เมืองไทยไลฟ์ร่วมปั้นนวัตกรรมสุขภาพ หนุนงาน Siriraj x MIT Hacking Medicine ปี 2

HoonSmart.com>>ศิริราช จับมือ MIT จัดงาน “ Siriraj x MIT Hacking Medicine 2025” ภายใต้ธีมงาน “AI Today, Transforming Tomorrow’s Healthcare” เน้นแก้ปัญหาโรคเรื้อรังทางกาย กับ จิตใจ  ดันนวัตกรรมด้านสุขภาพไทยขึ้นแท่นระดับอาเซียน พร้อมดึงภาครัฐ-เอกชน ร่วมปั้นสตาร์ทอัพไทยสู่ตลาดโลก มี เมืองไทยประกันชีวิต ร่วมเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนปีที่ 2 หวังช่วยคนไทยได้เครื่องมือดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน

น.ส.นาเดีย สุทธิกุลพานิช รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต (MTL) เป็นผู้แทนบริษัทเข้าร่วมแถลงข่าวการจัดงาน “ Siriraj x MIT Hacking Medicine 2025”ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ Massachusetts Institute of Technology (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา สถาบันชั้นนำระดับโลกด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ภายใต้ธีม “AI Today, Transforming Tomorrow’s Healthcare” หรือ AI วันนี้,พลิกโฉมระบบสุขภาพแห่งอนาคต

“ปีนี้เป็นปีที่ 2 ของการสนับสนุนโครงการนี้ โดยมองแฮกกาธอนไม่ใช่แค่แพลตฟอร์ม CSR แต่เป็นสนามทดสอบจริงสำหรับโมเดลการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน และเฉพาะบุคคล ซึ่งทางเมืองไทยฯพยายามช่วยลูกค้าดูแลสุขภาพ”น.ส.นาเดีย กล่าว

น.ส.นาเดีย กล่าวว่า เป็นโอกาสสำคัญในการเชื่อมโยงนวัตกรรมสุขภาพกับธุรกิจประกันชีวิต ผ่านการสร้างระบบนิเวศทางสุขภาพแบบบูรณาการ (Health Ecosystem) ซึ่งจะช่วยให้บริษัทฯ สามารถพัฒนาแบบประกันและบริการที่ตอบโจทย์การดูแลสุขภาพเชิงป้องกันและเฉพาะบุคคล (Personalized & Preventive Healthcare)
นำเทคโนโลยีและข้อมูลจากนวัตกรรมที่เกิดขึ้นใน Hackathon ไปปรับใช้ในการบริหารความเสี่ยงและยกระดับประสบการณ์ลูกค้า
ส่งเสริมบทบาทของบริษัทในฐานะ ผู้นำด้านการประกันสุขภาพยุคใหม่ (Health Partner) ที่ไม่เพียงแต่ให้ความคุ้มครอง แต่ยังร่วมดูแลสุขภาพชีวิตลูกค้าอย่างรอบด้าน

ที่ผ่านมา เมืองไทยประกันชีวิตได้จัดตั้ง Fuchsia VC ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุนในธุรกิจ Startup ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านสุขภาพ เพื่อต่อยอดโอกาสทางธุรกิจและสร้างความร่วมมือใหม่ ๆ ที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบสุขภาพและธุรกิจประกันชีวิต

Hackathons ตัวเร่งนวัตกรรม

แม้หลายคนมองว่า Hackathons เป็นเพียงกิจกรรมระยะสั้น แต่งาน Siriraj x MIT Hacking Medicine ถูกออกแบบให้เป็นตัวกระตุ้นนวัตกรรมระดับภูมิภาคในระยะยาว โดยปีนี้เป็นปีที่ 2 เพื่อเปิดเวทีการแข่งขัน Hackathon แบบเข้มข้น ระดมไอเดียค้นหาสุดยอดนวัตกรรมโซลูชั่นอย่างยั่งยืนด้านการรักษาและบริการสุขภาพระดับนานาชาติ

พร้อมลงนามความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระยะเวลา 3 ปี ไปจนถึงปี 2570 เพื่อพัฒนาและวางรากฐานให้กรุงเทพเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านสุขภาพระดับอาเซียน พร้อมการสนับสนุนจากโมเดลที่พิสูจน์แล้วของ MIT ซึ่งผสมผสานการฝึกอบรมผู้ประกอบการกับการแก้ปัญหาทางการแพทย์ในสภาพแวดล้อมจริง อาเซียน โดยการแข่งขัน Siriraj x MIT Hacking Medicine 2025 Hackathon ครั้งที่สอง จะจัดขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน 2568 ที่ไม่ใช่แค่การแข่งขันแฮกกาธอน แต่เป็นกลไกที่ผู้จัดงาน หวังว่าจะช่วยกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศการดูแลสุขภาพในระดับภูมิภาค ที่กำลังเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุและความท้าทายจากโรคเรื้อรัง

Hackathon ครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมจากหลากหลายสาขาวิชา มารวมทีมและทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไข 2 ปัญหาสำคัญใน ประเด็น 1. “โรคเรื้อรัง” (Chronic Disease) และ 2.“สุขภาพจิต” (Mental Health) ตลอดช่วงสุดสัปดาห์และต่อเนื่องถึงงานประชุม ซึ่งปีนี้มีการเปิดกว้างจากเดิมจะมีกลุ่มนักนิสิต นักศึกษา เข้ามาร่วม ปีนี้เปิดให้ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ นักวิชาการ นักเทคโนโลยี วิศวกรนวัตกรรม นักออกแบบ นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ และนักลงทุน จะร่วมกันพัฒนาแนวทางแก้ไขที่น่าสนใจต่อความท้าทายด้านสุขภาพทั่วทั้งภูมิภาคอาเซีย โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพฯ

AI วันนี้ พลิกโฉมสุขภาพแห่งอนาคต

Hackathon ปีนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากศักยภาพอันมหาศาลของ ปัญญาประดิษฐ์แบบสร้างสรรค์ (Generative AI) โดยธีมหลักของงานคือ “AI Today, Transforming Tomorrow’s Healthcare” หรือ AI วันนี้ พลิกโฉมสุขภาพแห่งอนาคต มุ่งเน้นการนำ AI ไปใช้ในการปฏิรูปการดูแลผู้ป่วย เพิ่มประสิทธิภาพระบบสุขภาพสาธารณะ และลดความเหลื่อมล้ำในบริการ AI มีศักยภาพในการแก้ปัญหาเชิงระบบในภาคสาธารณสุขได้อย่างลึกซึ้ง

งานประชุมจะเปิดเวทีสำหรับการพูดคุยในระดับอาเซียน ทั้งในรูปแบบเสวนาใหญ่ และกิจกรรมแบบมีปฏิสัมพันธ์ ซึ่งนักวิจัยจากศิริราชจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนเชิงลึกกับภาคอุตสาหกรรม นักศึกษา ผู้ชนะจาก Hackathon และผู้เข้าอบรม พร้อมทั้งเข้าร่วมเวิร์กช็อปกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

ดันไทยศูนย์กลางนวัตกรรมสุขภาพอาเซียน

Siriraj x MIT Hacking Medicine ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นกลไกเร่งการเปลี่ยนแปลง โดยผสานความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความคิดสร้างสรรค์เข้ากับการลงมือปฏิบัติ ความร่วมมือนี้อาศัยประสบการณ์จริงจาก MIT ในการจัด Hackathon ซึ่งความสำเร็จของงาน Siriraj x MIT Hacking Medicine 2567 เป็นแรงผลักดันให้แผนความร่วมมือขยายต่อไปถึงปี 2570

Hackathon และการประชุมประจำปีนี้ถูกออกแบบให้กลายเป็นเวทีระดับภูมิภาค ที่เชิญชวนผู้ร่วมงานจากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมสุขภาพรูปแบบใหม่ ผ่านความร่วมมือข้ามสาขาวิชา กิจกรรมนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างบทบาทของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางนวัตกรรมสุขภาพระหว่างประเทศ โดยอาศัยพลังจากมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีสุขภาพ อุตสาหกรรมยา ระบบบริการสุขภาพ สตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการ และองค์กรภาครัฐ-เอกชน

ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของภูมิทัศน์นวัตกรรมสุขภาพในประเทศไทย เราไม่ได้เพียงแค่จัด Hackathon แต่เรากำลังสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ที่จะเปลี่ยนไอเดียที่มีศักยภาพให้กลายเป็นโซลูชันที่พร้อมออกสู่ตลาด และมีผลกระทบในระดับโลก

ดร.แอนจาลี ซัสทรี (Anjali Sastry) อาจารย์อาวุโสแห่ง MIT Sloan School of Management ผู้ก่อตั้ง GlobalHealth Lab แห่ง MIT และอดีตรองคณบดีของ MIT Open Learning และอดีตอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ Harvard กล่าวว่า HEALTHI Lab พลิกโฉมนวัตกรรมสุขภาพด้วยการฝังผู้ประกอบการไว้ในบริบทของโรงพยาบาล พร้อมประสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ใช้แนวทางลงมือทำจริง (hands-on) เพื่อให้มั่นใจว่าโซลูชันสามารถใช้งานได้จริง และยังเป็นแนวทางการเรียนรู้ที่มอบข้อมูลเชิงลึกอันมีค่าสำหรับผู้นำที่ต้องการขับเคลื่อนนวัตกรรม โดยผู้เข้าร่วมจะประกอบด้วยผู้ประกอบการ ผู้บริหาร และพนักงานที่มีแนวคิดเชิงนวัตกรรมจากภายในองค์กร

สิ่งที่ทำให้โครงการนี้โดดเด่นคือ ขอบเขตระดับภูมิภาค ซึ่งกำลังสร้างสายส่งนวัตกรรมที่เชื่อมโยงความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมสุขภาพจากบอสตัน เข้ากับระบบนิเวศที่มีชีวิตชีวาและความท้าทายเฉพาะของไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้