บิ๊กเอเชียเวลท์หวั่นถูกดอง-ลุยฟ้องก.ล.ต.

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัด 28 มิ.ย. ไต่สวนมูลฟ้อง คดีอดีตบิ๊ก บล.เอเชียเวลท์ “ ชญานี-ชยันต์” ฟ้อง “รพีสุจริตกุล” เลขาธิการก.ล.ต. ม. 157 หวั่นถูกก.ล.ต.ดองยาว

นางชญานี โปขันเงิน และนายชยันต์ อัคราทิตย์ อดีตผู้บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชียเวลท์ เปิดเผยว่า คดีที่นางชญานีและนายชยันต์ ยื่นฟ้องนายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต.) มาตรา 157 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ขณะนี้อยู่ในกระบวนชั้นศาล ซึ่งศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 28 มิถุนายนนี้ เพื่อให้คู่กรณีแสดงหลักฐาน ก่อนที่ศาลจะตัดสินรับฟ้องหรือไม่ และสามารถอุทรณ์คำสั่งศาลได้

นางชญานี กล่าวว่า การยื่นฟ้องนายรพี และสำนักงานก.ล.ต.กรรมการก.ล.ต.และเลขาธิการก.ล.ตงต่อศาลปกครอง มี 2 วัตถุประสงค์ คือ เพื่อปกป้องความบริสุทธิและชื่อเสียงของทั้ง 2 คน และ มุ่งเน้นให้เกิดการตรวจสอบแก่หน่วยงานกำกับดูแลที่อาจให้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขต หรืออาจกลั่นแกล้งรังแก โดยการฟ้องร้องครั้งนี้ต้องการให้เป็นบรรทัดฐานแนวทางกับบุคลากรตลาดทุนในการต่อสู้ความไม่เป็นธรรมที่ได้รับจากหน่วยงานกำกับดูแล

ชญานี โปขันเงิน

มูลเหตุการณ์ฟ้องร้อง เกิดขึ้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2558 ทั้ง 2 คน ได้รับหนังสือจากก.ล.ต.ไปให้ถ้อยคำ กรณีที่ทั้ง 2 คน เป็นตัวกลางซื้อขายบริษัทหลักทรัพย์ บีฟิท เมื่อปี 2553 ก.ล.ต.เห็นว่าการให้ถ้อยคำดังกล่าว ไม่ถูกต้อง อีกทั้งยังมีการดัดแปลงสาระสำคัญที่ทั้ง 2 คนจะใช้โต้แย้งปกป้องตนเอง ในที่สุดวันที่ 31 ก.ค. 2560 ก.ล.ต. มีคำสั่งลงโทษนางชญานีและนายชยันต์ เป็นบุคคลต้องห้ามในตลาดทุนเป็นเวลา 1 ปี

“ มีสัญญาณว่าเดือนสิงหาคมนี้ ก.ล.ต.จะต่อเวลาการพักงานของตนและนายชยันต์ ออกไปอีก แน่นอนว่าการฟ้องมีผลกระทบเกิดขึ้นกับเอเชียเวลท์และครอบครัวทั้ง 2 คน เช่น การตรวจค้นห้องทำงาน การตรวจสอบบริษัทอย่างเข้มงวดทั้งการรับส่งอีเมลล์ส่วนตัวของ 2 คน หรือให้บริษัทฯตอบคำถามว่าดำเนินการใดบ้างกับทั้ง 2 คนนี้ ยอมรับว่าการฟ้องร้องทำให้คณะกรรมการบริษัท ฯ อึดอัด แต่เรา 2 คน ขอเอาตัวและหน้าที่ที่อยู่ในวงการนี้ 31 ปี ต่อสู้ถึงที่สุด เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานต่อไปกับคนในวงการนี้ ไม่ให้เป็นเหยื่อ”

อดีตผู้บริหาร กล่าวว่า ที่ผ่านมา คนในวงการหลักทรัพย์หลาย ๆ คนถูกใช้ดุลพินิจ ตัดสินจากคู่แข่ง ที่มีอำนาจในสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ หรือกรรมการตลาด เป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียเข้ามาตัดสิน รวมทั้งต้องการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบหน่วยงานกำกับทั้ง 2 แห่งด้วย “ นางชญานี กล่าว และว่าจะดำเนินคดีถึงที่สุด แม้ต้องแลกด้วยหน้าที่การงาน รวมทั้งหากต้องออกจากบริษัท เอเชียเวลล์ เพื่อให้ธุรกิจบริษัทเดินหน้าและเข้าตลาดหลักทรัพย์

ด้านนายชยันต์ กล่าวเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานศึกษาและปฏิบัติอย่างแท้จริงกับคำว่าธรรมาภิบาล ไม่เพียงหยิบยกให้ตัวเองดูดี มีราคาเท่านั้น