สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย” ปรับโครงสร้างกิจการเป็นโฮลดิ้ง คัมพานี ขายหุ้นให้นักลงทุนเฉพาะเจาะจง “แบ็คดอร์” เข้าตลาดทางอ้อมเปลี่ยนธุรกิจผลิตและจำหน่ายสายไฟฟ้า มีกระแสเงินสดที่ชัดเจนและมีศักยภาพในการเติบโตสูง ส่วนธุรกิจสื่อ ขายให้เดอะ เบสท์ บุ๊ค หลังธุรกิจสื่อถดถอยผู้บริโภคเปลี่ยนมาเน้นสื่อดิจิทัล คาดแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/62
ราคาหุ้นบริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย (SMM) เปิดตลาดราคาซิลลิ่ง ที่ 1.54 บาท เพิ่มขึ้น 0.35 บาท หรือ 29.41%
บริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย (SMM) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2561 ให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติการปรับโครงสร้างกิจการของบริษัท โดยให้บริษัทฯ รับโอนกิจการทั้งหมดของบริษัท ทีม เอ โฮลดิ้ง 2 จำกัด (TAH2)ซึ่งถือหุ้นโดยนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ,นางสาวณัฐดุลภรณ์ กิติกรพาณิชย์ และนายอภิชาติ ตั้งเอกจิต และโอนธุรกิจเดิมของบริษัท ได้แก่ กิจการหนังสือต่าง ๆ กิจการผลิตจัดรายการทางโทรทัศน์และวิทยุ กิจการซื้อขายสิทธิ์ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม และกิจการสิ่งพิมพ์และอื่น ๆ ในรูปแบบต่าง ๆ ไปยังบริษัทย่อยซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อรอจำหน่ายให้แก่นักลงทุนที่สนใจ ได้แก่ บริษัท เดอะ เบสท์ บุ๊ค จำกัด
บริษัทฯ พิจารณาให้สิ่งตอบแทนการรับโอนกิจการทั้งหมดของ TAH2 เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 2.15 หมื่นล้านหุ้น ที่ราคา 0.60 บาทต่อหุ้น มูลค่า 1.29 หมื่นล้านบาท รวมถึงออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่นักลงทุนจำนวน 1,000 ล้านหุ้น ได้แก่ นายรีวิน เพทายบรรลือ จำนวน 666.66 ล้านหุ้น และนายณัฐพงศ์ ศีตวรรัตน์ จำนวน 333.33 ล้านหุ้น ราคาเสนอขายหุ้นละ 0.60 บาท คิดเป็นเงิน 600 ล้านบาท เพื่อชำระหนี้สิน รวมถึงเพิ่มสภาพคล่องให้บริษัทฯ ตลอดจนผ่อนปรนเงื่อนไจและข้อจำกัดของเจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินเพื่ออำนวยความสะดวกในการจำหน่ายธุรกิจเดิมให้แก่นักลงทุนที่สนใจ ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่าจะดำเนินการทั้งหมดแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/2562
อย่างไรก็ดีการดำเนินการดังกล่าวขึ้นอยู่กับการอนุมัติของก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงจำเป็นต้องให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทอนุมัติโดยใช้เสียงไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 ของผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมและมีสิทธิออกเสียง รวมถึงไม่มีผู้ถือหุ้นเกินกว่า 10% ของผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมและมีสิทธิออกเสียงค้าน
สาเหตุในการปรับโครงสร้าง เนื่องจากธุรกิจเดิมของบริษัทประสบภาวะอุตสาหกรรมถดถอย พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงมุ่งเน้นบริโภคสื่อจากกลุ่มงานดิจิตอลมากขึ้น ดังนั้นบริษัฯ จึงอนุมัติให้รับโอนกิจการทั้งหมดของ TAH2 เพื่อขยายธุรกิจเดิมสู่ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเสาไฟฟ้า ซึ่งธุรกิจมีกระแสเงินสดชัเจนและมัศักยภาพเติบโตสูง โดยการเพิ่มทุนของนักลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) เป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้บริษัทในระยะยาว รวมถึงปลดเงื่อนไขซึ่งเป็นข้อจำกัดของธนาคารและสถาบันการเงิน
นอกจากนั้นการจำหน่ายธุรกิจเดิมออกจะสร้างความแข็งแกร่งของกระแสเงินสดของบริษัทในอนาคตอย่างชัดเจน รวมถึงหยุดธุรกิจที่มีการเติบโตในอนาคตที่ต่ำหรือถดถอย รวมถึงนำเงินสภาพคล่องไปขยายธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูง รวมถึงจำเป็นในอนาคตอย่างธุรกิจสายไฟฟ้าของ PDITL
ปัจจุบัน PDITL มีโรงงานสำหรับการผลิตและจำหน่ายสายเคเบิ้ลไฟฟ้า จำนวน 2 โรง ตั้งอยู่ในจ.สมุทปราการ และจ.ระยอง มีกำลังการผลิตภัณฑ์สายไฟตัวนำทองแดง จำนวน 3 หมื่นตัน/ปี และผลิตภัณฑ์สายไฟตัวนำอลูมิเนียม จำนวน 2 หมื่นตัน/ปี นอกจากนี้ PDITL ยังลงทุน 20% ในบริษัท ไทย คอปเปอร์ ร็อด จำกัด (TCR) ผู้ให้บริการหลอมและรีดสายลวดทองแดง
หลังจากเข้าทำรายการได้มาซึ่งกิจการทั้งหมดของ TAH2 และโอนธุรกิจเดิมไปยังบริษัทย่อยตั้งใหม่ บริษัทจะเสมือนกลายเป็นโฮลดิ้ง คัมพานี โดยมีบริษัทย่อย 2 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัทย่อยมีเดีย (MEDIA) บริษัทซึ่งรับโอนกิจการผลิตจัดรายการทางโทรทัศน์ กิจการซื้อขายสิทธิ์ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม และกิจการสิ่งพิมพ์และอื่น ๆ ในรูปแบบต่าง ๆ ไปยังบริษัทย่อยซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อรอจำหน่ายให้แก่นักลงทุนที่สนใจ ได้แก่ บริษัท เดอะ เบสท์ บุ๊ค จำกัด และ 2.บริษัท เฟ้ลปส์ ดอดจ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเสาไฟฟ้า โดยบริษัทฯ จะถือหุ้น PDITL สัดส่วน 99.9% ซึ่ง PDITL จะเป็นแกนของบริษัทฯ ตามเกณฑ์โฮลดิ้งคัมพานี ซึ่ง PDITL ยังถือหุ้นในบริษัท ไทย คอปเปอร์ ร็อด (TCR) 20% ซึ่งดำเนินธุรกิจหลอมและรีดทองแดง
นอกจากนั้นบริษัทยังถือหุ้นในบริษัทร่วม ได้แก่ บริษัท พีดีทีแอล เทรดดิ้ง ซึ่งดำเนินธุรกิจซื้อมา-ขายไปสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป แต่บริษัทดังกล่าวไม่มีการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับกระบวนการโอนกิจการทั้งหมดจะเกิดขึ้นภายในระยะเวลาประมาณ 180 วัน (ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของเงื่อนไขบังคับก่อนตามสัญญาโอนกิจการทั้งหมด) และภายหลังจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติธุรกรรมการรับโอนกิจการทั้งหมดและธุรกรรมการจัดสรรหุ้นเพื่อตอบแทนการรับโอนกิจการทั้งหมด รวมทั้งอนุมัติเรื่องต่าง ๆ ที่จำเป็น
นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัท มีมติอนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการยื่นคำขอให้พิจารณารับหลักทรัพย์ใหม่กับตลาดหลักทรัพย์ฯ (Relisting) ของบริษัท เพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ รับหุ้นสามัญของบริษัท เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากการเข้าทำธุรกรรมการรับโอนกิจการทั้งหมดดังกล่าวจัดเป็นรายการประเภทที่ 4 หรือการเข้าจดทะเบียนหลักทรัพย์โดยทางอ้อม (Backdoor Listing) โดยอนุมัติแต่งตั้งให้บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน