ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งท้ายปี 0.25% แตะระดับ 2.25-2.50% ดำเนินนโยบายการเงินเข้าใกล้ระดับปกติ ส่วนทิศทางปี 2562 ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จากระดับ 2.00-2.25% มาที่ระดับ 2.25-2.50% ในการประชุมนโยบายการเงินรอบสุดท้ายของปี 2561 อย่างไรก็ดี เฟดคงจะเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไป หลังจากที่ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ปรับเข้าใกล้ระดับดุลยภาพ ทำให้ในปี 2562 การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยของเฟด คงจะขึ้นอยู่กับการประเมินภาวะเศรษฐกิจและมีความไม่แน่นอนมากขึ้นกว่าในปี 2561 ที่ผ่านมา
“เฟดน่าจะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินรอบสุดท้ายของปีนี้ เพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินเข้าใกล้ระดับปกติมากขึ้น ท่ามกลางการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ขยายตัวสูงกว่าศักยภาพการเติบโตในระยะยาว”ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ
ทั้งนี้ แม้ว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ บางตัวจะเริ่มมีสัญญาณชะลอลง โดยเฉพาะเครื่องชี้ที่อยู่อาศัย หลังจากที่เฟดดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจัยพื้นฐานการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในภาพรวมยังคงสนับสนุนเส้นทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้นของเฟด เห็นได้จากดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ เดือนพฤศจิกายน 2561 ที่อยู่ในระดับ 59.3บ่งชี้ถึงมุมมองเชิงบวกต่อภาคการผลิตของสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า
ขณะที่พัฒนาการตลาดแรงงานสหรัฐฯ แม้ว่าจะมีสัญญาณชะลอลงบ้างแต่โดยรวมการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานยังคงทำได้สูงกว่าวัฎจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบที่ผ่านมา (ค.ศ. 2004-2006) โดยปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาที่ 2.04 แสนตำแหน่ง/เดือน เทียบกับ 1.90 แสนตำแหน่ง/เดือน ขณะที่ระดับการว่างงานยังคงทำสถิติต่ำสุดในรอบ 49 ปีที่ระดับ 3.7% เทียบกับมุมมองอัตราการว่างงานตามธรรมชาติของเฟดที่ระดับ 4.0-4.6%
อย่างไรก็ดี ทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีมากขึ้นในระยะข้างหน้า อาจส่งผลให้เฟดคงจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 หลังจากที่ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดเข้าใกล้ระดับที่เป็นปกติมากขึ้น
การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทยอยหมดลง คงส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่าแรงส่งจากมาตรการปรับลดภาษีเริ่มทยอยหมดลง กอปรกับการครองเสียงข้างมากของพรรคเดโมเครตในสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้การพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของสหรัฐฯ ทำได้ลำบากมากขึ้น ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงด้านการคลังอาจจะกลับมาอีกครั้ง ดังนั้นการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2562 ทยอยชะลอลงสู่ระดับการขยายตัวที่เป็นปกติมากขึ้น ทำให้ความจำเป็นที่เฟดจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องคงมีน้อยลง
สำหรับความไม่แน่นอนในประเด็นข้อพิพาททางการค้ายังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่าความไม่แน่นอนด้านการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ คงส่งผลให้ภาคธุรกิจชะลอการลงทุนเพื่อรอดูความชัดเจนของปัจจัยดังกล่าวอันอาจส่งผลให้การจ้างงานในระยะข้างหน้าชะลอลงได้ นอกจากนี้ ในส่วนของผู้บริโภค หากสหรัฐฯ มีการเก็บภาษีนำเข้าสินค้ารอบใหม่จากจีน ซึ่งจะมีความเกี่ยวข้องกับสินค้าหมวดอุปโภคบริโภคอันอาจจะเป็นปัจจัยกดดันภาคการบริโภคของสหรัฐฯ จากต้นทุนราคาสินค้าที่สูงขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะสร้างความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
การผลัดเปลี่ยนคณะกรรมการนโยบายการเงินในส่วนของเฟดสาขาในปี 2562 อาจส่งผลให้เฟดมีมุมมองระมัดระวังต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินที่มีสิทธิออกเสียงของเฟดในปี 2561 ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มาจากเฟดสาขาที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (hawkish) ในขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินที่มีสิทธิออกเสียงของเฟดในปี 2561 จะมีองค์ประกอบของกรรมการที่ดำเนินนโยบายการเงินสายกลาง (centrist) มากขึ้น ทำให้มีโอกาสมากขึ้นที่เฟดอาจจะเว้นระยะการคงอัตราดอกเบี้ยในจังหวะที่นานขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้ามีความเหมาะสมกับพัฒนาการของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับสูงขึ้น กอปรกับการการผลัดเปลี่ยนคณะกรรมการนโยบายการเงินที่คงจะมีมุมมองระมัดระวังต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น อาจจะส่งผลให้มีโอกาสมากขึ้นที่เฟดอาจจะเว้นระยะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไปจนถึงช่วงกลางปีหน้า เพื่อรอประเมินภาพของพัฒนาการของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะภาพของการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาส 1/2562 รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงด้านการคลังที่อาจจะกลับมาอีกครั้ง ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2562 ยังคงรักษาการเติบโตที่สูงกว่าระดับศักยภาพในระยะยาว เฟดน่าจะสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 1 ครั้งภายในการประชุมเฟดเดือนมิถุนายน และมีโอกาสที่เฟดจะพิจาณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ กลับเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น
“จุดสนใจของการประชุมเฟดในรอบเดือนธันวาคม 2561 นี้ ได้แก่ การเปิดเผยคาดการณ์มุมมองอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจและมุมมองอัตราดอกเบี้ยของเจ้าหน้าที่เฟด รวมทั้งมุมมองของตลาดการเงินต่อทิศทางการส่งสัญญาณอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด”ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ
อย่างไรก็ตามมองว่าเฟดน่าจะเน้นย้ำถึงดำเนินนโยบายการเงินตามพัฒนาการเศรษฐกิจ (data dependent) ขณะที่การเปิดเผยมุมมองเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยครั้งใหม่ อาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ เฟดน่าจะยังมีมุมมองต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระดับค่อนข้างดีต่อเนื่อง ขณะที่มีโอกาสที่เฟดอาจจะปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อลงเล็กน้อย ทำให้โดยรวมแล้วเฟดอาจจะไม่ได้ส่งสัญญาณถึงเส้นทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า (dot-plot) ที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก อย่างไรก็ดี เฟดน่าจะส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินตามพัฒนาการเศรษฐกิจ (data dependent) ที่ชัดเจนขึ้น อันจะเปิดโอกาสให้เฟดสามารถปรับหรือชะลอจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับสภาวะทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
การตอบสนองของตลาดการเงิน ต่อการส่งสัญญาณอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ทั้งนี้ หากตลาดการเงินยังคงมีมุมมองที่แตกต่างต่อระดับอัตราดอกเบี้ยระยะยาวเฟดส่งสัญญาณ โดยตลาดการเงินมองว่าอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ไม่น่าจะขยับขึ้นจากระดับปัจจุบันได้มากนัก จากความกังวลต่อโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ตลอดจนพัฒนาการของเงินเฟ้อ ซึ่งความแตกต่างของมุมมองดังกล่าวทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะเป็นแบบวกกลับ (Inverted Yield Curve) อันจะส่งผลเกิดความผันผวนในตลาดการเงินเนื่องจากตลาดการเงินมักตีความว่าการเกิด Inverted Yield Curve มักจะตามมาด้วยการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 1-2 ปีข้างหน้า