กรุงศรีฯตั้งเป้าสินเชื่อเอสเอ็มอีโต3% ชู 3GOช่วยลูกค้าเข้าสู่ธุรกิจสีเขียว

HoonSmart.com>>ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ตั้งเป้าสินเชื่อเอสเอ็มอี ปี 2567 โตตามจีดีพีที่ 3% ปลื้มยอดคงค้างทะลุ 3 แสนล้านบาทปีแรก คาดสิ้นปีแตะ 3.39 แสนล้านบาท คุม NPL ไม่เกิน 2.5% ชูกลยุทธ์ 3GO ช่วยลูกค้าก้าวข้ามการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ธุรกิจสีเขียว

น.ส.ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY)เปิดเผยว่า ปี 2567 ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อเอสเอ็มอีโต 2-3% จากปีก่อนที่โต 11% จะทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างสิ้นปีอยู่ที่ 350,000 ล้านบาท จากปี 2566 อยู่ที่ 339,527 ล้านบาทซึ่งเป็นปีแรกที่มียอดสินเชื่อทะลุ 3 แสนล้านบาทเป็นปีแรก และจะควบคุมสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ให้อยู่ในระดับไม่เกิน 2.5%

“ปีนี้ตั้งเป้าสินเชื่อโต 2-3% ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือ จีดีพี ที่ปีนี้จะมีการเติบโตแบบอ้อยอิ่ง คือ ที่ 2.7% โดยได้รับแรงหนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเท่ากับปีก่อนโควิดระบาด การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้นด้วย และงบประมาณของรัฐจะออกมาปลายไตรมาส 2 ของปีนี้ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเอกชน แต่เศรษฐกิจไทยไม่โตมาก เพราะเศรษฐกิจชะลอตัว ความขัดแย้งของขั้วอำนาจโลก และผลกระทบจากภัยแล้ง ส่งผลต่อการส่งออกของไทย” น.ส.ดวงกมล กล่าว

น.ส.ดวงกมล กล่าวว่า ปี 2567 ธนาคารจะมุ่งไปที่การปล่อยสินเชื่อในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ปรับโครงสร้างทางการเงิน และสินเชื่อกรีนเพื่อช่วยให้สามารถก้าวข้ามการเปลี่ยนผ่านการทำธุรกิจแบบดั้งเดิมเข้าสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน หรือ ESG ผ่านกลยุทธ์ 3G0 ประกอบด้วย

1.กลยุทธ์ Go Green หนุนออกสินเชื่อส่งเสริม ESG ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ โดยโฟกัสไปที่การปล่อยสินเชื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาอาคาร สินเชื่อติดตั้งสถานีชาร์ทไฟรถยนต์ไฟฟ้า รองรับกระแสรถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถอีวี ที่กำลังมาเร็วและมาแรง สินเชื่อเปลี่ยนผ่านธุรกิจแบบดั้งเดิมสู่ธุรกิจ ESG เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสินเชื่อผู้ประกอบการหญิง เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันทางเพศ เพราะเห็นว่าในไทยสัดส่วนเพศหญิงกับเพศชายใกล้เคียงกัน แต่เจ้าของธุรกิจที่เป็นเพศหญิงนั้นมีน้อยมาก ซึ่งปีที่ผ่านมา ธนาคารได้รับรางวัลยูเอ็น อวอร์ด เพราะเป็นสินเชื่อสำหรับเพศหญิงแห่งแรกในไทย

“เราจะร่วมกันพันธมิตร และภาครัฐ ในการมุ่งส่งเสริมความรู้ ความตระหนัก ถึงแนวทางการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ผ่านเวทีสัมนาต่างๆ ทั่วประเทศ การให้รางวัล กรุงศรี อีเอสจี อวอร์ด เพื่อจุดประกายให้เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำ และจะร่วมกับกลุ่ม MUFG 12 ประเทศ จัดงาน กรุงศรี-เอ็มยูเอฟจี ซิมโพเซียม 2567 เพื่อสร้างพลังเครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์กรพันธมิตรด้าน ESG ทั้งในและต่างประเทศ ในการให้คำปรึกษา และการนำมาปรับใช้ให้แก่ลูกค้าธุรกิจธนาคาร”น.ส.ดวงกมล กล่าว

น.ส.ดวงกมล กล่าวถึง 2.กลยุทธ์ Go Digital ว่า จะเน้นให้ลูกค้าทำธุรกรรมทางการเงินบนออนไลน์ให้มากขึ้น โดยจะผสมผสานระหว่างออฟไลน์กับออนไลน์เข้าด้วยกัน โดยการใช้พนักงานของธนาคารนำเสนอ เช่น การไปให้บริการเปิดบัญชีดิจิทัล และเสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่อยู่บนออนไลน์ให้กับลูกค้า เช่น สามารถโอนเงินต่างประเทศได้ตลอด 24 ชั่วโมงแบบเรียลไทม์ โดยปีที่ผ่านมาสามารถโอนเงินข้ามประเทศระหว่างไทย ลาว ซึ่งปีนี้จะมีการเพิ่มประเทศเวียดนาม และจะขยายไปยังประเทศอื่นๆ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม

รวมถึง การผลักดันสังคมเข้าสู่ธุรกิจไร้เงินสด ผ่านคิวอาร์โค้ด ซึ่งปีนี้จะเห็นความคึกคักของแพลตฟอร์มกรุงศรีมั่งมีมากขึ้น โดยจุดเด่นคือเสียงแจ้งเตือนทุกครั้งที่มีเงินเข้า จนลูกค้าเรียกว่าเสียงสวรรค์ โดยแพลตฟอร์มนี้ยังรองรับการชำระเงินของอาลีเพย์ และวีแชท ด้วยเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว

3.กลยุทธ์ Go Beyond ธนาคารเน้นสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับลูกค้าเอสเอ็มอี ที่มีความพร้อมและศักยภาพในการขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน และประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกรุงศรี และ MUFG มีเครือข่ายที่แข็งแกร่ง ผ่านแพลตฟอร์มจับคู่ธุรกิจ Krungsri Business Link ที่เปิดเมื่อปลายปี 2565 ถึงปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 2,000 บริษัท โดยปีนี้จะพาเอสเอ็มอีไทยไปพบเอสเอ็มอีที่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีที่ไม่ค่อยเปิดรับบุคคลทั่วไป แต่ด้วยเครือข่ายของ MUFG ทำให้สามารถเข้าไปเรียนรู้ได้

“ปีที่ผ่านมา เรามีจำนวนการเข้ามาทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลเพิ่มขึ้น 40% และได้รับรางวัล เอสเอ็มอี โมบาย แบงก์กิ้ง ติดต่อกัน 2 ปีซ้อน ส่วนแพลตฟอร์มกรุงศรีบิสสิเนสลิงค์ ที่เป็นแบบบีทูบี มีการจัดกิจกรรมให้เอสเอ็มอีดังกล่าวมาเจรจาธุรกิจและพบปะกัน 4 ครั้ง และปลายปีที่ผ่านมาเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีภายนอกเข้าร่วมงานด้วย”น.ส.ดวงกมล กล่าว

น.ส.ดวงกมล กล่าวว่า ในมุมของการคุม NPL ปีนี้จะดูแลลูกค้าที่เป็นกลุ่มปรับโครงสร้างหนี้ โดยจะเน้นให้มีการปรับโครงสร้างทุน ปรับโครงสร้างเครดิตการค้า ทรัพยากร ต่างๆ ให้เกิดความคุ้มค่า รวมถึงการแนะนำให้ปรับโมเดลการทำธุรกิจ ปรับสินค้าและบริการ เพื่อมุ่งการส่งออก จะทำให้ธุรกิจไปต่อได้