โบรกฯ มองหุ้นวันนี้แกว่งแคบ-กลุ่มพลังงานถ่วงดัชนี

โบรกฯ มองแนวโน้มหุ้นวันนี้ดัชนีแกว่งตัวแคบ ด้านราคาน้ำมันดิบร่วงฉุดหุ้นกลุ่มพลังงาน “ฟินันเซีย ไซรัส” แนะนำหุ้น Domestic Play “โนมูระ พัฒนสิน” ชู GULF, WHA, GUNKUL

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส มองแนวโน้มตลาดวันนี้ คาดว่า SET Index จะแกว่งตัว Sideways Down โดยกลุ่มพลังงานยังคงถ่วงตลาดจากราคาน้ำมันดิบที่ยังปรับลงจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ขณะที่ประเด็นสงครามการค้าที่ดูตึงเครียดขึ้นอีกครั้งรวมถึงการเลื่อนโหวต Brexit อย่างไม่มีกำหนดยังกดดัน Sentiment การลงทุนทั่วโลก อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งที่มีกรอบเวลาชัดเจนมากขึ้นคาดว่าจะยังหนุนหุ้นในกลุ่ม Domestic Play ให้ Outperform และประคองตลาด

กลยุทธ์ ยังเน้นลงทุนหุ้น Domestic และ Defensive//ทำกำไรระยะสั้นบางส่วนที่ซื้อบริเวณ 1,600 จุด

บล.แอพเพิล เวลธ์ แนะนำกลยุทธ์การลงทุน วางจุดสังเกตดัชนี SET ที่ 1,650 จุด กรณียืนไม่ได้ คาดดัชนีมีโอกาสอ่อนตัวลงสู่ระดับแนวรับ 1,620 – 1,635 จุด จากปัจจัยความเสี่ยงต่างประเทศที่ยังสูง จึงให้น้ำหนักเพียงเทรดดิ้งระยะสั้นในหุ้นที่มีสัญญาณบวกทางเทคนิค เช่น CPALL , ROBINS , GLOBAL

บล.โนมูระ พัฒนสิน คาดตลาด “ย่อแล้วดีด” มองแนวต้าน 1,656/1,664 จุด และแนวรับ 1,638/1,633 จุด โดยมีปัจจัยจากการเลื่อนลงมติในรัฐสภาอังกฤษต่อร่าง Brexit กดดันค่าเงินปอนด์และยูโรอ่อนค่า หนุนค่าเงินดอลล่าร์แข็งค่า กดดันสินทรัพย์เสี่ยง แต่ไทยได้แรงหนุนจากความชัดเจนทางการเมือง โดยพรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสส.มีผลวันนี้และจะเปิดรับสมัครสส.14-18 ม.ค.2562 ส่วนสว.จะเริ่มคัดเลือก 16 ธ.ค. ก่อนจะส่งรายชื่อให้คสช.เลือก 2 ม.ค.2562 สะท้อนกระบวนการต่างๆปูทางไปสู่การเลือกตั้ง 24 ก.พ.2562 ตามกำหนด

การลงทุนวันนี้แนะ Theme “Selective Play”: GULF, WHA, GUNKUL

บล.กรุงศรี คาด SET Index จะเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 1635 -1655 จุด โดยให้น้ำหนักในทางลงมากกว่า เนื่องจาก 1)แรงกดดันของปัญหาสงครามการค้ายังยืดเยื้อ หลังจากที่แคนนาดายังไม่ยอมปล่อยตัว CFO หัวเหว่ยตามที่จีนเรียกร้อง ขณะที่ปัญหาสงครามการค้าเริ่มสงผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อประเทศต่างๆโดยเฉพาะจีน ซึ่งล่าสุดยอดส่งออกและนำเข้าเดือน พ.ย.ชะลอตัวมากกว่าที่ตลาดคาด

นอกจากนี้ 2)ราคาน้ำมันดิบยังไม่ฟื้นตัวเนื่องจากตลาดกังวลอุปสงส์ชะลอตัวมากกว่าซัพพลายที่ลดลงจากการลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC และ 3)มีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากฝั่งยุโรป หลังจากอังกฤษประกาศเลื่อนการลงมติเพื่อแยกตัวจากยุโรป (Brexit) อย่างไม่มีกำหนด ทำให้เกิดความไม่แน่นอนและขาดเสถียรภาพต่อเศรษฐกิจในยูโรโซน