THAI ไตรมาส 1/67 รายได้ 4.59 หมื่นลบ. โต 10.7% รับผู้โดยสารฟื้นตัว

HoonSmart.com>> “การบินไทย” (THAI) เปิดงบไตรมาส 1/67 รายได้รวม 45,955 ล้านบาท เติบโต 10.7% รับจำนวนเที่ยวบิน ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ส่วนกำไรสุทธิ 2,410 ล้านบาท วูบ 80.7% เหตุค่าใช้จ่ายสูงขึ้น น้ำมันเพุ่ง บาทอ่อน ขาดทุนค่าเงินและบุ๊กด้อยค่าเครื่องบิน เดินหน้าตามแผนฟื้นฟู ขายเครื่องบิน 3 ลำ ปรับโครงสร้างการบิน รับโอนเครื่องจากไทยสมายล์แอร์เวย์ ให้บริการเส้นทางในประเทศเพิ่ม ชี้สถานการณ์บริษัทดีขึ้นหลังเข้าฟื้นฟู ภายในปี 67 เร่งปรับโครงสร้างให้ส่วนทุนเป็นบวก เพื่อนำหุ้นกลับมาซื้อขายในตลาด

บริษัท การบินไทย (THAI) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 มีกำไรสุทธิ 2,409.55 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.10 บาท ลดลง 80.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 12,513.97 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 5.73 บาท

บริษัทฯและบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวเดียว) จำนวน 45,955 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,448 ล้านบาท หรือ 10.7% แบ่งเป็นรายได้จากค่าโดยสารและค่าน้ำหนักส่วนเกินจำนวน 38,517 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3,539 ล้านบาท หรือ 10.1% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 10.1% คิดเป็นเงินประมาณ 3,500 ล้านบาทและมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 10.1% เนื่องจากในปีนี้บริษัทฯและบริษัทย่อยมีการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินและเส้นทางบินที่ให้บริการ เพื่อรองรับปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ ได้เพิ่มความถี่ไปยังประเทศจีนและเส้นทางบินยอดนิยม อาทิ โอซากา ฮ่องกง สิงคโปร์ ไทเป นอกจากนี้เปิดเส่นทางใหม่บินตรงสู่เมืองอิสตันบูล สาธารณรัฐทูร์เคีย โดยมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 83.5% ใกล้เคียงวดปีก่อน

รายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วย (รวมค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมันและค่าเบี้ยประกันภัย) อยู่ที่ 3.14 บาท ใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีก่อน

ส่วนค่าระวางขนส่งและไปรษณีย์ภัณฑ์มีจำนวน 3,762 ล้านบาท ลดลง 13.8% รายได้กิจการอื่น 2,602 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.8% และมีค่าใช้จ่ายรวม 34,880 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.5%

บริษัทมีกำไจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 11,075 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 1,959 ล้านบาท หรือ 15% และมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน รวมค่าเช่าเครื่องบินที่คำนวณจากการใช้เครื่องบินทีเกิดขึ้นจริง (Power by the Hour) เป็นกำไรจำนวน 14,000 ล้านบาท ใกล้คียงกับปีก่อน

ในส่วนของค่าใช้จ่ายมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 34,880 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 6,407 ล้านบาท SINV 22.5% โดยเพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตและ/เหรือปริมาณการขนส่ง จำนวนเที่ยวบิน จุดบิน และผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น การอ่อนค่าของเงินบาท รวมทั้งอัตราค่าบริการภาคพื้นและราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 11,075 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 1,959 ล้านบาท หรือ 15.0%

ทั้งนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อยรับรู้ต้นทุนทางการเงิน (ซึ่งเป็นการรับรู้ต้นทุนทางการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 : TFRS 9) จำนวน 4,608 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 1,059 ล้านบาท (29.8%) และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว สาเหตุหลักจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องบินและสินทรัพย์สิทธิการใช้อุปกรณ์การบินหมุนเวียน ถึงแม้จะมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับปรุงรายได้บัตรโดยสารที่หมดอายุ และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิ เป็นค่าใช้จ่ายรวม 4,036 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนเป็นรายได้จำนวน 2,987 ล้านบาท ส่งผลให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิจำนวน 2,423 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 10,100 ล้านบาท โดยเป็นกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 2,410 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.10 บาท ลดลงจากปีก่อน 4.63 บาทต่อหุ้น

นอกจากนี้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,059 ล้านบาท หรือ 29.8% สาเหตุหลักเกิดจากการบันทึกดอกเบี้ยสัญญาเช่าดำเนินงานจากการนำมาตรฐานการรรายงานทางการเงินฉบับที่ 16 (TFR16) มาใช้ ในส่วนของเครื่องบินที่รับโอนจากบริษัท ไทยสมายล์แอร์ จำกัดและการรับมอบเครื่องบินเช่าดำเนินงานเพิ่มขึ้น รวมทั้งรับรู้ต้นทุนทางการเงิรตามมาตรฐาน TFRS9 สำหรับเจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

บริษัทฯ ยังมีกำไรจากการปรับโครสร้างหนี้ 493 ล้านบาท และมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 5,372 ล้านบาท มีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษทัร่วมจำนวน 36 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 12 ล้านบาท

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2567 บริษัทฯ ยังคงดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง มีการจำหน่ายเครื่องบินแบบแอร์บัส A340-600 จำนวน 2 ลำ และโบอิ้ง 747-400 จำนวน 1 ลำ และมีการปรับปรุงโครงสร้างกลุ่มธุรกิจการบิน โดยบริษัทฯ ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างกลุ่มธุรกิจการบินแล้วเสร็จ รับโอนเครื่องบินแบบแอร์บัส A320-200 จำนวน 4 ลำสุดท้ายจากบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ในเดือนมกราคม 2567 และให้บริการเส้นทางในประเทศเพิ่มเติม ได้แก่ เชียงราย ขอนแก่น อุบลราชธานี กระบี่ หาดใหญ่ และนราธิวาส (ทั้งนี้ สำหรับเส้นทางนราธิวาส บริษัทฯ หยุดให้บริการตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2567)

อย่างไรก็ตามภายในปี 2567 บริษัทฯจะดำเนินการปรับโครงสร้างทุนให้แล้วเสร็จตามแผนฟื้นฟูกิจการฉบับแก้ไขที่ศาลเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 โดยมีเป้าหมายในการทำให้ส่วนทุนเป็นบวก เพื่อให้หลักทรัพย์ของบริษัทฯ สามารถกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้ง ด้วยสถานการณ์ของบริษัทฯ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีอย่างมีนัยสำคัญ นับตั้งแต่เข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้นเดิมและนักลงทุนในการให้การสนับสนุนบริษัทฯและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทฯ ที่จะกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งและสร้างผลกำไรที่ดีอย่างยั่งยืน