ดาวโจนส์ปิดบวก 172 จุด ปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 6

HoonSmart.com>> ดัชนีดาวโจนส์ปิดบวก 172 จุด ปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 6 และนานสุดของปีนี้ นักลงทุนยังหวังเฟดลดดอกเบี้ยปีนี้ หลังข้อมูลตลาดแรงงานต่ำกว่าคาด ด้านดัชนี S&P500 , Nasdaq ปิดลบ แรงกดดันจากบอนด์ยีลด์เพิ่มขึ้น กลบผลประกอบการที่ออกมาดี ด้านราคาน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้น 61 เซนต์ ฟาก “ตลาดหุ้นยุโรป” ปิดบวก
      
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 ปิดที่ 39,056.39 จุด เพิ่มขึ้น 172.13 จุด หรือ +0.44% ปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 6 และติดต่อกันนานที่สุดของปี 2024 และยังเป็นการปิดที่เหนือระดับ 39,000 จุดเป็นครั้งแรกในรอบ 5 สัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนยังหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
     
ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,187.67 จุด ลดลง 0.03 จุด, -0.00%
     
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,302.76 จุด ลดลง 29.80 จุด, -0.18%
      
ดัชนีดาวโจนส์ได้รับแรงหนุนจากหุ้นแอมเจน และหุ้นเจพี มอร์แกน เชสที่ต่างเพิ่มขึ้นกว่า 2%
      
ข้อมูลตลาดแรงงานที่ต่ำกว่าคาดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ช่วยลดความกังวลที่ว่าเฟดที่จะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงขึ้นต่อไปอีกนาน
      
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 67% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.25% ในการประชุมเดือนกันยายน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 54% ในการสำรวจเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
      
แต่ดัชนี S&P500 และ ดัชนี Nasdaq ได้รับกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้น และกลบการรายงานผลประกอบการที่สดใส ประกอบกับไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามากระตุ้นตลาด
      
นักลงทุนยังประเมินการให้ความเห็นของผู้กำหนดนโยบายของเฟดเมื่อวันพุธ ซึ่งยังคงสอดคล้องกับความเห็นก่อนหน้าข้อความล่าสุด ซึ่งรวมถึงการประชุมของเฟดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
      
นางซูซาน คอลลินส์ ประธานเฟดแห่งบอสตัน กล่าวว่า นโยบายการเงินในปัจจุบันจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวที่ทำเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย 2% ของเฟด
      
สิ่งที่เทรดเดอร์และนักลงทุนยังกังวล คือ อัตราเงินเฟ้อจะเข้าสู่เป้าหมาย 2% ของเฟดหรือไม่ และประธานเฟด นายเจอโรม พาวเวลล์ อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อใด
      
นักลงทุนยังรอการรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในวันที่ 14 พฤษภาคม และดัชนีราคาผู้ในวันที่ 15 พฤษภาคม
      
เจนนาดิว โกลด์เบิร์ก หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์อัตราดอกเบี้ยสหรัฐของ TD Securities ในนิวยอร์กกล่าวว่า ตลาดยังคงรอรายงาน CPI ในวันพุธหน้า อย่างใจจดใจจ่อ จึงเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงนี้จนกว่าจะได้รับข้อมูล นักลงทุนยังคงระมัดระวังอย่างมาก ณ จุดนี้ เพราะไม่ต้องการที่จะคาดเดามากเกินไปจากหนึ่งหรือสองข้อมูล
      
หุ้นอูเบอร์ ลดลง 5.7% และเป็นหุ้นในดัชนี S&P500 ที่ลดลงมากสุด หลังรายงานผลขาดทุนที่เพิ่มขึ้นจากในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วและยังคาดการณ์ว่าผลประกอบการในไตรมาส 2 ปี 2024 อาจจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้
      
หุ้นเทสลา ลดลง 1.7% หลังจากสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า คณะอัยการของสหรัฐกำลังตรวจสอบว่าเทสลามีพฤติกรรมชี้นำนักลงทุนและผู้บริโภคในทางที่ผิดหรือไม่ เกี่ยวกับความสามารถของระบบขับขี่อัตโนมัติของรถยนต์ไฟฟ้าเทสลา
      
หุ้นอินเทลลดลงกว่า 2% หลังปรับลดคาดการณ์รายได้ไตรมาสสอง
      
หุ้นบริษัทเทคโนโลยีที่มีมาร์เก็ตแคปสูง ทั้งหุ้น Nvidia หุ้นแอมะซอน และหุ้นอัลฟาเบท ลดลงราว 0.2% – 1.1% ด้วยแรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เพิ่มขึ้น

      
      
ตลาดยุโรปปิดบวกที่ระดับสูงสุด นักลงทุนขานรับผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน ทั้ง Anheuser-Busch Inbev บริษัทเบียร์ และSiemens Energy ของเยอรมนี ขณะที่จับตาว่าธนาคารกลางประเทศหลักจะปรับลดอกเบี้ยเมื่อไร
      
ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 515.77 จุด เพิ่มขึ้น 1.75 จุด, +0.34%
   
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,354.05 จุด เพิ่มขึ้น 40.38 จุด, +0.49%
     
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 8,131.41 จุด เพิ่มขึ้น 55.73 จุด, +0.69%,
     
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 18,498.38 จุด เพิ่มขึ้น 68.33 จุด, +0.37%
      
หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้นและหนุนดัชนีหลักของเยอรมนี หลังจากที่ Siemens Energy ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าปรับเพิ่มคาดการณ์ในปี 2024 และประกาศผลประกอบการไตรมาสสองที่สูงกว่าคาด ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 4.7%
      
หุ้น Anheuser-Busch Inbev ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดของโลกจากเบลเยี่ยม เพิ่มขึ้น 5.6% หลังจากรายงานผลประกอบการไตรมาสแรกที่ดีกว่าคาดและยืนยันแนวโน้มในปี 2024 และเป็นหุ้นปรับขึ้นมากสุดในดัชนีหลักของเบลเยียม และเพิ่มขึ้นมากสุดในดัชนีอาหารและเครื่องดื่มซึ่งเพิ่มขึ้น 1.6%
      
หุ้นพูม่า ผู้ผลิตชุดกีฬาเยอรมนี เพิ่มขึ้น 11% หลังจากยอดขายในไตรมาสแรกเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้
      
สำหรับการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเยอรมนีเดือนมีนาคม 0.4% จากที่เพิ่มขึ้น 1.7% ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งลดลงต่ำกว่าที่คาด สถาบันเศรษฐกิจเยอรมนี IW ระบุว่า เศรษฐกิจจะซบเซาในปี 2024 และยังคงตามหลังคู่แข่งในภูมิภาคต่อไป
      
หุ้นBMW ลดลง 2.9% หลังจากที่อัตรากำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ในไตรมาสแรกของกลุ่มรถยนต์ต่ำกว่าคาด จึงฉุดดึงกลุ่มรถยนต์ลง 1.3%
     
ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 61 เซนต์ หรือ 0.78% ปิดที่ 78.99 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้น 42 เซนต์ หรือ 0.51% ปิดที่ 83.58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล