MFC ทรานฟอร์มสู่ “โฮลดิ้ง คัมพานี” โชว์กำไร Q1/68 เติบโต 24.58%

HoonSmart.com>> บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) เดินหน้าทรานฟอร์มธุรกิจขึ้นเป็น “บริษัทโฮลดิ้ง” รองรับการแข่งขัน ภายใต้ชื่อใหม่ “เอ็มเอฟซี กรุ๊ป โฮลดิ้ง” เตรียมขยายธุรกิจและกลุ่มลูกค้าใหม่ เพิ่มส่วนแบ่งตลาด ลงทุนธุรกิจใหม่ กระจายแหล่งรายได้ให้หลากหลาย ลดความผันผวนของกำไรตามภาวะตลาดผันผวน หนุนเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมโชว์ผลงานไตรมาส 1/68 กำไร 61 ล้านบาท เติบโต 24.58% รายได้ 353 ล้านบาท

ธนโชติ รุ่งสิทธิวัฒน์

นายธนโชติ รุ่งสิทธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี (MFC) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2568 นำเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนมุติการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการของบริษัทฯ โดยจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัด ภายใต้ชื่อบริษัท เอ็มเอฟซี กรุ๊ป โฮลดิ้ง (บริษัทโฮลดิ้ง) ที่ประกอบธุกิจลงทุนในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยมีวัตถุประสงค์ในการปรับโครงสร้าง เพื่อให้มีความคล่องตัว ยืดหยุ่นและกระจายความเสี่ยง และสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจรายใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละธุรกิจนั้น ๆ รวมถึงการมีทีมผู้บริหารเฉพาะด้านที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละธุรกิจ มีวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะกับแต่ละธุรกิจ ซึ่งจะช่วยดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถในแต่ละประเภทธุรกิจเข้ามาได้มากขึ้น

โครงสร้างแบบโฮลดิ้งจะเป็นการเตรียมความพร้อมในการขยายการลงทุนไปยังธุรกิจอื่น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์อุตสาหกรรมตลาดและการแข่งขันในปัจจุบัน เพื่อตอบสนองต่อแนวโน้มความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ดีขึ้น และจะสามารถลดความผันผวนของรายได้และอัตรากำไรให้แก่บริษัทฯ ได้ รวมถึงจำกัดขอบเขตและการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจจัดการกองทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่บริษัทฯ จะมีการลงทุนในอนาคต และมีโครงสร้างรายได้ที่สามารถสร้างผลตอบแทนในระดับสูงกว่าธุรกิจปัจจุบันของบริษัท ทั้งจากค่าธรรมเนียมบริหารจัดการ (Management Fee) และรายได้จากส่วนแบ่งกำไรส่วนเกิน (Carried Interest) อันเป็นการเพิ่มทั้งรายได้และอัตราการทำกำไรให้แก่บริษัทฯ

“การปรับโครงสร้างดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทฯ สามารถแยกการดำเนินธุรกิจออกเป็นกลุ่มย่อยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เพิ่มความสามารถในการบริหารความเสี่ยง
เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และสามารถขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโตและสร้างกำไรที่สูงขึ้น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มมูลค่าระยะยาวให้แก่ผู้ถือหุ้นและเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรในอนาคต”

บริษัทโฮลดิ้งจะเพิ่มทุนจดทะเบียนและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทและนำหุ้นของบริษัทโฮลดิ้งเข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัทโฮลดิ้งจะยื่นขออนุญาตต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำหรับการเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่โดยบริษัทโฮลดิ้ง พร้อมทั้งทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เดิมของบริษัททั้งหมด โดยชำระค่าหุ้นด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทโฮลดิ้งในอัตราการแลกหุ้น (Share Swap Ratio) ที่หุ้นสามัญของบริษัทโฮลดิ้ง 1 หุ้นต่อหุ้นสามัญของบริษัทฯ 1 หุ้น โดยภายหลังสิ้นสุดระยะเวลาทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทฯ เสร็จสิ้น หลักทรัพย์ของบริษัทโฮลดิ้งจะเข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แทนหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ซึ่งจะถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันเดียวกัน

หลังจากนั้นเมื่อการแลกหุ้น (Share Swap) และหุ้นของบริษัทโฮลดิ้งได้รับการจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วเสร็จ บริษัทฯ จะดำเนินการโอนขายบริษัทย่อย (ได้แก่ 1. MF Holding และ 2. MFC Advisory) ให้แก่บริษัทโฮลดิ้ง ตามแผนการปรับโครงสร้างของบริษัทฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจำแนกแต่ละประเภทของธุรกิจอย่างชัดเจน รวมทั้งจำกัดผลกระทบจากความเสี่ยงของแต่ละธุรกิจออกจากกัน ซึ่งจะเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติการโอนขายหุ้นของบริษัทย่อยทั้ง 2 แห่ง

ทั้งนี้ การโอนขายหุ้นของบริษัทย่อยให้แก่บริษัทโฮลดิ้ง จะดำเนินการภายหลังที่แผนการปรับโครงสร้างเสร็จสมบูรณ์ และหุ้นของบริษัทโฮลดิ้งเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

คณะกรรมการบริษัทฯ ยังได้เห็นชอบการแต่งตั้งให้บริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ เพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการของบริษัทฯ และการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทฯ จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยกำหนดให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2568 ในวันที่ 27 มิ.ย.2568

ปัจจุบันบลจ.เอ็มเอฟซี ประกอบธุรกิจหลักในการจัดการกองทุนประเภทต่าง ๆ โดยบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจทั้งหมด 6 ประเภทหลัก ได้แก่ กองทุนรวม กองทุนส ารองเลี้ยงชีพ กองทุนส่วนบุคคลนายทะเบียน ผู้จัดการทรัสต์ และทรัสตี

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2568 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 61.36 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น0.49 บาท เพิ่มขึ้น 24.58 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 49.25 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.39 บาท

บริษัทฯ มีรายได้รวมจำนวน 352.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน จำนวน 54.98 ล้านบาท หรือ 18.45% มีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ จำนวน 335.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน จำนวน 47.32 ล้านบาท หรือ 16.41% จากการจัดต้ังกองทุนรวมใหม่จำนวน 14 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 7,168 ล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วงเวลา
เดียวกันปีก่อน ที่มีการจัดตั้งกองทุนรวมใหม่จำนวน 13 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 7,526 ล้านบาท ทั้งนี้ กองทุนที่จัดตั้งในปี 2568 เป็นกองทุนหุ้น 5 กองทุน และกองทุนตราสารหนี้ 9 กองทุน

ณ วันที่ 31 มี.ค.2568 บริษัทฯ มีมูลค่าตามบัญชี 10.38 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 10.02 บาทต่อหุ้นและมีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นเป็น 13.86% อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น 18.82% และอัตรากำไรสุทธิต่อรายได้รวม 17.39%