ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินเศรษฐกิจ 2562 เป็น “ปีหมูที่ไม่หมู”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเศรษฐกิจไทยปี 2562 เติบโตต่อเนื่อง 4% แต่ชะลอตัวจาก 4.3% ปี 2561 ฟันธงเป็น “ปีหมูที่ไม่หมู” เพราะมีหลายปัจจัยเสี่ยงรออยู่ ทั้งสงครามการค้า วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น กังวลหนี้เสียทำจุดสูงสุดใหม่ มั่นใจ 19 ธ.ค. กนง. – เฟด ขึ้นดอกเบี้ยแน่

ดร.ศิวัสน์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ในปิ 2562 ซึ่งเป็นปีนักษัตร ปีกุน (หมู) แต่เศรษฐกิจไทยคงไม่หมูเท่าใดนัก เนื่องจากสงครามการค้าจะมีผลกระทบกับภาคส่งออกของไทยมากขึ้นกว่าปี 2561 โดยเชื่อว่า การเจรจาระหว่างสหรัฐฯและจีนจะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ในระยะเวลาที่กำหนด และคาดว่าจะมีผลกระทบต่อมูลค่าการค้าของไทยราว 3,100 ล้านดอลลาร์ฯ

นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนในประเด็น Brexit สถานการณ์การคลังของอิตาลี และความผันผวนของค่าเงินในกลุ่มตลาดเกิดใหม่อย่างเช่น ตุรกี อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ซึ่งล้วนแล้วแต่จะทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลกต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะที่หลายธนาคารกลางในกลุ่มประเทศดังกล่าว มีกระสุนที่จำกัดมากขึ้นหลังขึ้นดอกเบี้ยไปมากแล้ว

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการเติบโตที่ประมาณ 4% โดยยังคงเติบโดตต่อเนื่องแต่ชะลอลงจากปี 2561 ที่คาดว่าจะขยายตัว 4.3% เนื่องจากการส่งออกได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ทำให้เติบโต 4.5% เทียบกับ 7.7% ในปี 2561

“ต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนมาช่วยเสริม เพื่อให้สามารถชดเชยโมเมนตัมของภาคต่างประเทศที่ผ่อนแรงลงได้ ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ หากเป็นไปอย่างราบรื่นจะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการใช้จ่ายและลงทุนของประเทศ รวมถึงความต่อเนื่องของการผลักดันงบประมาณปี 2563 ซึ่งจะช่วยให้การใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐยังเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญไปจนถึงครึ่งปีหลัง” น.ส.ณัฐพร กล่าว

น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีโอกาสมากขึ้นที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 19 ธ.ค. 2561 ซึ่งเป็นรอบสุดท้ายของปีนี้ เช่นเดียวกับเฟดที่ประชุมวันเดียวกัน หลังมีการส่งสัญญาณจาก ธปท.อย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้

ในปี 2562 กนง.ยังมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีก แต่น่าจะเป็นในช่วงครึ่งปีหลังเมื่อผ่านพ้นช่วงการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม การปรับดอกเบี้ยแบงก์ในช่วงครึ่งปีแรก คงเน้นไปที่อัตราเงินฝากประจำพิเศษ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้านและกู้รถที่มีระยะค่อนข้างยาว ไม่ใช่เป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป เพราะสภาพคล่องยังมีอยู่มาก


ขณะที่ แรงส่งสินเชื่อจะชัดเจนในครึ่งปีหลังมากกว่า แต่ด้วยเศรษฐกิจที่มีแรงส่งลดลง คงทำให้เห็นสินเชื่อปี 2562 ขยายตัวประมาณ 5% ชะลอลงจากร้อยละ 6% ในปี 2561

“สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของระบบธนาคารไทยและต่างชาติ มีโอกาสแตะระดับสูงสุดครั้งใหม่ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2562 และกลับลงมาอยู่ที่ 2.98% ในช่วงสิ้นปี 2562 โดยสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อบ้าน ยังเป็นกลุ่มที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ” น.ส.กาญจนา กล่าว

น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มธุรกิจในปี 2562 กลุ่มค้าปลีกออนไลน์ โรงพยาบาลเอกชน และก่อสร้างภาครัฐ เป็นกลุ่มธุรกิจที่ยังมีอัตราการขยายตัวในเกณฑ์ดี ขณะที่ธุรกิจที่ชะลอตัวในปีหน้า ได้แก่ เกษตร รถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์

“ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2562 จะได้รับผลกระทบจากทั้งมาตรการคุมสินเชื่ออสังหาฯ ของ ธปท.ที่เร่งกิจกรรมการโอนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 ถึงไตรมาสแรกของปี 2562 และการปรับขึ้นดอกเบี้ย จึงทำให้คาดว่ายอดโอนอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จะหดตัว 7.6% ถึง 3.6% จากปี 2561 ที่เติบโจ 14.1% แต่ยอดค้างขายคงไม่เพิ่มขึ้นมาก เพราะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะระมัดระวังการเปิดตัวโครงการใหม่มากขึ้น” น.ส.เกวลิน กล่าว