เร่งคลอดก.บ.ช.

คณะอนุกรรมาธิการด้านการเงิน การธนาคาร สถาบันการเงิน และตลาดทุน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เร่งผลักดัน ก.บ.ช. รับมือสังคมผู้สูงวัย สกัดรัฐแทรกแซงการทำงาน

การประชุมคณะอนุกรรมาธิการด้านการเงิน การธนาคาร สถาบันการเงินและตลาดทุน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมี ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ เป็นประธาน เพื่อรับฟังข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับหลักการและเหตุผล ความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ…. (ก.บ.ช.) โดยมีความเห็นตรงกันว่า ต้องเร่งผลักดันให้จัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติโดยเร็ว เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

สำหรับร่าง พรบ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ… จะบังคับใช้กับนายจ้างและลูกจ้างเอกชน ที่ยังไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยกำหนดให้ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมและนายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน เริ่มจากร้อยละ 3 ในปีแรกและค่อย ๆ เพิ่มเป็นลำดับขึ้นไปในปีต่อ ๆ ไป มีเป้าหมายให้ลูกจ้างมีรายได้หลังเกษียณอยู่ที่ร้อยละ 50 ของเงินเดือนเดือนสุดท้ายก่อนการเกษียณอายุ และจัดตั้งสำนักงาน ก.บ.ช. ให้รัฐเป็นผู้บริหารจัดการ โดยจะบริหารเองและ/หรือคัดเลือกเอกชนที่เป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บางรายให้เข้ามาเป็นผู้จัดการกองทุน

ร่าง พรบ. ดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และประธานกิตติมศักดิ์สมาคมบริษัทจัดการลงทุน ให้ความเห็นว่า เงินกองทุน ก.บ.ช. มาจากเงินของลูกจ้างและนายจ้าง ไม่มีเงินรัฐมาสนับสนุน และรัฐก็ไม่ควรใส่เงินเข้ามาสนับสนุนเพราะจะเป็นภาระงบประมาณมหาศาลในอนาคต จึงเห็นว่ารัฐควรช่วยทำหน้าที่ผลักดันให้เกิดกฎหมายโดยเร็ว และรัฐไม่ควรจะเข้ามาเป็นผู้เล่นเสียเองไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ กล่าวว่า การตั้ง ก.บ.ช. เพื่อช่วยให้ลูกจ้างในระบบหลายสิบล้านคน มีหลักประกันยามเกษียณ รัฐไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจ่ายเงิน เจ้าของเงินจึงควรมีอิสระในการเลือกนโยบายการลงทุนและผู้จัดการกองทุน รัฐควรระมัดระวังไม่ไปบริหารเงินกองทุนของเอกชนโดยที่รัฐก็ไม่มีความชำนาญ และอาจก่อให้เกิดข้อสงสัยได้ง่ายในเรื่องความโปร่งใสในการจัดการ ซึ่งไม่สอดคล้องกับความพยายามในการขจัดปัญหาความไม่โปร่งใสในภาครัฐที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่