ราคาน้ำมันดิบร่วงกว่า 2% กังวลเศรษฐกิจโลกชะลอ

ราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลงกว่า 2.7% หลังหุ้นสหรัฐถูกเทขาย จากความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ไทยออยล์คาดสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวกรอบ 48 – 53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ รายงานราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงกว่า 2% หลังได้รับแรงกดดันจากตลาดหุ้นที่ปรับลดลงอย่างมาก จากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ของสหรัฐฯ ปรับลดลงกว่า 2% หรือราว 500 จุด หลังยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคการอุตสาหกรรมของจีนปรับตัวลดลงจากที่ผ่านมา ประกอบกับ การเติบโตของเศรษฐกิจยุโรปที่น่าผิดหวัง ส่งผลให้นักลงทุนมีความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มชะลอตัวลง

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปิดวันที่ 14 ธ.ค. 61 อยู่ที่ 51.20 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ลดลง 1.38 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล หรือ -2.7% ส่วนเบรนท์ปิด 60.28 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ลดลง 1.17 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

นอกจากนี้รายงานของสำนักข่าว Reuter สื่อให้เห็นว่าเศรษกิจสหรัฐฯ ในอีก 2 ปีข้างหน้ามีโอกาสที่จะประสบกับภาวะถดถอยกว่าร้อยละ 40 หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ เศรษฐกิจโลกเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอน จากความขัดแย้งระหว่างประเทศ

ด้านประเทศเกาหลีใต้คาดจะกลับมานำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านในช่วงสองเดือนแรกของปีหน้า หลังได้หยุดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านมาติดต่อกันกว่า 3 เดือน เนื่องจากในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้อนุมัติให้เกาหลีใต้และอีก 7ประเทศนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านได้จนถึงเดือน พ.ค. 62

ส่วนปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ รายงานโดย Baker Hughes ปรับลดลง 3 แท่นสู่ระดับต่ำสุดในรอบสองเดือนที่ 873แท่น ซึ่งอาจเป็นการบ่งชี้ว่าปริมาณการผลิตจากสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในอัตราช้าลง

บริษัท ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบ WTI เคลื่อนไหวในกรอบ 48 – 53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 57 – 62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลิบ

สำหรัยปัจจัยที่น่าจับตามอง คือ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ ยังคงอัตราการกลั่นในระดับสูงเพื่อรองรับความต้องการใช้ในช่วงฤดูหนาว ประกอบกับ
ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังตกลงที่จะปรับลดลงกำลังการผลิตลงราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน ม.ค.62เป็นเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน รวมถึงสถานการณ์ความไม่สงบในลิเบียที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น