“ฟินันเซีย ไซรัส” เล็งแบงก์กำไร Q1 ฟื้นแรง คาดกนง.ลดดอกเบี้ย มิ.ย.

HoonSmart.com>>บล.ฟินันเซีย ไซรัส เล็งกำไรบริษัทจดทะเบียนฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 1/67 โดยคาดกำไรสุทธิกลุ่มธนาคารไตรมาส 1/67 ฟื้นตัวแรง กำไรสุทธิรวมน่าจะเพิ่ม QoQ จากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลง-การลดลงของผลขาดทุนทางเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) โดยคงเป้า SET ปีนี้ไว้ที่ 1,470 จุด ปัจจุบันดัชนีฯเทรดต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนโควิด หุ้นเด่น AOT, BCH, CPALL, CPN, GPSC, NSL, SHR, SJWD, และ TIDLOR พร้อมคาดกนง.จะปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมิ.ย. 67 ส่วนเฟดปีนี้คงลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ยังมองว่ากำไรของบริษัทได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 4/66 และมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 1/67 คงเป้า SET ในปี 67 ไว้ที่ 1,470 โดยมีสมมติฐานจากกำไรต่อหุ้นที่ 91.50 บาท และค่า PER เป้าหมายที่ 16x ปัจจุบันดัชนีมีการซื้อขายที่ค่า 67 PER เท่ากับ 15x ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนโควิดที่ 15.7x จึงยังคงแนะนำให้นักลงทุนเลือกลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มกำไรอยู่ในเกณฑ์ดี พร้อมระดับการประเมินมูลค่าที่น่าสนใจ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หุ้นปรับตัวได้ดีกว่าตลาด โดยหุ้นเด่นประกอบไปด้วย AOT, BCH, CPALL, CPN, GPSC, NSL, SHR, SJWD, และ TIDLOR

ทั้งนี้ คาดว่าธนาคารจะรายงานกำไรสุทธิรวมฟื้นตัวแรงเป็น 50.6 พันล้านบาท ในไตรมาส 1/67 (+19% QoQ, +1% YoY) คาดว่าธนาคารทั้งหมดจะรายงานกำไรสุทธิเพิ่ม QoQ ยกเว้น TISCO ซึ่งน่าจะรายงานกำไรสุทธิลดลงเล็กน้อย KTB และ KKP น่าจะรายงานผลประกอบการที่ดีที่สุดหลังผลประกอบการที่ย่ำแย่ที่สุดในกลุ่มฯ ในไตรมาส 4/66 กำไรสุทธิรวมน่าจะเพิ่ม QoQ จากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลงหลังผลกระทบจากปัจจัยด้านฤดูกาลในไตรมาส 4/66 และการลดลงของผลขาดทุนทางเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ซึ่งจะมีน้ำหนักมากกว่ารายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิ (Non-NII) ที่ลดลงและรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) ที่ทรงตัว

ในที่สุดรัฐสภาก็ได้อนุมัติงบประมาณประจาปี 67 จำนวน 3.48 ล้านล้านบาท เมื่อปลายเดือน มี.ค. 67 คิดว่าปัจจัยดังกล่าวน่าจะเป็นบวกต่อเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/67 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งหลังปี 67 จากการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่เพิ่มสูงขึ้น จึงคาดว่าการเติบโตของการลงทุนภาครัฐจะพลิกเป็นบวกอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจโตเพิ่มอีก 0.7-1.5% โดยตลาดได้คาดกันว่า GDP ของไทยจะขยายตัว 1.5% YoY ในไตรมาส 1/67 ก่อนเร่งตัวขึ้นเป็น 2% YoY และ 2.9% ในไตรมาส 2-3 ปี 67 ตามลำดับ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ในเดือนนี้ และคิดว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกอาจเกิดขึ้นในเดือน มิ.ย. 67

การประชุม FOMC ครั้งล่าสุดส่งสัญญาณผ่อนคลาย แม้ว่าเฟดจะปรับเพิ่มประมาณการตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจจาก 1.4% เป็น 2.1% และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคพื้นฐานส่วนบุคคล (Core PCE) จาก 2.4% เป็น 2.6% ในปี 67 คณะกรรมการฯ ยังคาดว่า Core PCE จะลดลงและเข้าเป้า 2% ภายในปี 69 พร้อมเป้าอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่สูงขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.6% นอกจากนี้ dot plot ในเดือน มี.ค. 67 ยังส่งสัญญาณว่าเฟดอาจคงประมาณการอัตราดอกเบี้ยโดยน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้จาก 5.25-5.50% เป็น 4.50-4.75% แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะสูงขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาซึ่งทำให้ตลาดมองปัจจัยดังกล่าวเป็นบวกสำหรับสินทรัพย์เสี่ยงดังได้สะท้อนให้เห็นจากผลตอบแทนพันธบัตรที่ลดลง