ส่งออกพ.ย.ลดลง 0.95% แย่กว่าคาด ปีนี้ยืนเป้าโต 8%

พาณิชย์ยังคงเป้าส่งออกทั้งปี 2561 ขยายตัว 8% เผยเดือนพ.ย.ลดลง 0.95% จากความขัดแย้งทางการค้าจีน-สหรัฐ ส่งผลต่อไทยมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าซัพพลายเชนที่ส่งไปจีน หันมาพึ่งพาตลาดในภูมิภาคมากขึ้น ส่วนตลาดหลักยังไปได้ดี สหรัฐขยายตัว 11.9% ตลาดญี่ปุ่นโต 4.3% ส่วนจีนหดตัว 8.9%

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน พ.ย.2561 ภาพรวมการส่งออกลดลง 0.95% มูลค่า 21,237.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากตลาดคาดจะขยายตัว 3.1-3.2% เพราะได้รับผลกระทบหลักของความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯที่ส่งผลต่อไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในสินค้าซัพพลายเชนที่ส่งไปจีน รวมถึงการส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ทั้งเกาหลีและไต้หวัน

ส่วนการนำเข้า พ.ย. 2561 ขยายตัว 14.66% มูลค่า 22,415 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 1,177.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับตัวเลขในช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.2561) การส่งออกขยายตัว 7.29% มูลค่า 232,725 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนการนำเข้าขยายตัว 14.77% มูลค่า 231,343.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1,381.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกในเดือนพ.ย. กลับมาหดตัวที่ 0.95% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานสูงและผลกระทบทางอ้อมจากข้อพิพาททางการค้าที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน

อย่างไรก็ตาม การส่งออกในตลาดสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และ CLMV ขยายตัวสูง โดยเฉพาะ CLMV มีแนวโน้มเติบโตสูงต่อเนื่อง และมีมูลค่าสูงกว่าตลาดจีนและสหรัฐฯ สะท้อนว่าการค้าไทยเน้นพึ่งพาภูมิภาคมากขึ้น

ขณะที่ตลาดหลักยังขยายตัว 5.3% ซึ่งการส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัว 11.9% เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ตลาดญี่ปุ่นขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.3% อย่างไรก็ตามการส่งออกไปสหภาพยุโรปหดตัวที่ 2.0% ขณะที่การส่งออกไปตลาดศักยภาพสูงหดตัวที่ 1.7% หดตัวในเกือบทุกตลาดโดยเฉพาะอาเซียน – 5 เอเชียใต้ ฮ่องกง เกาหลีใต้ และไต้หวันหดตัว 4.3% 7.6% 11.1% 1.8% และ 3.0% ตามลำดับ การส่งออกไปจีนกลับมาหดตัวที่ 8.9% แต่ยังมีตลาดที่ยังขยายตัวได้ดี อาทิ ตลาด CLMV และอินเดีย ขยายตัวที่ 17.6% และ 3.6% ตามลำดับ

ทางด้านตลาดศักยภาพระดับรองหดตัวที่ 10.6% เนื่องจากการส่งออกไปทวีปตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย แอฟริกาและลาตินอเมริกา หดตัว 17.4% 11.8% 9.8% และ 9.7% ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มประเทศ CIS ขยายตัว 6.6% นอกจากนี้การส่งออกไปสวิตเซอร์แลนด์กลับมาขยายตัวต่อเนื่องที่ 52.5% สะท้อนถึงผลบวกของราคาทองคำที่มีต่ออัตราการขยายตัว

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดว่าการส่งออกในปี 2561 จะยังขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 8% เนื่องการส่งออกไป สหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และการส่งออกขยายตัวได้ในระดับสองหลักแสดงให้เห็นความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น, ญี่ปุ่น การส่งออกยังรักษาการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง, ตลาดอาเซียน โดยเฉพาะ CLMV และอินเดีย มีแนวโน้มการขยายตัวสูงและเป็นตลาดศักยภาพที่มีบทบาทสูงต่อภาพรวมการส่งออกไทยในระยะหลัง อย่างไรก็ดี ตลาดยุโรป มีแนวโน้มเผชิญการแข่งขันสูงขึ้นจากการลงนามความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างเวียดนามและสหภาพยุโรป ซึ่งอาจกระทบการส่งออกไทยหลังจากนี้ ทั้งนี้คาดว่าความตกลงจะมีผลบังคับใช้ช่วงต้นปี 62

“กระทรวงพาณิชย์พร้อมผลักดันการส่งออกทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย 8% เล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งออกไปกลุ่มอาเซียน และ CLMV รวมถึงอินเดียมากขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะใช้โอกาสในฐานะประธานอาเซียนในปีหน้า ผลักดันการค้าอาเซียนให้เติบโตไปพร้อมๆกัน เพื่อขยายการค้าในกลุ่มและนอกกลุ่มอาเซียน พร้อมทั้งเตรียมรับมือผลกระทบจากมาตรการปกป้องทางการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน เพื่อให้การส่งออกของไทยเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่องในปี 2562 การพักใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นเวลา 90 วัน จะช่วยให้บรรยากาศของการค้าโลกดีขึ้น และช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้ส่งออกกลับมาได้ในระยะสั้น “น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว