ขบวนการต่อต้านหุ้นโรงเรียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ถล่มหุ้น SISB ดิ่งลงแรงผิดปกติ สร้างความเข้าใจผิดเรื่องร้องศาลปกครองถอนหุ้นออกจากตลาด ระบุศาลรับเรื่องตามขั้นตอน ใช้เวลาไต่สวน ไม่ด่วนสรุป ด้านก.ล.ต.ออกโรงป้อง ยันเคลียร์ทุกเรื่องก่อนอนุญาต IPO สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีจดหมายยืนยัน ไม่มีข้อห้ามระดมทุนจากประชาชน ตลาดหลักทรัพย์หนุนเข้าตลาดโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูล “รมว.คลัง” เมินเก็บภาษีโรงเรียนเข้าตลาดหุ้น ยันรัฐหนุนการศึกษา หุ้น SISB ร่วง สวนทางพื้นฐานแข็งแรง เป็นโอกาสให้นักลงทุนซื้อเข้าพอร์ต เก็บรายได้สม่ำเสมอระยะยาว
บริษัท เอสไอเอสบี (SISB) โรงเรียนเอกชนแห่งแรก เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) วันที่ 29 พ.ย.2561 ปรากฎว่ามีการซื้อขายผิดปกติ โดยราคาเปิดที่ 5 บาทและมีแรงไล่ซื้อขึ้นไปสูงสุดถึง 5.25 บาท ก่อนจะถูกกระแสข่าวลบเข้ามากระทบ กดดันให้ราคาหุ้นลงไปลึกมากและปิดที่จุดต่ำสุดของวันที่ระดับ 4.36 บาท ร่วงแรง 0.84 บาทคิดเป็น 16.15% จากราคาไอพีโอ 5.20 บาท ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขายกว่า 879 ล้านบาท
สาเหตุที่ราคาหุ้น SISB ปรับตัวลงแรงสวนทางกับปัจจัยพื้นฐาน เนื่องจากมีขบวนการโจมตีการเข้าตลาดหลักทรัพย์ของธุรกิจโรงเรียนเอกชน โดยมีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้สำนักงานคณะกรรมกรารกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระงับการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของ บริษัท เอสไอเอสบี (SISB) ผู้ได้รับใบอนุญาตกลุ่มโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ ทำให้นักลงทุนไม่ทราบข้อเท็จจริงเกิดความตื่นตระหนก และยังมีกระแสเรื่องการยกเว้นภาษีนิติบุคคล ของธุรกิจการศึกษา ทำให้ SISB มีความได้เปรียบบริษัทจดทะเบียนอื่น
“เรื่องการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองใครๆ ก็ยื่นได้ แต่ศาลมีขั้นตอนในการทำงาน คือ รับเรื่องไว้ก่อน หลังจากนั้น มีกระบวนการไต่สวน เพื่อหาข้อเท็จจริง โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาให้ข้อมูลหรือหลักฐาน ต้องใช้เวลาพิจารณาให้รอบด้าน หากเห็นว่ามีเหตุผลหรือมีกระทบถึงจะรับพิจารณา ซึ่งเรื่องนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาและตรวจสอบทางกฎหมายอย่างดีแล้ว สามารถดำเนินการขายหุ้นให้ประชาชนได้ (IPO) จึงอนุญาตให้ SISB เข้าตลาดหลักทรัพย์ ” แหล่งข่าว กล่าว
ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของบริษัท เอสไอเอสบี เป็นเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม และเชื่อว่าคงไม่ได้ผิดในหลักเกณฑ์ ไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถเข้าจดทะเบียนได้
ส่วนกระแสการเรียกร้องให้เก็บภาษีผู้ประกอบการโรงเรียนเหมือนบริษัทอื่นนั้น ต้องเข้าใจว่า การระดมทุนและการเก็บภาษีเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลสนับสนุนและส่งเสริมด้านการศึกษา ดังนั้นไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด การส่งเสริมหรือสนับสนุนยังคงเหมือนเดิม ส่วนการระดมทุน ทำได้ในหลายช่องทาง และที่ผ่านมาสถานศึกษาไม่สามารถกู้ยืมจากสถาบันการเงินได้ เนื่องจากส่วนใหญ่เข้มงวดในการปล่อยกู้ให้โรงเรียน เนื่องจากเวลามีปัญหาไม่สามารถเรียกคืนได้ รวมทั้งยังเกี่ยวข้องกับสังคมด้วย
ทางด้านสำนักงานก.ล.ต.ออกแถลงการณ์วันที่ 29 พ.ย. 2561 ชี้แจงกรณี SISB ตามที่ปรากฏข่าวว่ามีผู้ไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้มีการระงับการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัท เอสไอเอสบี นั้น ก.ล.ต.พร้อมที่จะให้ข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาของศาล
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ขอเรียนว่า ก่อนการพิจารณาอนุญาต IPO ก.ล.ต. ได้มีการหารือและส่งหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลและกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาของโรงเรียนเอกชน (lead regulator) ว่า SISB สามารถดำเนินการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ได้หรือไม่ และในวันที่ 24 ต.ค.2561 สช. มีหนังสือตอบ ก.ล.ต. ว่า ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ไม่มีข้อห้ามหรือข้อจำกัดในการดำเนินการดังกล่าว อีกทั้งในการหารือ สช. ก็มิได้เคยปรากฏว่า สช. มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการที่ SISB จะออกและเสนอขายหลักทรัพย์แต่อย่างใด
ดังนั้น เมื่อ ก.ล.ต. ได้พิจารณาคุณสมบัติและพิจารณาการเปิดเผยข้อมูลของ SISB ตามกฎเกณฑ์ภายใต้ พรบ. หลักทรัพย์ฯ แล้ว พบว่า SISB มีคุณสมบัติตามที่กำหนด จึงไม่มีเหตุที่ ก.ล.ต. จะปฏิเสธคำขอของ SISB ได้ ก.ล.ต. งได้มีคำสั่งอนุญาตไปเมื่อวันที่ 16 พ.ย.2561 และต่อมา SISB ได้เสนอขายหลักทรัพย์เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 26 พ.ย.2561 และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2561
ทั้งนี้ แนวทางในการพิจารณา IPO ของ ก.ล.ต. นั้น จะพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอระดมทุนตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งเน้นความโปร่งใสและดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอต่อผู้ลงทุน ซึ่งในกรณีที่มีข้อสังเกตว่า สถาบันการศึกษาไม่ควรมุ่งหวังผลกำไรเป็นหลักนั้น ก.ล.ต. ได้มีการสอบถามประเด็นดังกล่าว ซึ่ง SISB ได้ชี้แจงและเปิดเผยในหนังสือชี้ชวนว่า SISB มีวัตถุประสงค์หลักที่ต้องการพัฒนาการศึกษาและยกระดับมาตรฐานการศึกษาในประเทศไทยให้ทัดเทียมกับระดับสากล โดยไม่ได้มุ่งแสวงหาผลกำไรสูงสุด และมีการระบุถึงบทบัญญัติของ พรบ. โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ซึ่งกำหนดอำนาจของ สช. ว่า ในกรณีที่เห็นว่าค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นที่โรงเรียนกำหนดมีลักษณะเป็นการแสวงหากำไรเกินควร หรือเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร สช. มีอำนาจสั่งให้ลดลงตามที่เห็นสมควรได้
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)กล่าว กรณีที่มีนักการเมืองยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้สำนักงานก.ล.ต.ระงับการขายหุ้น SISB ในตลาดหลักทรัพย์นั้น คงต้องรอคำวินิจฉัยของศาล และการตัดสินใจของผู้กำกับดูแลเพื่อเป็นข้อมูลใหม่ อย่างไรก็ดี ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการดำเนินตามขั้นตอนตามปกติ
นายภากร มองว่าการที่บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ถือเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนและมากขึ้นด้วย ตามหลักเกณฑ์และระเบียบการเปิดเผยข้อมูลที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดไว้ ซึ่งสิ่งที่ ตลท.จะดำเนินการต่อไปคือการสร้างความเข้าใจให้นักลงทุนอย่างเท่าเทียม
นาย ยิว ฮอค โคว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสไอเอสบี เปิดเผยว่า ราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงต่ำกว่าราคาจอง ไม่ได้กังวล เพราะอาจเกิดจากภาวะตลาด ภาวะเศรษฐกิจ ซึ่ง SISB เป็นหุ้นการศึกษาเป็นหุ้นที่มีอนาคต เพราะรายได้สม่ำเสมอและหลักการดำเนินงานจะใช้การศึกษานำธุรกิจ ไม่ใช่เอาเรื่องธุรกิจนำการศึกษา และโรงเรียนเอกชนนานาชาติที่มีประมาณ 200 แห่ง หาก SISB ไม่มีคุณภาพ ก็จะไม่มีใครเข้ามาเรียนและการกำหนดค่าเทอมก็เป็นอัตรากลางๆ
“เรื่องการศึกษาจะต้องมีคุณภาพและมีความโปร่งใส ทำให้เติบโต ส่วนเรื่องของภาษี หากในอนาคตรัฐจะเก็บก็ขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐ ก็ต้องปฏิบัติตาม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SISB กล่าว
ทั้งนี้ มีกระแสออกมาคัดค้านโรงเรียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งนายกรณ์ จาติกวณิช แสดงความไม่เห็นด้วยเนื่องจากโรงเรียนเอกชนได้รับการยกเว้นภาระการเสียภาษีกำไร (ภาษีนิติบุคคล) ทำให้มีความได้เปรียบบริษัทจดทะเบียนอื่น
นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ บริษัท เอสไอเอสบี เปิดเผยว่า ราคาหุ้นต่ำจอง เกิดจากความไม่เชื่อมั่น ไม่ว่าหุ้นทำธุรกิจอะไรเมื่อมีข่าวในเชิงลบออกมาก็ทำให้เกิดความหวั่นไหว แต่ยังคงเชื่อมั่นในปัจจัยพื้นฐานที่ดีและมีจริยธรรม ก็ต้องใช้เวลาพิสูจน์ โดยยืนยันว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ก็ได้มีการปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ดำเนินการและยืนยันว่าธุรกิจโรงเรียนจำเป็นต้องมีการลงทุนสูง ต้องระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์และใช้กลไกตลาดหลักทรัพย์ในการดำเนินธุรกิจ
“คนก็อาจจะทักท้วงมาก็ต้องฟัง แต่ทุกอย่างดำเนินธุรกิจตามกฎหมายและยังมีโรงเรียนอีกหลายแห่งติดต่อเข้ามา ให้บล.ฟินันเซีย ไซรัส เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน แต่ยังตอบไม่ได้ และยืนยันว่าธุรกิจการศึกษาจำเป็นต้องใช้เงินพื่อพัฒนาและสร้าคุณภาพของนักเรียน”นายสมภพกล่าว