ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวกรอบ 32.70-33.00 บาทต่อดอลลาร์ จับตาตลาดเงินโลกผันผวน หลังผลติบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ลดลงหลังคาดเฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย ส่วนดอกเบี้ยนโยบายในประเทศ คาด 19 ธ.ค.นี้ กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.70-33.00 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 32.83 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทย 6.1 พันล้านบาท และซื้อพันธบัตร 1.15 หมื่นล้านบาท ด้านเงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบเงินยูโรและเงินเยน ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวลง หลังตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 5 ปีปรับตัวลดลงต่ำกว่าพันธบัตรอายุ 2 ปี สร้างความกังวลว่าเส้นอัตราผลตอบแทนแบบพลิกกลับ (Inverted Yield Curve) อาจเป็นสัญญาณเตือนภัยว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเผชิญความท้าทายและเข้าสู่ภาวะถดถอยในที่สุด
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่าตลาดจะติดตามกระแสข่าวประเด็น Brexit หลังเกิดความสับสนมากขึ้นเมื่อนายกรัฐมนตรีเมย์ของ สหราชอาณาจักรตัดสินใจเลื่อนการลงมติข้อตกลงการออกจากสหภาพยุโรปในรัฐสภา ซึ่งเราคาดว่าจะสร้างความผันผวนต่อค่าเงินปอนด์ต่อไป ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ อัตราเงินเฟ้อ และยอดค้าปลีกจะอยู่ในความสนใจเช่นกัน หลังการจ้างงานและค่าจ้างเดือนพฤศจิกายนอ่อนแอกว่าคาด แม้ตลาดคาดว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 18-19 ธันวาคม
อย่างไรก็ตามแต่ความไม่แน่นอนสำหรับแนวโน้มระยะถัดไปเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ช่วงปลายวัฎจักรและ สหรัฐฯ อาจจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นได้ สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ว่าเงินดอลลาร์จะมีทิศทางอ่อนค่าลงในปี 2562
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธปท.เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลจากความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นของผู้ประกอบการทั้งในภาคการผลิตและภาคที่มิใช่การผลิต ทั้งนี้ ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี จุดสนใจของนักลงทุนจะอยู่ที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 19 ธันวาคม ซึ่งคาดว่า กนง. จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 1.75% จาก 1.50% โดยเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 ปี เพื่อดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพซึ่งอาจเกิดจากการตรึงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำเป็นเวลานานเกินไป
ขณะที่เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยจากระดับต่ำ อย่างไรก็ดี เรายอมรับว่าความเสี่ยงต่อการเติบโตของไทยจากภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงแนวโน้มตลาดการเงินที่ผันผวนสูงขึ้นยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิดซึ่งสนับสนุนแนวทางการปรับสมดุลนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป