สถาบัน-โปรแกรมเทรด ซัด PTTEP เละ ขายก๊าซราคาต่ำ ส่อหั่นเป้ากำไร

พลิกล็อค PTTEP เละตุ้มเป๊ะ กินรวบ”บงกช-เอราวัณ” ราคาหุ้นกลับร่วงเฉียด 7% นักลงทุนตกใจ เสนอราคาขายก๊าซต่ำเกินไป นักวิเคราะห์ลับมีด รอปรับลดประมาณกำไรและราคาเป้าหมาย ลาก ปตท. ลงเหวด้วย วันเดียวผู้ถือหุ้นทั้งสองบริษัทเสียหายยับ 78,574 ล้านบาท สถาบันชิงทิ้งก่อน ผสมแรงขายของโปรแกรมเทรด เมื่อแตะระดับทริกเกอร์ กดดัชนีดิ่งเกือบ 20 จุด กองทุนไม่รีบช้อน รอต่ำกว่า 100 บาท ซีอีโอ ปตท.สผ.โต้ ได้ประโยชน์คุ้ม ต้นทุนลดประมาณ 20-25%

ตลาดหุ้นไทยวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ผิดปกติ ปรับตัวลงแรงสวนทางตลาดต่างประเทศ โดยกองทุนในประเทศขายหุ้นมากถึง 5,495 ล้านบาท ฉุดดัชนีตลาดหลักทรัพย์ดิ่ง 19.89 จุด คิดเป็น 1.22% ปิดที่ระดับ 1,614.99 จุด นำโดย บริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ.(PTTEP) ทรุด 9 บาทหรือ 6.72% ปิดที่ 125 บาท ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแคป)หายไปภายในวันเดียวมากกว่า 35,729 ล้านบาท มีผลกระทบต่อหุ้นบริษัทปตท.(PTT) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ PTTEP จำนวน 65.29% ราคาหุ้นลดลง 3% ปิดที่ 47.50 บาท มาร์เก็ตแคปทรุดมากถึง 42,844 ล้านบาท รวมมูลค่าหุ้นทั้งสองบริษัทรูดลงไปทั้งสิ้น 78,574 ล้านบาท

ผู้จัดการกองทุน กล่าวว่า แรงขายหุ้น PTTEP ออกมามาก เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังที่บริษัทเสนอค่าคงที่ราคาก๊าซ (Pc)ต่ำเกินไป เพียง 116 บาท/ล้านบีทียู สำหรับการชนะประมูลแหล่งเอราวัณ ซึ่งอาจกระทบรายได้และกำไรของบริษัท แม้ผู้บริหารจะออกมาระบุว่าการได้แหล่งก๊าซใหม่ จะเพิ่มอำนาจในการต่อรองและช่วยลดต้นทุนลงได้ประมาณ 20-25% ก็ตาม นักลงทุนสถาบันจึงขายหุ้น PTTEP ออกมาบางส่วน และเมื่อแรงขายออกมามากจนกระทบบรรยากาศลงทุน ทำให้นักลงทุนขายหุ้นขนาดใหญ่ตัวอื่นออกมาด้วย จนดัชนีแตะระดับทริกเกอร์ ของนักลงทุนที่ตั้งโปรแกรมเทรดไว้ เกิดราคาไหลลงอย่างรวดเร็ว จนดัชนีหุ้นไทยลงแรงมากกว่าตลาดหุ้นเอเชีย ซึ่งมีปัจจัยบวกจากสงครามการค้าเริ่มคลี่คลายลง

“เราไม่ได้กังวลเรื่อง ปตท.สผ. จะต้องใช้เงินทุนเพิ่มขึ้น เมื่อคว้าชัยชนะประมูลแหล่งเอราวัณเข้ามา เพราะบริษัทมีกระแสเงินสดมากและพร้อมหาโอกาสลงทุนเพิ่มอยู่แล้ว แต่กังวลเรื่องรายได้และกำไรมากกว่า ส่วนจะกลับเข้าไปซื้อหุ้น PTTEP รอบใหม่ หรือไม่ คงต้องรอประเมินราคาที่เหมาะสมก่อน หากลงถึงจุดที่น่าสนใจก็จะเข้าไป สำหรับนักลงทุนที่ยังไม่มีหุ้น ไม่แนะนำเข้าไปซื้อ หากมีแรงขายออกมาต่อเนื่อง อาจทำให้หุ้นกลับลงไปนิวโลว์ของปีนี้ 99.75 บาทก็เป็นไปได้”ผู้จัดการกองทุน กล่าว


นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม เปิดแถลงข่าว ยืนยันว่า บริษัทได้แหล่งก๊าซทั้งสอง จะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศได้ตามที่ยื่นข้อเสนอในการประมูล โดยบริษัทจะมีการลงทุนแท่นขุดเจาะเพิ่ม ในช่วง 5 ปีแรก (ปี2566-2570) ในส่วนของบงกช เงินลงทุนอยู่ที่ 400-450 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และเอราวัณ อยู่ที่ 600-650 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยรวมปตท.สผ.จะต้องลงทุนปีละ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนราคาขายก๊าซที่เสนอขายอยู่ที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู เทียบราคาขายก๊าซตามสัญญาเดิมในแหล่งเอราวัณอยู่ที่ 165 บาทต่อล้านบีทียู และบงกช 214 บาทต่อล้านบีทียู แม้ว่ารายได้จากการขายก๊าซจะลดลง แต่บริษัทสามารถบริหารจัดการได้ดียิ่งขึ้น ลดต้นทุนลง 20-25% จากการเพิ่มอำนาจต่อรองของปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น จาก 2 แหล่งรวมกัน เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การขนส่ง เป็นต้น ส่วนการลงทุนแท่นใหญ่ๆ ได้ลงทุนไว้หมดแล้ว

“ปตท.สผ.มีประสบการณ์และความชำนาญกว่า 20 ปีในฐานะผู้ดำเนินงานในแหล่งบงกช และเป็นผู้ร่วมทุนในโครงการคอนแทร็ค 3 ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของแหล่งเอราวัณ จึงมั่นใจว่าแผนการพัฒนาและการลงทุนที่เราเสนอไป จะสามารถสร้างความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงรักษาระดับการผลิตตามที่กำหนดไว้ในเอกสารเชิญชวนให้ยื่นข้อเสนอของแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณที่ไม่ต่ำกว่า 700 และ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามลำดับ ” นายพงศธร กล่าว

สำหรับการประมูลครั้งนี้ ปตท.สผ. ได้ยื่นประมูลเอง ลงทุน 100% ในแหล่งบงกช ส่วนแหล่งเอราวัณนั้น ปตท.สผ. ประมูลร่วมกับบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) ในสัดส่วนการลงทุน 60% และ 40% ตามลำดับ โดยทั้ง 2 แหล่งมีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติรวมกัน 60 %ของปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติของประเทศ

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จ.หนองคาย วันที่ 13 ธันวาคม 2561 มีมติเห็นชอบให้กลุ่มบริษัท ปตท.สผ.ชนะการประมูลแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช โดยเสนอค่าคงที่ราคาขายก๊าซธรรมชาติ 116 บาทต่อล้านบีทียู ต่ำกว่าราคาก๊าซในแหล่งเอราวัณปัจจุบันราคา 165 บาทต่อล้านบีทียู และในแหล่งบงกชราคา 214.26 บาทต่อล้านบีทียู เทียบเท่าส่วนลดค่าใช้จ่ายราคาก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศ 5.5 แสนล้านบาทในระยะเวลา 10 ปีตามเงื่อนไขการผลิตขั้นต่ำ หรือปีละ 55,000 ล้านบาท โดยให้กระทรวงพลังงานลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) ภายในเดือน ก.พ.2562 ระยะเวลาสัมปทาน 20+10 ปี

ทั้งนี้ หากนำส่วนลดราคาก๊าซที่ได้จากทั้ง 2 แปลง มาใช้ลดค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด จะประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 29 สตางค์ต่อหน่วยอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 10 ปี ปัจจุบันใช้ก๊าซเพียง 58% เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า คาดว่าจะช่วยให้ผู้ใช้ก๊าซทุกรายที่แบ่งตามสัดส่วนการใช้ก๊าซประหยัดไฟฟ้าเฉลี่ย 17 สตางค์ต่อหน่วย จากปัจจุบันค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 3.60 บาทต่อหน่วย

นอกจากนี้ ผู้ชนะประมูลยังเสนอผลประโยชน์ตอบแทนรัฐมากกว่า 50% มากกว่าเงื่อนไขที่กำหนดให้ในเอกสารเชิญชวน โดยแหล่งเอราวัณเสนอผลประโยชน์ให้รัฐ 68% ผู้รับสัญญารับกำไร 32% แหล่งบงกชเสนอให้รัฐ 70% ผู้รับสัญญารับกำไร 30% ส่งผลให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นรวมอีก 1 แสนล้านบาท สร้างประโยชน์ให้ประเทศได้ทั้งสิ้น 6.5 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกันคาดว่าในช่วง 10 ปีแรก จะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้รัฐในรูปค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไร ก่อให้เกิดการจ้างงานคนไทยในสัดส่วน 98% และยังช่วยลดการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ได้ประมาณ 22 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.6 แสนล้านบาท ทำให้เกิดการลงทุนหมุนเวียนในประเทศอีก 1.1 ล้านล้านบาท