เชียร์แบงก์ กำไร Q1 โตตามคาด SCB-BAY คงเป้าหมายปี’67

HoonSmart.com>>8 ธนาคารประกาศผลงานไตรมาสที่ 1/2567 กำไรเติบโตตามคาดและดีกว่าคาดการณ์   SCB-KTB-BBL มีกำไรสูงกว่า 1 หมื่นล้านบาท ลดค่าใช้จ่ายได้ดี ธนาคารส่วนใหญ่ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น นักวิเคราะห์ยังคงแนะนำ “ซื้อ” หุ้นแบงก์ โดยเฉพาะธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ที่โดดเด่น ขณะที่ SCB และ BAY คงเป้าการเติบโตปี 2567 เช่น สินเชื่อขยายตัว 3-5%

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ (SCB) ยังคงมีกำไรสุทธิสูงที่สุด จำนวน 11,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% เทียบกับไตรมาส 1/2566 และไตรมาส 4/2566 โดยมีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 10,201 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.3% จากไตรมาสที่ 4 ที่ผ่านมา และ 2.8%ในไตรมาส 1/2566 ด้านคุณภาพของสินเชื่อโดยรวมอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดี

SCB มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 31,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.7% จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิและรายได้จากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่สินเชื่อขยายตัว 2.1% ในสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารไทยพาณิชย์ และการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลบนแพลตฟอร์มดิจิทัลของบริษัทลูกอื่น ๆ

ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและอื่น ๆ มีจำนวน 10,178 ล้านบาท ลดลง 7.6% จากการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคาร และรายได้ที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อ

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์  กล่าวว่า SCB มีผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและให้ความสำคัญกับการสนับสนุนแนวนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศ โดยให้ความช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางตามความเหมาะสมและศักยภาพของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

บริษัทเดินหน้าสร้างขีดความสามารถในการเติบโตในอนาคต จับมือกับ WeBank ธนาคารดิจิทัลชั้นนำจากประเทศจีน ในฐานะพันธมิตรด้านเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มศักยภาพของกลุ่มในการเตรียมยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank และบริษัท ได้เปิดตัว “ไต้ฝุ่น” โมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่พัฒนาขึ้นสำหรับภาษาไทยโดยเฉพาะ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาด้าน AI ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนและผลักดันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ มุ่งสู่เป้าหมายการเป็น AI-First Organization ควบคู่กับการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ อีกด้วย

สำหรับแผนการเติบโตในปี 2567  SCB ยังคงเป้าหมายเดิม เช่น สินเชื่อเติบโต 3-5% จากไตรมาสแรกทำได้ 0.9% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ 3.7-3.9% อยู่ในกรอบที่ 3.83%ของไตรมาส 1 รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิโตระดับล่างหนึ่งหลัก ขณะที่ไตรมาส 1 ติดลบ 7.6% แม้มี การปรับลดประมาณการเติบโตเศรษฐกิจในปี 2567 เหลือ 2.7% จากเดิมคาดไว้ 3% ก็ตาม

ในส่วนธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) มีกำไรสุทธิ 5,334 ล้านบาท ดีขึ้นถึง 24.2% จากไตรมาส 1/2566 และเติบโต 9.6% จากไตรมาส 4ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการตั้งสำรองเพียง 5,117 ล้านบาท ลดลงถึง 45% จากไตรมาสที่ 4 ที่ผ่านมา แต่ยังคงเพิ่มขึ้น 19.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ปัจจัยหนุนมาจากกลยุทธ์การปรับโครงสร้างสินเชื่อและการบริหารเงินฝาก เพื่อให้ผลตอบแทนและต้นทุนทางการเงินมีความสอดคล้องกัน และการมีวินัยด้านค่าใช้จ่าย ในด้านคุณภาพสินทรัพย์  สามารถลดอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพลงมาได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังคงอัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพและฐานเงินกองทุนยังคงในระดับสูง สะท้อนสถานะทางการเงินที่มั่นคงแข็งแกร่ง

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TTB กล่าวว่า ผลงานในไตรมาสแรกถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปรับโครงสร้างพอร์ตสินเชื่อและการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินเพื่อหนุนรายได้ การมีประสิทธิภาพด้านต้นทุน และการดูแลคุณภาพสินทรัพย์

หนึ่งในจุดเด่นได้แก่สินเชื่อ ซึ่งธนาคารยังคงเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ เน้นกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารมีความชำนาญ เข้าใจทั้งความต้องการและความเสี่ยงเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนมีรถ กลุ่มคนมีบ้าน และพนักงานเงินเดือน ภายใต้แนวคิด Ecosystem play หนุนให้ธนาคารสามารถเติบโตสินเชื่อกลุ่มเป้าหมายได้ต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อรถแลกเงิน (+4%) สินเชื่อบ้านแลกเงิน (+3%) และสินเชื่อบุคคล (+4%)โดยยังคงให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่องในหลายรูปแบบ

บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) มองกำไร TTB ทำได้สูงกว่าที่คาดไว้ 7% แต่ยังเป็นไปตามคาดของนักวิเคราะห์ สามารถลด NPLs ลงมาที่ 2.56% จากสิ้นปี 2566 ที่ 2.62% สะท้อนคุณภาพสินทรัพย์แข็งแกร่ง และค่าใช้จ่ายลดลงหลังตั้งสำรองลดลงอย่างมาก

สำหรับธนาคารกรุงเทพ (BBL) มีกำไรสุทธิ 10,524  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.7%จากไตรมาสก่อน และเติบโต3.9%จากไตรมาส 1/2566หลังเพิ่มสำรองเป็น  8,582 ล้านบาท

บล.ทิสโก้มองกำไร BBL ออกมาสอดคล้องกับประมาณการของบริษัทและ Bloomberg consensus  แม้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 5% จากไตรมาสก่อนถือเป็นครั้งแรกในรอบปี หลังจากสินเชื่อขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง 2.4% แต่ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) กลับลดลง ขณะที่มีจุดเด่นเรื่องค่าใช้จ่ายดำเนินงานลดลง 17% ดีกว่าคาดการณ์ที่ 13% จึงคงคำแนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาเหมาะสมที่ 168 บาทจากราคาหุ้นลดลง 9% นับตั้งแต่ต้นปี  แต่ยังนิยมแบงก์เล็กอย่าง KKP/TTB ซึ่งจะอยู่ในสถานะที่ดีกว่าในการรับมือกับวัฎจักรอัตราดอกเบี้ยลดลง ทั้งนี้ BBL จะจ่ายปันผล 5 บาท/หุ้น ขึ้น XD 23 เม.ย.นี้

ทางด้านธนาคารกรุงไทย (KTB) เติบโตตามยุทธศาสตร์ ไตรมาส 1/2567 กำไรสุทธิ   11,079 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เทียบกับไตรมาส 4/2566 เพิ่มขึ้น 81.3% โดยหลักจากการตั้งสำรองลดลง 38.6% หลังตั้งสำรองลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันเรียบร้อยแล้ว ส่วนรายได้จากการดำเนินงานเติบโตอย่างยั่งยืน สินเชื่อขยายตัวอย่างสมดุล บริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวังและยืดหยุ่น รักษา Coverage Ratio ในระดับสูง รองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ เดินหน้าช่วยเหลือลูกค้าลดภาระทางการเงิน แก้ปัญหาหนี้ โดยยึดมั่นแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารยังคงดำเนินงานตามยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งขับเคลื่อน “นวัตกรรมสร้างคุณค่า ตอบโจทย์ลูกค้า สู่ความยั่งยืน” ส่งผลให้รายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัว  15.4% จากพอร์ตสินเชื่อที่เติบโตอย่างระมัดระวัง เพื่อรักษาสมดุลด้านความเสี่ยงและผลตอบแทนที่มุ่งเน้นคุณภาพ รวมถึงการขยายตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิและ อื่นๆ ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ Cost to Income ratio เท่ากับ 43.6% ขณะที่ตั้งสำรองในระดับที่เหมาะสม ยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูงคงที่ประมาณ 181% ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับเมื่อสิ้นปี 2566 พร้อมทั้งบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างยืดหยุ่นและระมัดระวังต่อเนื่อง โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพลดลงเหลือ 98,815 ล้านบาท

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ไตรมาสแรกปี 2567 มีกำไรสุทธิ 7,543 ล้านบาท ลดลง 13.1% หรือจำนวน 1,133 ล้านบาทจากไตรมาสแรกของปี 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น 111.6% เป็น 12,271 ล้านบาท

ส่วนการดำเนินงานดีขึ้น สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยังคงเติบโตที่ 2.7% แม้ว่าสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อเพื่อรายย่อยจะปรับตัวลดลงตามปัจจัยด้านฤดูกาล ทำให้ สินเชื่อรวมลดลง 0.9% หรือจำนวน 17,252 ล้านบาทจากสิ้นปี 2566 ขณะที่สินเชื่ออาเซียนยังคงเติบโตที่ 4.0%  จากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในตลาดภูมิภาค ส่วนเงินรับฝากเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 8.9% หรือจำนวน 164,500 ล้านบาท  ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 4.16% เพิ่มขึ้นจาก 3.35% ในไตรมาสแรกของปี 2566  รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้น 26.9% หรือ 2,383 ล้านบาท

นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า  กรุงศรียังคงมีบทบาทที่สำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมโดยเคร่งครัด คาดว่าเศรษฐกิจในปี 2567 จะสามารถเติบโตสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาที่ 2.7% โดยคงเป้าหมายสินเชื่อปีนี้โต 3-5%