“เอ็นพีพีจี” มองไกลโตขึ้น 3-4 เท่า ปักธงธุรกิจอาหาร ซื้อแบรนด์ดังไทยส่งขายแฟรนไชส์ในจีน 3-4 แบรนด์ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์รอร่วมทุนต่างชาติ แต่งตัวเข้าตลาดหุ้น น้องใหม่“สยามเกตเวย์” มีอนาคตสดใส ส่วน TACC ไม่กล้าตั้งเป้าโต เร่งขนสินค้าไปขายจีน
นายศุภจักร ไตรรัตโนภาส ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็นพีพีจี(ประเทศไทย) หรือ NPP เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปีนี้ คาดว่าจะพลิกมีกำไรสุทธิ หลังจากปีที่ผ่านมามีการตั้งสำรองไปหมดแล้ว และที่สำคัญในปีนี้ยังมีการปรับโมเดลธุรกิจ ทำให้ NPP เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจอาหาร ไม่ใช่บรรจุภัณฑ์เหมือนที่ผ่านมา
สำหรับแนวทางการเพิ่มรายได้จากธุรกิจอาหาร บริษัทจะใช้วิธีซื้อกิจการแบรนด์ร้านอาหารชื่อดังของเมืองไทย และนำไปขายแฟรนไชส์ ในศูนย์อาหารใหญ่ของประเทศจีน และจะนำผลิตภัณฑ์ของไทยเข้าไปขายแฟรนไชส์ในจีนด้วย ตลาดจีนใหญ่มาก ให้ความสนใจอาหารและสินค้าของไทยค่อนข้างมาก การขายแฟรนไชส์ บริษัทได้รับค่าธรรมเนียมแรกเข้าและส่วนแบ่งจากยอดขายในแต่ละปี
ส่วนธุรกิจบรรจุภัณฑ์ กำลังเจรจากับบริษัทแพกเกจจิ้งต่างประเทศ 2 ราย อาจจะควบรวมกัน บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ที่จะแยกออกมาเพื่อนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปีหน้า หรืออาจจะเป็นธุรกิจนอกตลาด คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปลายปีนี้หรือปีหน้า
ล่าสุด บริษัทฯร่วมทุนกับบริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ (TACC) สัดส่วน 51% และ 49% จัดตั้งบริษัทบริษัท สยาม เกตเวย์ เพื่อดำเนินธุรกิจการค้าระหว่างประเทศในไตรมาส3 เป็นต้นไป ส่งสินค้าไทยไปขายในจีนและประเทศที่ใช้ภาษาจีน โดยใช้ความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้ารายใหญ่ในจีน คาดจะมีอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ย 15-20% หรือรายได้ถึง 1,000 ล้านบาท ในปี 2562 นอกจากนั้นยังพร้อมร่วมลงทุนในธุรกิจที่ดีด้วย กรณีสินค้าเป็นที่ต้องการในต่างประเทศ แต่ขาดเงินทุน บริษัทสยาม เกตเวย์เป็นโฮลดิ้ง ได้รับเงินปันผล และในอนาคตสามารถนำเข้าตลาดหุ้นได้
“ถ้าโฟกัสธุรกิจดีๆ เราจะมีโอกาสโต 3-4 เท่าได้ โครงสร้างรายได้ของธุรกิจอาหารเพิ่มเป็น70% ภายใน 1-2 ปี แต่กำไรจะมากกว่าเพราะมีมาร์จิ้นสูงกว่า ปัจจุบันมาจากอาหารและแพกเกจจิ้ง 55% และ 45% ส่วนในปีนี้ตั้งเป้ารายได้เติบโต 15-20% มาที่ 1,300-1,400 ล้านบาท จากจำนวน 1,018 ล้านบาทในปีก่อน ยังไม่รวมแผนการขยายธุรกิจใหม่
ทางด้านนายชัชชวี วัฒนสุข ประธานกรรมการบริหาร บริษัทที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ กล่าวว่า ไม่ได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตจากการร่วมลงทุนในบริษัทสยาม เกตเวย์ เนื่องจากโอกาสทางธุรกิจจะมีมากขึ้น จากการส่งสินค้าของบริษัทและของลูกค้าไทยไปขายยังประเทศจีน
“สินค้าของ TACC ได้รับอย.จากจีน และส่งไปขายอยู่แล้ว ในอนาคตบริษัทสยาม เกตเวย์จะช่วยขายให้มากขึ้น แตกต่างจากที่ผ่านมาบริษัทใช้เวลาดำเนินการนานถึง 2 ปีกว่าจะเข้าไปขายสินค้าในจีนได้”นายชัชชวี กล่าว