TMB เตือนปี 2562 เตรียมรับมือเงินไหลออก ทั้งตลาดหุ้น-ตราสารหนี้

TMB Analytics ฟันธงส่งออกชะลอ ปัจจัยหลักฉุดเศรษฐกิจไทยปี 2562 โตไม่ถึง 4% เตือนรับมือเงินทุนต่างชาติไหลออก ทั้งตลาดหุ้น-ตราสารหนี้ เหตุไทยขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไป ส่งผลส่วนต่างดอกเบี้ยกับสหรัฐฯ สูง 1% คาดมีเงินระยะสั้นเข้าเก็งกำไรก่อนเลือกตั้ง

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (TMB) หรือ TMB Analytics ประมินว่า ในปี 2562 เศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการขยายตัว 3.8% เนื่องจากการส่งออกจะชะลอตัวลงจาก 7.6% เหลือ 4.3% ซึ่งเป็นผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน รวมทั้งการตั้งกำแพงภาษีบนสินค้าไทยและตัดสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ

ขณะที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เรามองว่า จะเป็นผลดีกับประเทศไทยมากกว่า เพราะมีแนวโน้มที่จะมีการย้ายฐานการผลิตและกระจายฐานการผลิตมาไทย ซึ่งเริ่มเห็นการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาประเทศไทยบ้างแล้ว

“เศรษฐกิจไทยปี 2562 ไม่ทรุด แต่ทรง แม้ว่า การลงทุนภาครัฐจะเติบโต การบริโภคในประเทศยังพอไปไหว การลงทุนภาคเอกชนดี และการท่องเที่ยวจะกลับเข้าสู่ระดับปกติ แต่ชะลอตัวลงจากการส่งออก ทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่า 4% แต่กรณีเลวร้ายสุดจะไม่ลงไปต่ำกว่า 3.5% เพราะยังคิดว่าเป็นเพียงการชะลอตัว ไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจ” นายนริศ กล่าว

นอกจากนี้ ในปี 2562 มีความเป็นไปได้ที่เงินทุนต่างชาติจะไหลออก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จะขึ้นไปถึง 1% หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่องไปจนถึง 3% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะสามารถขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้เพียง 2 ครั้ง คือเดือน ธ.ค. 2561 และไตรมาส 1 ปี 2562 ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยขึ้นไปอยู่ที่ 2%

“การปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้าสายไปแล้ว เพราะถ้าปีหน้าเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้เหตุผลที่จะสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท. มีไม่มาก ซึ่งหากส่วนต่างดอกเบี้ยไทย-สหรัฐฯ อยู่ที่ 1% ขณะที่อันดับเครดิตของประเทศห่างกัน 7 ขั้น ทำให้มีเงินไหลออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นายนริศ กล่าว

นายพูน พานิชพิบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะมีเงินทุนไหลออกสุทธิในปี 2562 ทั้งในตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้น

“สำหรับตลาดตราสารหนี้ ที่มีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนจำนวนมากในปีนี้ ปีหน้าต้องระวังว่า เราอาจเจอภาวะการเทขายในตลาดตราสารหนี้ หากประเทศในตลาดเกิดใหม่ที่ถูกเทขายในปีนี้สามารถแก้ไขวิกฤตค่าเงินและยังให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ” นายพูน กล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดหุ้นไทย นายพูน คาดว่า ในระยะสั้นน่าจะมีเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาเก็งกำไรในช่วงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งบ้าง แต่หากสภาพคล่องในระบบลดลง ภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัว กำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะไม่ดีตามไปด้วย ทำให้ความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยลดลง


นอกจากนี้ ผลกระทบจากกระแสเงินไหลออกจะทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าและผันผวนรุนแรง โดยระหว่างวันสามารถแกว่งตัวได้มากกว่า 10 สตางค์ พร้อมประเมินว่า สิ้นปี 2562 ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 33.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้ง 2561 อยู่ที่ 33.0 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากประมาณ 32.3 บาท/ดอลลาร์ในปี 2561จากปัจจัยภายนอกทั้งภาคส่งออกและการท่องเที่ยวที่ชะลอตัว ขณะที่การไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติผันผวนมากขึ้นจากสภาพคล่องโลกที่ตึงตัวมากขึ้น และอาจเป็นการไหลออกสุทธิ

นอกจากนี้ บอนด์ยีลด์ไทยระยะยาวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ กดดันผลตอบแทนการลงทุนในตราสารหนี้และกระทบต้นทุนการกู้ยืมเงินของภาคเอกชน

TMB Analytics ยังปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2561 เหลือ 4.0% จากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ 4.5% โดยสาเหตุหลักมาจากการส่งออกที่เติบโตลดลงตั้งแต่กลางปี จนติดลบในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 18 เดือนจากที่เริ่มฟื้นตัว บวกกับภาคท่องเที่ยวจีนลดลงมาก ขณะที่ปัจจัยภายในทั้งการบริโภคและการลงทุนที่ขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี และยังต่อเนื่องไปถึงปีหน้า