“ไทยพาณิชย์” ยกระดับใช้ดิจิทัลหนุนเติบโตก้าวกระโดดเสริมทัพ SCB10X

ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศแผน 3 ปี ยกระดับใช้ดิจิทัลและข้อมูลสู่การเติบโตก้าวกระโดด เสริมทัพ SCB 10X สู่เป้าหมายธนาคารแห่งอนาคต มุ่งเน้นการซ่อม เสริมสร้าง วางรากฐานองค์กรให้แข็งแรง เพราะไม่รู้ว่าอนาคตธนาคารจะต้องเผชิญกับอะไรและรูปแบบจะเป็นอย่างไร

อาทิตย์ นันทวิทยา

“แบงก์ที่จะรอดได้ต้องตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุดและจะต้องเข้าไปเป็นตัวแทนปล่อยกู้กับลูกค้าที่มีความต้องการ โดยรูปแบบของการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์จากเดิมที่มีรายได้จากค่าธรรมเนียมก็ค่อยๆ หายไปเหมือนปีนี้ที่แบงก์มีการยกเลิกค่าธรรมเนียม และแบงก์ต้องพึ่งพารายได้มุ่งเน้นรายได้สินเชื่อ โดยเฉพาะที่ไม่มีหลักประกันและรายได้จากค่าธรรมเนียมในการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ให้กับลูกค้า ซึ่งธนาคารมีการลงทุนในเรื่องเทคโนโลยีมา 2-3 ปีแล้ว เกือบ 4 หมื่นล้านบาท ทำให้ระบบมีความพร้อมที่จะให้บริการลูกค้าจำนวนมากและคัดคุณภาพของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น แต่จะต้องเปลี่ยนวิถีขององค์กร พร้อมดิ้นรนที่จะเปลี่ยนองค์กรให้ได้ เพราะถ้าเปลี่ยนไม่ได้หรือไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ก็อาจจะไม่รอด เพราะในอนาคตธนาคารไร้รูปแบบ”นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าว

พร้อมระบุว่า ธนาคารไทยพาณิชย์จะมุ่งเน้นให้บริการลูกค้าสินเชื่อเอสเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการ ซึ่งไม่มีหลักประกันได้ เพราะตั้งหน่วยงานใหม่ สร้างผลิตภัณฑ์เชิงยุทธศาสตร์ผ่านโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ ชื่อ SCB 10X

นายอาทิตย์ กล่าวว่า สิ่งที่แบงก์ทำจะสร้างการปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้นและมีส่วนต่างดอกเบี้ยที่มากขึ้น ขณะเดียวกันลูกค้าก็ได้ดอกเบี้ยที่ลดลง เพราะพิจารณาจากความสามารถในการปล่อยสินเชื่อ ผลประโยชน์ก็จะตกกับลูกค้าและความมั่นคงของธนาคาร นอกจากนี้ธนาคารจะไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ จะมีเพียงการลงทุนปกติปีต่อปี

นายอารักษ์ สุธีวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Financial Officer และ Chief Strategy Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันให้กับเอสเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการ ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจะใช้เวลาเพียง 5 นาที จากเดิมต้องใช้เวลา 3-7 วัน เอกสารยื่นคำขอก็จะเหลือเพียงบัตรประชาชน กรณีเป็นกรรมการของบริษัท เมื่อเทียบการอนุมัติในสมัยก่อนพิจารณาได้หรือไม่ได้ก็จบ แต่ ของใหม่ถ้าไม่ได้ก็จะประเมินความสามารถของลูกค้าและอาจอนุมัติวงเงินให้ลดลงจากที่ยื่นขอ ทำให้ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น

“การปล่อยสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ธรรมชาติจะมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่จะทำให้เอ็นพีแอลโดยรวมของแบงก์มากขึ้นหรือไม่จะต้องพิจารณาว่าจะปล่อยสินเชื่อได้มากน้อยแค่ไหนในปีหน้า จากปัจจุบันเอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.8-2.9% ไม่ให้เพิ่มเกิน 3%” นายอารักษ์ กล่าว

สำหรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อในปี 2562 ตั้งเป้าเติบโต 5-6% ใกล้เคียงกับตลาด ส่วนธุรกิจบริหารความมั่งคั้งตั่งเป้าเพิ่มฐานลูกค้าเวลธ์ 20-25% และเพิ่มจำนวนสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 8-10% โดยการดำเนินงานยังคงให้น้ำหนักในการลงทุน เพื่อสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด