ก.ล.ต. เตือน บลจ.-บล. คิดค่าธรรมเนียมเป็นธรรม ห่วงนักลงทุนได้ไม่คุ้มจ่าย

ก.ล.ต. เตือน บลจ.-บล. คิดค่าธรรมเนียมอย่างเป็นธรรม เปรียบเทียบ “รถตุ๊กตุ๊กไม่ควรคิดค่าบริการเท่าลีมูซีน” ห่วงนักลงทุนจ่ายค่าธรรมเนียมกองทุนรวมสูง แต่ได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า “รพี” ยืนยันไม่มีแนวคิดคุมเพดานค่าธรรมเนียม ชี้เป็นจิตสำนึกของ บลจ. และปล่อยให้สังคมกดดัน

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวในงานสัมมนา Thailand SEC Policy Dialogue 2018: Regulating by Market Forces ว่า ในปัจจุบันยังมี บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) ที่เก็บค่าธรรมเนียมการซื้อ-ขายไม่ค่อยเป็นธรรมต่อลูกค้า และเป็นค่าธรรมเนียมที่ไม่สอดคล้องกับคุณภาพการบริการที่ลูกค้าได้รับ

“ตัวอย่างจากงานวิจัยที่ชัดที่สุด คือ บลจ.คิดค่าธรรมเนียมบริหารจัดการ Active Fund เพื่อบริหารจัดการให้ได้กำไรต่างจากเกณฑ์มาตรฐานมากๆ แต่ที่ผ่านมา Active Fund ให้ผลตอบแทนไม่ต่างจากเกณฑ์มาตรฐาน แต่คิดค่าธรรมเนียมบริหารจัดการเกือบ 3% ขณะที่ Index Fund คิดค่าธรรมเนียมเพียง 0.5% อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่ลูกค้าต้องเข้าใจว่า จ่ายทำไมตั้ง 3% แต่ได้ผลตอบแทนเท่ากับตลาด ไปซื้อ Index Fund ไม่ดีกว่าหรือ” นายรพี กล่าว

นอกจากนี้ เลขาธิการ ก.ล.ต. ยังกล่าวถึงค่าธรรมเนียมการขายกองทุน (Front end fee) ที่ค่อนข้างสูง แต่ลูกค้ากลับได้รับบริการไม่เหมาะสมกับค่าธรรมเนียมที่จ่ายไป

อย่างไรก็ตาม นายรพี กล่าวว่า ก.ล.ต. ไม่ได้มองว่า ค่าธรรมเนียมกองทุนในปัจจุบันสูงเกินไป และไม่ได้มีแนวคิดที่จะเข้าไปควบคุมการคิดค่าธรรมเนียมของกองทุน

“ก.ล.ต. ไม่ได้มองว่า ค่าธรรมเนียมกองทุนในปัจจุบันสูงเกินไป เพราะมีกองทุนหลายกองทุนที่คิดค่าธรรมเนียมสูง แต่สามารถสร้างผลตอบแทนให้ลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง เหมือนไปใช้บริการรถลีมูซีนก็ต้องจ่ายแพง ถ้าขึ้นรถตุ๊กตุ๊กก็จ่ายถูก แต่ไม่ใช่ว่าขึ้นรถตุ๊กตุ๊กแล้วคิดค่าบริการในอัตรารถลีมูซีน ทำอย่างไรให้ลูกค้าเข้าใจว่า ค่าธรรมเนียมนี้เป็นการจ่ายเพื่อให้ได้รับบริการที่เหมาะสม” นายรพี กล่าว

นายรพี กล่าวว่า การคิดค่าธรรมเนียมอย่างเป็นธรรมจะเกิดได้ ต้องมี 2 ส่วนประกอบกัน คือ ผู้ประกอบการต้องกลับมาดูว่าคิดค่าธรรมเนียมเพื่ออะไร ลูกค้าได้รับสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ อีกด้านหนึ่ง คือ การสร้างแรงผลักดันทางสังคม ซึ่งแรงผลักดันทางสังคมจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูล มีคนที่ดึงข้อมูลมาประมวล เพื่อชี้ให้เห็นว่ากองทุนคิดค่าธรรมเนียมอย่างเหมาะสม

“ด้านหนึ่งเป็นจิตสำนึกของผู้ประกอบการ อีกด้านหนึ่งเกิดจาก Market Forces ซึ่งการจะผลักดันได้นักลงทุนต้องมีข้อมูลว่า ได้ประโยชน์อะไรจากการจ่ายค่าธรรมเนียม เหล่านี้เป็นสิ่งที่คนในวงการตลาดทุน ทั้ง ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้ประกอบการ ต้องร่วมมือกันในการตีโจทย์เรื่องนี้ให้สำเร็จให้ได้ และเราพยายามแก้ปัญหานี้อยู่ ซึ่งในปัจจุบันมีเว็บไซต์ บล็อคเกอร์ ที่นำข้อมูลเหล่านี้มาประมวล แต่จะทำให้อย่างไรให้นักลงทุนเข้าถึงข้อมูลนี้อย่างต่อเนื่อง และหันมาสนใจข้อมูลเหล่านี้”

นายรพี กล่าวอีกว่า ก.ล.ต. เชื่อว่าทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดทุน ด้วยการช่วยกันขับเคลื่อนพลังกลไกตลาดหรือ Market Forces เพื่อประโยชน์ในระยะยาวแก่ทุกคน

นอกจากนี้ ในงานสัมมนา Thailand SEC Policy Dialogue 2018: Regulating by Market Forces นำเสนอผลงานวิจัยยอดเยี่ยมประจำปีจากการประกวดงานวิจัย SEC Working Papers Forum 2018 เรื่อง “พฤติกรรมการลงทุนและลักษณะผลตอบแทนของกองทุนรวมหุ้นในประเทศไทย” ซึ่งเป็นผลงานของ ผศ.ดร.คณิสร์ แสงโชติ และ
ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น

งานวิจัยได้พบประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ เช่น

1. เมื่อนำความเสี่ยงเข้าไปปรับกับผลตอบแทนแล้ว กองทุนรวมหุ้นที่มีค่าธรรมเนียมบริหารจัดการสูงมีแนวโน้มที่จะได้ผลตอบแทนน้อยกว่าตลาด และผลการดำเนินงานที่ได้อาจไม่คุ้มค่ากับค่าธรรมเนียม

2. กองทุนรวมหุ้นในไทยส่วนใหญ่ไม่มีลักษณะเชิงรุกในการบริหารจัดการ (Active) และได้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับตลาดโดยรวม จึงมีข้อสังเกตว่า ผู้ถือหน่วยลงทุนอาจได้รับประโยชน์มากกว่าหากลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงกับเกณฑ์มาตรฐาน (Passive)

3. กองทุนรวมหุ้นในไทยเน้นลงทุนในหุ้นที่มีขนาดใหญ่ ราคาตลาดต่อมูลค่าทางบัญชีที่สูง และหุ้นที่มี momentum สูง (หุ้นที่มีผลตอบแทนในอนาคตในทิศทางเดียวกับผลตอบแทนในอดีต) แต่ผลการดำเนินงานของกองทุนไม่ได้สูงเหมือนผลตอบแทนของหุ้นที่กองทุนเข้าซื้อ สะท้อนว่ากองทุนอาจเป็นผู้เข้าซื้อหรือขายจนเป็นการไล่ราคาหุ้นแต่ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่

งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของข้อมูลต่อการตัดสินใจลงทุน ซึ่งค่าธรรมเนียมนับว่าเป็นข้อมูลสำคัญ
เพราะมีผลต่อผลตอบแทนของนักลงทุน

นอกจากนี้ ข้อมูลอื่นๆ เช่น นโยบายการลงทุน การเปรียบเทียบผลการดำเนินงานกองทุน เงื่อนไขการลงทุน และการถือครองหลักทรัพย์ของกองทุนรวมก็เป็นข้อมูลที่สำคัญที่ต้องศึกษา เพื่อให้มั่นใจว่าเหมาะสมกับวัตถุประสงค์และความเสี่ยงที่รับได้ของผู้ลงทุน