แบงก์ญี่ปุ่นบุกไทยเจาะบจ.ใหญ่ เสนอดอกเบี้ยต่ำกว่าขายหุ้นกู้

โลกธุรกิจช่างไม่ยุติธรรม แบงก์ญี่ปุ่น-ไทยวิ่งเข้าหาบจ.ใหญ่ เสนอดอกเบี้ยพิเศษ ต้นทุนต่ำจนต้องชะลอการขายหุ้นกู้ ส่วนบจ.กลางและเล็ก ดิ้นหนัก หุ้นกู้ถูกเมิน หาเงินได้น้อยกว่าแผนที่วางไว้ ต้องวิ่งเข้าไปใช้บริการแบงก์ ถูกโขกดอกเบี้ยแพง

ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีธนาคารพาณิชย์ไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะธนาคารญี่ปุ่น เสนอสินเชื่อพิเศษ โดยให้เงื่อนไขที่ดีมากกับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทที่มีรายได้ประจำและสม่ำเสมอ กระแสเงินสดค่อนข้างดี เช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้า ที่มีสัญญาขายไฟระยะยาว และมีโรงไฟฟ้าเป็นทรัพย์สิน ทำให้บริษัทต้องพิจารณาที่จะใช้สินเชื่อโครงการลงทุนจากธนาคารญี่ปุ่น แทนการออกหุ้นล็อตใหม่ เพราะนอกจากจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก ยังมองว่าเป็นโอกาสในการกระจายความเสี่ยงเรื่องแหล่งเงินทุน เพิ่มพอร์ตเจ้าหนี้แบงก์ต่างประเทศ แทนที่จะพึ่งพาธนาคารพาณิชย์ในประเทศเพียงอย่างเดียว พร้อมสร้างชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือให้ธนาคารต่างประเทศรู้จักในวงกว้าง

ปัจจุบันธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับติดลบ 0.1% ส่วนธนาคารกลางยุโรป(ECB) คาดใช้ดอกเบี้ย 0% ต่อไป

ก่อนหน้านี้ นางออมสิน ศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ (EA) กล่าวว่า บริษัทมีแผนที่จะยื่นขอสินเชื่อโครงการจากสถาบันการเงิน มูลค่าประมาณ 15,000 ล้านบาท เพราะได้รับข้อเสนออัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าการออกหุ้นกู้ แม้ว่าผู้ถือหุ้นอนุมัติวงเงินในการเสนอขายหุ้นกู้จำนวน 20,000 ล้านบาทแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา EA ออกและเสนอขายหุ้นกู้มูลค่า 8,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3.3% ต่อปี หากขายหุ้นกู้ล็อตนี้อาจจะได้ดอกเบี้ยลดลง เนื่องจากบริษัท ทริสเรตติ้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กร จาก B+ เป็น A-


น.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณว่าบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ชะลอการเสนอขายหุ้นกู้แต่อย่างใด บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ และกลุ่มซีพี ยังคงออกหุ้นกู้อย่างต่อเนื่อง และสามารถขายได้ทั้งหมด ส่งผลให้ยอดรวมนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมีการระดมทุนประมาณ 8 แสนล้านบาท ถือว่าใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม หุ้นกู้ของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเฉพาะที่ไม่มีอันดับเครดิต (เรทติ้ง) ขายยากขึ้น นักลงทุนประเมินความเชื่อมั่นมากกว่าผลตอบแทนที่จะได้รับ เพราะฉะนั้นหุ้นกู้ที่ขายต้องวางหลักประกันเพิ่มขึ้น หรือขายไม่หมด

“บริษัทรายกลางและรายเล็กขายหุ้นกู้ได้ไม่หมด หุ้นกู้ที่ไม่มีเรทติ้ง ให้อัตราดอกเบี้ยสูง 6-7% ต่อปี ก็ยังขายไม่ได้ ทำให้ระดมเงินได้ต่ำกว่าแผนที่วางไว้ บางรายต้องขอใช้สินเชื่อจากแบงก์ ต้องยอมรับดอกเบี้ยที่สูงกว่าการออกหุ้นกู้ บางธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดี MLR ปัจจุบันอยู่ที่ 6-7 % บวกเพิ่มอีก นอกจากนี้ นักลงทุนยังเลือกลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทที่มีอันดับการลงทุนหรืออินเวสเมนท์เกรด คือ ระดับ BBB- เป็นต้นไป”น.ส.อาริยากล่าว

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้น ตามอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศ ส่งผลให้ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล อายุ 5 ปี เพิ่มขึ้น 0.5% และ 10 ปีเพิ่มขึ้น 0.16% เมื่อเปรียบเทียบกับสิ้นปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 2.70% และ 2.32% ตามลำดับ

ในปี 2561 บริษัทจำนวนมากออกหุ้นกู้เพื่อล็อคต้นทุนทางการเงิน โดยเฉพาะบริษัทที่ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในเดือนธ.ค.นี้ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF) เสนอขายหุ้นกู้ไม่มีเรทติ้ง มูลค่า 2,000 ล้านบาท อายุ 3 ปี 6 เดือน อัตราดอกเบี้ย 6% ต่อปี เสนอขาย 3, 4 และ 6 ธ.ค. ขายให้นักลงทุนสถาบัน และหรือรายใหญ่ ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยในระบบ ตลาดคาดว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนธ.ค.นี้ มีโอกาสปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นจากที่ทรงตัวระดับ 1.50% มานาน