โดย….สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาผ่านร่างพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่….) พ.ศ….. เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นว่าด้วยการชำระเงินภาษีผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และการแจ้งรายละเอียดของบุคคล และนิติบุคคล ที่มีความเคลื่อนไหวทางบัญชีรับโอน และฝากเงินเกิน 3,000 ครั้งต่อปี หรือการฝากหรือรับโอนเงิน 400 ครั้ง (เพิ่มจากร่างเดิม 200 ครั้ง) รวมมูลค่า 2 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี เพื่อให้กรมสรรพากรตรวจสอบ และนำไปสู่การเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในวาระ 2 และวาระ 3 หลายคนยังงงเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ในหลายประเด็น อย่างเช่น
• กฎหมายนี้เกี่ยวข้องกับคนที่ทำธุรกิจออนไลน์เท่านั้น ใช่หรือไม่ ขอตอบเลยนะว่า “ไม่ใช่” เพราะจากคำพูดของนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ในฐานะประธาน กมธ. “ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เจาะจงเก็บภาษีเฉพาะผู้ค้าออนไลน์เท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ เพราะจากตัวเลขของกลุ่มที่ใช้แรงงาน อายุ 30 – 39 ปี ที่มี 10.7 ล้านคน พบว่าเป็นผู้มีเงินเดือนประจำ 8.2 ล้านคน ยื่นเสียภาษี 5.2 แสนราย และไม่มีระบบเงินเดือน 2.5 ล้านคน ยื่นเสียภาษี 3.1 แสนคน ขณะที่ส่วนนิติบุคคลที่เสียภาษี มี 6.4 แสนราย และยื่นแบบเสียภาษีเพียง 4.2 แสนราย ทำให้สร้างภาระทางการคลัง ดังนั้น ผมยืนยันว่าร่างกฎหมายนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้เงินสดของประชาชน อีกทั้งผลดีของร่างกฎหมายคือช่วยตรวจสอบ และป้องปรามกลุ่มธุรกิจสีเทาได้ด้วย”
• การนับฝากหรือรับโอนเงิน 3,000 ครั้งต่อปี หมายความว่า ไม่สนใจว่ายอดเงินรับโอนจะเป็นเท่าไหร่ ถ้าถึง 3,000 ครั้งขึ้นไป สถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องรายงานกรมสรรพากร
• การนับฝากหรือรับโอนเงิน 400 ครั้ง (เพิ่มจากร่างเดิม 200 ครั้ง) รวมมูลค่า 2 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี หมายความว่า ถึงแม้ยอดรายการรับโอนไม่ถึง 3,000 ครั้ง แต่ถ้าถึง 400 ครั้งในปีภาษีนั้น และยอดรับโอนรวมมูลค่า 2 ล้านบาทขึ้นไป สถาบันการเงินก็ต้องรายงานกรมสรรพากร
• การนับยอดโอนเข้า
– มองเฉพาะยอดเงินที่โอนเข้าและฝากเงินเท่านั้น ไม่ใช่มองที่ยอดเงินรับเข้าและโอนออกทั้งหมด สรุป คือ ไม่มองเงินไหลออกจากบัญชี จะมองเฉพาะเงินไหลเข้าบัญชีเท่านั้น ตัวอย่างเช่น มีรายการรับโอน 300 ครั้ง รายการโอนออกจากบัญชี 200 ครั้ง ไม่เข้าข่ายต้องถูกรายงาน เพราะยอดรายการโอนรับ ไม่ถึง 400 ครั้ง (แม้ยอดเงินรับโอนจะถึง 2 ล้านบาทก็ตาม)
– การมองบัญชี จะมองยอดรับโอนเป็นรายธนาคาร หรือ นับข้อมูลรับโอนรวมทุกธนาคาร อันนี้กฎหมายยังไม่ออก เลยบอกไม่ได้ แต่ถ้าดูเจตนารมณ์ของกรมสรรพากรคงจะนับรวมทุกบัญชีธนาคาร โดยมองตามเลขบัตรประชาชน คล้ายๆกับการคุ้มครองเงินฝาก ดังนั้น การกระจายบัญชีเป็นหลายๆชื่อ การกระจายบัญชีหลายธนาคาร ก็ไม่น่าจะมีประโยชน์
– การนับรวมมูลค่า 2 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี คือ นับรวมทุกยอดรับโอนในปีภาษี ถ้ามียอดรวมตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปในปีภาษีนั้น สถาบันการเงิน ก็ต้องรายงานข้อมูลให้กรมสรรพากร ไม่ใช่นับเฉพาะรายการยอดรับโอนที่เกิน 2 ล้านบาท
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นี่คือ ข้อสันนิษฐานจากกฎหมายล่าสุดที่ออกมาตอนนี้ ยังไงก็รอกฎหมายจริงออกมาก่อนค่อยตัดสินใจกันอีกทีครับ