TOP เล็งปิดซ่อมโรงกลั่นหน่วยที่ 3 กำลังผลิตตั้ง 60%

ไทยออยล์ ส่งสัญญาณแผ่วปีหน้า ปิดซ่อมโรงกลั่นหน่วยที่ 3 เตรียมมาตรการป้องกันผลกระทบแล้ว ส่วนปีนี้รับกำไรสุทธิต่ำกว่าปี 2560 ที่มีการบันทึกกำไรสต็อกน้ำมันมาก-มาร์จิ้นผลิตภัณฑ์สูง

นายชัชชัย สิริวิชช์ ผู้จัดการแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าบริษัทจะชี้แจงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงแผนการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นหน่วยที่ 3 ซึ่งโรงกลั่นดังกล่าวคิดเป็นหน่วยกลั่นที่มีสัดส่วนการผลิตประมาณ 60% ของการผลิตรวม อย่างไรก็ตามบริษัทได้มีมาตรการป้องกัน เร่งกระบวนการผลิตให้มากกว่าเดิม คาดว่าจะทำให้มีผลกระทบของการปิดซ่อมบำรุงในระดับต่ำ

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2561 คาดกำไรสุทธิมีโอกาสที่จะลดลงจากปีที่ผ่านมามีกำไรสุทธิ 24,856 ล้านบาท หลังจากช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ทำกำไรสุทธิเพียง 14,961 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2560 ถือเป็นปีที่ดีของบริษัท เพราะมีกำไรจากสต็อกน้ำมันจำนวนมาก และผลิตภัณฑ์ของบริษัทก็มีมาร์จิ้นที่สูง

สำหรับแนวโน้มค่าการกลั่น (GRM) ในไตรมาส 4 คาดเฉลี่ยอยูที่ 5-6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และมีโอกาสจะยืนต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 1/2562 สูงกว่าระดับ 5 เหรียญสหรัฐในไตรมาส 3 เนื่องจากไตรมาสสุดท้าย ถือเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้น้ำมันมากขึ้นในฤดูหนาว และรับอานิสงส์การเดินทางที่ส่งผลให้มีการใช้น้ำมันอากาศยาน คาดว่ากำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ในปี 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 7-8 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นผลจากแนวโน้มค่าการกลั่นปรับตัวได้ดีขึ้น

นายชัชชัยกล่าวถึงความคืบหน้าการลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (CFP) มูลค่าลงทุน 4,825 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปีหน้าและจะแล้วเสร็จในปี 2566 จะช่วยเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 275,000 บาร์เรลต่อวัน และช่วยเพิ่มกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA)ปีละ 900 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปัจจุบันที่บริษัทมี EBITDA ประมาณ 900 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

นอกจากนี้บริษัทกำลังจัดหาผู้ที่สนใจลงทุนหน่วยผลิตไฟฟ้า ที่มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 250 เมกะวัตต์ และไอน้ำเพื่อป้อนให้กับกระบวนการผลิตของโครงการ CFP คาดว่าจะได้ข้อสรุป ในช่วงต้นปี 2562

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในปี 2562 บริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 70-75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากปัจจัยพื้นฐานด้านความต้องการบริโภคน้ำมันที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง แต่ต้องจับตาการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ในวันที่ 6 ธ.ค.นี้ หลายฝ่ายคาดว่าจะมีการปรับลดกำลังการผลิต เพื่อให้เกิดความสมดุลของภาวะตลาดราคาน้ำมันดิบ