ธนาคารกรุงศรี มองเงินบาทเคลื่อนไหวกรอบ 32.90-33.20 ต่อดอลลาร์ จับตาถ้อยแถลงประธานเฟด ประชุม G20 และตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศ สถานการณ์นักท่องเที่ยวจีน
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.90-33.20 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 33.05 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยค่าเงินบาทและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยได้รับแรงกดดันจากรายงานจีดีพีไตรมาส 3 ซึ่งเติบโตน้อยกว่าคาด ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 4.3 พันล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 1.14 หมื่นล้านบาท
ส่วนเงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับสกุลเงินสำคัญหลังจากข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซนอ่อนแอเกินคาด ขณะที่สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปได้เห็นพ้องร่างข้อตกลงกำหนดความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดหลังจาก Brexit แต่ผลกระทบต่อค่าเงินปอนด์ยังคงจำกัดเนื่องจากตลาดคาดว่ารัฐสภาสหราชอาณาจักรอาจไม่อนุมัติแผนดังกล่าว
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะติดตามถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รายงานการประชุมเฟด รวมถึงการประชุมผู้นำกลุ่ม G20 ซึ่งจุดสนใจหลักจะอยู่ทีข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนว่าจะมีสัญญาณคลี่คลายลงได้บ้างหรือไม่ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกซึ่งปรับตัวลดลงมาแรงจะเป็นปัจจัยที่อยู่ในความสนใจของนักลงทุนเช่นกัน ในระยะนี้ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจนอกสหรัฐฯ แม้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ จะปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องก็ตาม
สำหรับปัจจัยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าอาจพิจารณาปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2561 ลงจาก 4.4% หลังจีดีพีไตรมาส 3 เติบโตเพียง 3.3% แต่ทางการมองว่า หากเศรษฐกิจไทยทั้งปียังเติบโตได้เกิน 4% ถือว่าไม่น่ากังวลสำหรับการดำเนินนโยบายดอกเบี้ย โดยเศรษฐกิจยังเติบโตตามการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ยอดส่งออกเดือนตุลาคมกลับมาขยายตัว 8.7% ถือเป็นการยืนยันว่าการหดตัวในเดือนกันยายนสะท้อนปัจจัยชั่วคราวเรื่องภัยธรรมชาติที่ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกไปตลาดเอเชียลดลง ส่วนผลกระทบจากสงครามการค้ามีเพิ่มขึ้นบ้าง โดยเฉพาะการส่งออกไปจีน นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์นักท่องเที่ยวจีน หลังรัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆเพื่อช่วยกระตุ้นภาคท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ธปท.กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุดได้ให้น้ำหนักเรื่องเสถียรภาพและการสร้าง Policy Space สำหรับระยะข้างหน้า ขณะที่เรายอมรับว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3 ย่ำแย่กว่าคาดไว้มาก แต่ท่าทีของผู้ดำเนินนโยบายการเงินสนับสนุนมุมมองของเราที่ว่ากนง.มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 1.75% ในการประชุมวันที่ 19 ธันวาคม และ ในปี 2562 อีกหนึ่งครั้งสู่ระดับ 2.00% ซึ่งเป็นการขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามแนวทางการดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพเป็นหลัก