“YGG-CHAYO-ZIGA” ต่อยอดธุรกิจ ดึง AI วิเคราะห์-ปล่อยกู้คาดรายได้โต15-20%

HoonSmart.com>>อิ๊กดราซิล กรุ๊ป – ชโย กรุ๊ป – ซิก้า อินโนเวชั่น 3 บริษัทจดทะเบียนร่วมต่อยอดธุรกิจ ดึง AI วิเคราะห์-จัดเงินกู้-กำหนดเครดิต หวังตรึงลูกค้าเก่า ขยายตลาดใหม่ ย้ำสะดวก รวดเร็ว อัตราดอกเบี้ยดี มั่นใจช่วยเพิ่มยอดขาย ดันรายได้ปีนี้โต 15-20% พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ในอนาคต

วันที่ 22 เมษายน 2567 บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป (YGG) ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลคอนเทนต์ ทั้งแอนิเมชั่น VFX และเกม,บริษัท ชโย กรุ๊ป (CHAYO) ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (AMC) ทั้งมีหลักประกันและไม่มีหลักประกันมีฐานลูกค้ารวม 1 ล้านรายทั่วประเทศ และบริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น (ZIGA) ผู้ผลิต และจำหน่ายท่อเหล็กแบบ Pre-Zinc มีฐานลูกค้ากว่า 5 หมื่นราย ได้ทำข้อตกลงร่วมมือ หรือ MOU ในการต่อยอดธุรกิจระหว่างกัน

รูปแบบธุรกิจ ทาง CHAYO จะปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าของ ZIGA ผ่านการนำเทคโนโลยี AI ของ YGG มาใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า จัดเครดิตสกอริ่ง ในการปล่อยสินเชื่อ และออกแบบสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยลูกค้าจะได้รับความสะดวกรวดเร็ว ได้รับอัตราดอกเบี้ย และเครดิต ตามความสามารถในการชำระหนี้ของแต่ละคน ผู้ให้บริการมีความน่าเชื่อถือ โปร่งใส เพราะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้ง 3 แห่ง

ผู้บริหารทั้ง 3 บริษัทฯ ยืนยันว่า ความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยให้สามารถขยายฐานลูกค้าได้เพิ่มขึ้น และสร้างรายได้ใหม่เพิ่มเติมเข้ามาภายในปีนี้แน่นอนแต่จะเป็นเท่าไหร่นั้นขอใช้เวลาในการศึกษาโครงการซักระยะหนึ่ง

นายธนัช จุวิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป (YGG) กล่าวว่า ทั้ง 3 บริษัทจะนำองค์ความรู้ พร้อมทั้งจุดแข็ง ของแต่ละฝ่าย มาร่วมพัฒนา และสนับสนุนธุรกิจ เพื่อก่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน( SYNERGY) และเป็น ประโยชน์สูงสุดของการต่อยอดธุรกิจ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของแต่ละฝ่าย โดย MOU มีระยะเวลาผูก พันคู่สัญญา 3 ปี นับตั้งแต่วันลงนาม โดยจะเพิ่มโอกาสในการขยาย และสร้างฐานข้อมูล ลูกค้าใหม่ ซึ่งกันและกัน รองรับธุรกรรมหรือธุรกิจ ที่เกิดจากความร่วมมือ หรือทำธุรกิจทางการเงินและธุรกิจอื่นๆ มากขึ้น จากการวิเคราะห์ข้อมูลฐานลูกค้า โดยการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ ตลอดจนการสร้าง Platform ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาและต่อยอดธุรกิจร่วมกันรวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมให้กับลูกค้า

“YGG จะนำองค์ความรู้มาต่อยอดในการพัฒนา Platform และ AI เนื่องจากมีความ เชี่ยวชาญ ทางด้านดิจิทัลคอนเทนต์ ด้านเกม ภาพยนตร์แอนนิเมชั่น คอมพิวเตอร์กราฟิก รวมทั้งมีฐาน ข้อมูลลูกค้าจากเกม ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งของ YGG ขณะที่ CHAYO เป็นมืออาชีพด้านการบริหารจัดการ หนี้ มีข้อมูลและฐานลูกค้า ซึ่งจากความร่วมมือจะสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้านสินเชื่อในรูปแบบใหม่ เพื่อให้บริการและตอบโจทย์ลูกค้า และส่วนของ ZIGA เป็นผู้ผลิตสินค้าเหล็กนวัตกรรม ที่ขับเคลื่อนองค์กร ด้วยการนำระบบเทคโนโลยี มาเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรม จะช่วยเติมเต็มความ ร่วมมือ ในการส่งเสริมด้าน Innovation รูปแบบของผลิตภัณฑ์ ใหม่ๆ รวมไปถึง Block chain”นายธนัช กล่าว

นายธนัช กล่าวว่า ปี 2567 เป็นปีที่บริษัทพลิกโฉม เพราะรายได้จากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และความร่วมมือในการผลิตเกมกับต่างประเทศ ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา จะเริ่มรับรู้รายได้ในปีนี้ และจากการที่ธุรกิจบันเทิง ยังมีความต้องการใช้สินเชื่อจำนวนมาก ทั้งผู้ผลิตหนัง ผลิตคอนเทนต์ ผลิตเกม แต่เข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารได้ยาก เพราะธนาคารจะมีเงื่อนไขที่จัดฐานลูกค้าเป็นกลุ่มๆ ธุรกิจ แต่การนำ AI มาใช้ในการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ จะสามารถเจาะลึกเป็นรายบุคคล สามารถปล่อยกู้ได้เลย จึงเชื่อว่าตลาดจะมีการใช้แพลตฟอร์มของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้รายได้ของบริษัทสามารถเติบโตต่อไปได้ในอนาคต

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป (CHAYO) กล่าวว่า การผสานความร่วมมือกับ 3 ผู้นำทางธุรกิจ ระหว่าง CHAYO YGG และ ZIGA เพื่อนำจุดแข็งมา ต่อยอดโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน โดยกลุ่มบริษัท CHAYO มีความแข็งแกร่งในการบริหารสินทรัพย์ โดยปี 2566 มีพอร์ตบริหารหนี้ 100,000 ล้านบาท รวมทั้งยัง ให้บริการเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้ ให้บริการศูนย์ ข้อมูลลูกค้าให้กับ ผู้ว่าจ้าง ผ่านทางระบบโทรศัพท์ และให้บริการคําปรึกษาด้านแรงงาน ซึ่งบริษัทที่เป็นเรือธง ในธุรกิจด้านการเงิน โดย บริษัท ชโย แคปปิตอล (CCAP) ได้รับไลเซ่นประกอบธุรกิจสินเชื่อ 3 ประเภท คือ นาโนไฟแนนซ์ พิโกไฟแนนซ์ และสินเชื่อส่วนบุคคล ปัจจุบันดำเนินธุรกิจปล่อยสินเชื่อ ทั้งแบบที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน รวมถึง สินเชื่อสวัสดิการพนักงาน และให้บริการเบิกเงินเดือนล่วงหน้า

” CCAP อยู่ระหว่างเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 125 ล้านหุ้น ด้วย ความครบวงจรของกลุ่มบริษัท ทำให้เรามองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจ ผ่านการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และความก้าวล้ำของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI โดยเฉพาะให้ความสำคัญกับข้อมูลอย่าง Big Data เพื่อใช้ใน การวิเคราะห์ฐานข้อมูลในระบบ จึงมั่นใจว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะสนับสนุนให้กลุ่มบริษัทสามารถให้บริการและส่งมอบประสบการณ์ทางการเงินให้เหมาะสมกับลูกค้าของเราได้เหนือความคาดหมายยิ่งขึ้น และขยายพอร์ตให้เติบโตอย่างมั่นคง ภายใต้ความเสี่ยงที่รัดกุม”นายสุขสันต์ กล่าว

นายกิตติ ตั้งศรีวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป กล่าวว่า ปี 2567 ตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 20% จากปี 2566 จะมีการซื้อหนี้เสียเข้ามาบริหารเพิ่มประมาณ 10,000-15,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีหนี้เสีย หรือ NPL 1,000 ล้านบาท จากหนี้ที่อยู่ภายใต้การบริหาร 100,000 ล้านบาท มีฐานลูกค้า 1 ล้านรายทั่วประเทศ โดยฐานลูกค้าที่แอคทีพ มีประมาณ 5-6 แสนราย ปัจจุบันบริษัทมีการให้บริการปล่อยสินเชื่อด้วย การนำ AI เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าก่อนการปล่อยกู้ จะช่วยลดหนี้เสียของบริษัทลงได้

นายศุภกิจ งามจิตรเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น (ZIGA) กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จัดเป็น First Mover ซึ่งทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ต้องการที่จะเห็นความร่วมมือของบริษัทจดทะเบียนในการร่วมกันต่อยอดธุรกิจ เพื่อช่วยกันดูแลลูกค้า และสร้างการเติบโตร่วมกัน โดยความร่วมมือกับ 2 บริษัทครั้งนี้ จะช่วยต่อยอดธุรกิจของกลุ่ม ZIGA ให้มีความแข็งแกร่งและมีการเติบโตอย่างยั่งยืนตอบโจทย์การให้บริการลูกค้ามากขึ้น จากปัจจุบันบริษัทมีฐานลูกค้าที่เป็น B2C ประมาณ 50,000 ราย ซึ่งการมีพันธมิตรในครั้งนี้จะทำให้ฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเป็นหลักแสน เนื่องจากลูกค้าสามารถตัดสินใจใช้บริการของ ZIGA ได้ง่ายขึ้น ทั้งในเรื่องของการให้สินเชื่อผ่านแอฟพลิเคชั่น CHAYO ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตร และในส่วนของกลุ่ม YGG ก็จะเข้ามาซัพพอร์ตในเรื่องของ AI เพื่อต่อยอด Bitcoin ที่บริษัทมีอยู่ ซึ่งจะตรงกับคอนเซ็ปต์ “ZIGA ที่ไม่ได้มีแค่เหล็ก”

“ปัจจุบัน เราทำธุรกิจเงินสด ขายเหล็กเป็นเงินสด หลังจากความร่วมมือครั้งนี้ จะมีการขายเปิดขายแบบเครดิต โดยมี CHAYO เป็นผู้สนับสนุนสินเชื่อให้ลูกค้าของเรา ผ่านแพล็ตฟอร์มของ YGG ทำให้ลูกค้าได้รับสินเชื่อเร็วขึ้น ส่วนอัตราดอกเบี้ย และระยะเวลา ขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า จะทำให้เราขยายฐานลูกค้าได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโครงการโคล้านครอบครัวของรัฐบาล จะอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรที่เข้าโครงการนี้สามารถซื้อเหล็กจากบริษัทนำไปทำคอกวัวได้มากขึ้น ทำให้ยอดขายเหล็กเราเพิ่มขึ้น ซึ่งเหล็กของบริษัทได้รับความนิยมสูงในภาคอีสานและภาคเหนือในการนำไปทำคอกวัว”นายศุภกิจ กล่าว

นายศุภกิจ กล่าวว่า ปี 2567 ตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้น 15% จากปี 2566 โดยส่วนหนึ่งจะมาจากโครงการโคล้านครอบครัวของรัฐบาล ที่เกษตรกรจะมีการซื้อเหล็กจากบริษัทเพิ่มขึ้น และจากความร่วมมือกับ 2 พันธมิตรในครั้งนี้