้อมูลด้านเดียวและไม่ครบถ้วนทำให้ผู้อ่านไม่สามารถเข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้น ผมขอเรียนชี้แจงดังนี้

นพพร ศุภพิพัฒน์

ในช่วงไตรมาสสองของปี 2558 ผมยังเป็นเจ้าของบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งขณะนั้นมีชื่อว่า บริษัทรีนิวเอเบิล เอนเนอยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (REC) ผมได้ดำเนินการให้บริษัทดังกล่าวโอนหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด จำนวน 350,000 หุ้นไปให้บริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสเมนท์ส จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ REC และเป็นบริษัทที่ผมเป็นเจ้าของเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงเป็นการโอนภายในกลุ่มบริษัทในเครือเดียวกันและเป็นการจัดการทรัพย์สินส่วนตัวของผม โดยใช้เป็นราคาเดียวกับการขายหุ้นวินด์ฯ ที่ REC เคยขายไปล็อตก่อนหน้านั้น จำนวน 1,532,000 หุ้นให้บริษัทไทยโฟกัส อิควิตี้ ฟันด์ ลิมิเต็ด ในราคา 235 บาทต่อหุ้น ผมจึงใช้ 235 บาทต่อหุ้นเป็นราคาซื้อขาย

ต่อมาผมขายบริษัท REC ให้แก่บริษัท KPNEH และ Fullerton ซึ่งเป็นของนาย ณพ ณรงค์เดช แต่ไม่ได้รับชำระเงินค่าหุ้นตามสัญญา ผมจึงดำเนินการให้ผู้ขายได้แก่ บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ตเนอร์ส จำกัด และบริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสต์เมนท์ส จำกัด กับบริษัท ไดนามิค ลิงค์ เวนเจอร์ส จำกัด ฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ซื้อทั้งสอง โดยที่ก่อนจะซื้อ REC นายณพ ก็ทราบดีว่าหุ้นวินด์ 350,000 หุ้นดังกล่าว มิใช่ทรัพย์สินของ REC อีกแล้ว เนื่องจากมีการระบุจำนวนหุ้นวินด์ฯ ที่ REC ถือสุทธิ จำนวน 64.7 ล้านหุ้น ในสัญญาซื้อขายหุ้น

ในเดือนเมษายน 2559 นายณพได้ดำเนินการให้บริษัท REC ซึ่งขณะนั้นเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทเคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด แล้ว ดำเนินการโอนหุ้นวินด์ฯ ที่บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด ถือทั้งหมดจำนวน 64.7 ล้านหุ้น ให้นายเกษม ณรงค์เดช ในราคาเพียง 37 บาทต่อหุ้น (ซึ่งในปีถัดไปนายเกษมก็โอนหุ้นดังกล่าว ต่อไปให้บริษัทโกลเด้นมิวสิค ฮ่องกง) ปลายปี 2559 นายณพได้ดำเนินการให้เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด โดยนายไพร บัวหลวงและนายวรนิต ไชยหาญ ซึ่งเป็นกรรมการขณะนั้น มาฟ้องผมโดยกล่าวหาว่าการที่ผมโอนขายหุ้นวินด์ฯ จำนวน 350,000 หุ้น ในราคา 235 บาท ให้ บริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสเมนท์ จำกัด เป็นการขายหุ้นในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง โดยอ้างว่าราคาที่เหมาะสมคือ 550 บาทต่อหุ้น โดยฟ้องว่าเป็นลักทรัพย์นายจ้าง และการบันทึกราคาซื้อขายที่ 235 บาทเป็นการลงบัญชีเท็จ ฟอกเงิน

การโอนหุ้นระหว่างบริษัทที่มีเจ้าของเดียวกัน ที่ราคาเดียวกับการซื้อขายครั้งก่อนหน้า เป็นนิติกรรมที่เป็นปกติทางธุรกิจ และนิติกรรมนี้ถูกบันทึกในงบการเงินปี 2558 อันเป็นเอกสารสาธารณะ ท่านจึงสามารถตรวจสอบได้ว่าผมเล่าความจริงหรือไม่ อีกทั้งกรรมการที่ลงชื่อในฟ้องก็มาแถลงต่อศาลว่าไม่ได้รู้เห็นข้อเท็จจริงในขณะที่ลงลายมือชื่อท้ายฟ้องตามคำแถลงข้อเท็จจริงของกรรมการคนดังกล่าว (เอกสารแนบ)

ปกติแล้วข้อหาฟอกเงินต้องดำเนินคดีโดยรัฐ เอกชนไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่ใช่ผู้เสียหาย และต้องมีมูลฐานความผิดเฉพาะตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ค้ามนุษย์ หรือ ฉ้อโกงภาษี เช่นหากกรมสรรพากรเห็นว่า การที่นายณพ ดำเนินการให้ REC โอนหุ้นให้นายเกษมในราคาเพียง 37 บาทต่อหุ้น และยังโอนต่อไปยังบริษัทโกลเด้นมิวสิคที่ ฮ่องกง แล้วให้โกลเด้นมิวสิคในฮ่องกง โอนขายหุ้นให้นายประเดชในราคาสูงกว่า 37 บาท อย่างมีนัยยะสำคัญ

ทำให้กรมสรรพากรไม่ได้รับค่าภาษีที่ควรได้ เป็นการฉ้อโกงภาษีแบบเป็นขบวนการ กรมสรรพากรก็สามารถตั้งข้อกล่าวหาฟอกเงินร่วมด้วยได้เป็นต้น ด้วยเหตุผลนี้ผมจึงไม่ได้ฟ้องนายณพ กับพวกในข้อหาฟอกเงิน แต่ฟ้องในข้อหาโกงเจ้าหนี้เพราะการโอนหุ้นวินด์ฯ ทั้งหมดออกไปในราคา 37 บาทต่อหุ้น เป็นการจงใจทำให้เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด ไม่เหลือทรัพย์สินมากพอให้ผู้ซื้อทั้งสองชำระหนี้ได้หากเคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด ถูกขายทอดตลาด

ก่อนหน้าคดีนี้นายณพก็ได้ใช้ให้กรรมการทั้งสองของเคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด ฟ้องผมในข้อหาลักทรัพย์นายจ้างเช่นเดียวกัน โดยฟ้องว่าในระหว่างปี 2552 ถึง 2556 ผมได้เบิกเงินหลายจำนวนจาก REC ทั้งที่ในขณะดังกล่าวบริษัท REC มีผมเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด อีกทั้งได้ลงรายการทั้งหมดในงบการเงินที่ได้รับการรับรองจากผู้สอบบัญชีอย่างเปิดเผย การลักทรัพย์ตัวเองเป็นสิ่งที่เป็นไปได้หรือครับ

ด้วยความที่ผมรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมตามเหตุผลที่เรียนมาข้างต้น จึงเตรียมยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมถึง อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และประธานศาลฎีกา เพื่อให้พิจารณาการมีคำสั่งประทับรับฟ้องในคดี อ.3757/2559 และในคดี อ.3930/2559 ว่าชอบด้วยข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและดำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรมโดยปราศจากอคติใดๆ หรือไม่ ต่อไป

อ่านประกอบ