คลังเปิดเงื่อนไขใช้บัตรเดบิตแทนเงินสด รับเงินคืนสูงสุด 1,000 บาท

กระทรวงการคลัง เปิดเงื่อนไข มาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้า และบริการ และการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 1 – 15 ก.พ. 2562 ใช้บัตรเดบิตแทนเงินสด รับเงินคืนสูงสุด 1,000 บาท

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้า และบริการ และการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

มาตรการฯ กำหนดให้จ่ายเงินชดเชยแก่ผู้ชำระเงินที่ใช้บัตรเดบิตของตนเองทุกประเภทที่ออกในประเทศไทยและมีการใช้จ่ายในประเทศไทย (ไม่รวมถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) ในการซื้อสินค้าและบริการที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม (ไม่รวมถึงสินค้าและบริการที่มีภาษีสรรพสามิต) ในช่วงวันที่ 1 – 15 กุมภาพันธ์ 2562 กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้ระบบบันทึกการเก็บเงิน (Point of Sale: POS) ซึ่งสามารถแยกจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ออกจากราคาสินค้าและบริการได้ และจ่ายเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับ 5%

ทั้งนี้ จะจ่ายเงินชดเชยสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาทต่อคน โดยจ่ายเข้าระบบพร้อมเพย์ที่ใช้เลขประจำตัวประชาชน โดยมีเงื่อนไขขั้นตอนการเข้าร่วมมาตรการฯ ดังนี้

1. ประชาชนผู้สนใจรับเงินชดเชยจากมาตรการฯ ต้องลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการฯ ในช่วงเวลา ช่องทาง และตามเงื่อนไขที่กำหนด

2. วันที่ 1 – 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อ 2.1 ชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม (ไม่รวมถึงสินค้าและบริการที่มีภาษีสรรพสามิต) โดยใช้บัตรเดบิตของตนเองกับผู้ประกอบการร้านค้าที่ร่วมมาตรการฯ และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อ 2.2 มีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยจากมาตรการฯ
2.1 คุณสมบัติผู้ที่จะได้รับเงินชดเชย
2.1.1 มีบัตรเดบิตที่ออกในประเทศไทย โดยไม่รวมถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
2.1.2 ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการฯ ในช่วงเวลา ช่องทาง และตามเงื่อนไขที่กำหนด
2.1.3 สมัครใช้บริการพร้อมเพย์ โดยใช้เลขประจำตัวประชาชนเพื่อรับเงินชดเชย
2.2 คุณสมบัติผู้ประกอบการร้านค้า
2.2.1 เป็นผู้ประกอบการร้านค้าจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
2.2.2 มีระบบ POS ที่ช่วยเก็บบันทึกการขาย รายละเอียดสินค้า คำนวณยอดขาย และพิมพ์ใบกำกับภาษี โดยเชื่อมต่อกับเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ทั้งนี้ ผู้ประกอบการร้านค้าที่มีระบบ POS ต้องทำการปรับปรุงและทดสอบ เพื่อให้สามารถส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เช่นเดียวกับระบบที่ใช้ภายใต้มาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยใช้ข้อมูลจากจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ชำระ

3. รัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ที่มีคุณสมบัติผ่านระบบพร้อมเพย์ที่ใช้เลขประจำตัวประชาชน ภายใน พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ทั้งนี้ มาตรการฯ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เงินสด การผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการชำระเงินผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์และการบูรณาการระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ในส่วนการนำส่งรายงานการทำธุรกรรมทางการเงินและการนำส่งข้อมูลภาษีเมื่อมีการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ อันเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานตาม National e-Payment Master Plan