ACE ชูนวัตกรรมสร้าง New S-Curve รุกธุรกิจ Net Zero Solutions ครบวงจร

HoonSmart.com>>”แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้” ( ACE) เปิดแผน New S-curve ปั้นธุรกิจ Net Zero Solutions ครบวงจร ทดลองปลูกป่าผสมเป็นโครงการนำร่อง บนพื้นที่กว่า 200 ไร่ สร้างผลตอบแทนคาร์บอนมากในระยะเวลาที่เหมาะสม พร้อมให้บริการแก่บริษัทที่ต้องการปลูกป่าเอง และรองรับธุรกิจคาร์บอนเครดิตที่จะมาแรง ลุยสร้างโรงไฟฟ้า New Gen รวม 8 แห่ง ด้วยระบบ AI  คาดเปิดดำเนินการได้ภายใน 3 ปีข้างหน้า

นายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ ( ACE) ผู้นำด้านธุรกิจพลังงานสะอาดของไทย เปิดเผยว่า บริษัทมองเห็นโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ เร่งสร้าง New S-curve และเตรียมความพร้อมในธุรกิจคาร์บอนเครดิตที่จะมาแรง  โดยใช้เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่บริษัทมีจุดเด่นในการเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจใหม่และธุรกิจหลักโรงไฟฟ้าชีวมวล ส่งผลให้ ปี 2567 จะเป็นปีที่ ACE เริ่มกลับเข้าสู่วงจรการเติบโตรอบใหม่

นอกจากนี้บริษัทจะทยอยก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ ที่ชนะการประมูลและได้รับสัญญา PPA คาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) และเริ่มทยอยรับรู้รายได้และกำไรเพิ่มเติมตั้งแต่ไตรมาส 2/2567 เป็นต้นไป อาทิ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) จำนวน 5 โครงการ กำลังการผลิตตามสัญญา PPA 35 เมกะวัตต์ (MW) แต่บริษัทสามารถติดตั้งได้ 70  MW รวมทั้งโรงไฟฟ้า SPP Hybrid คลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร กำลังการผลิตติดตั้งรวม 20 เมกะวัตต์ ส่วนปี 2568 จะมีโครงการที่จะ COD อีก 10 โครงการ กำลังการผลิตตามสัญญา PPA 57.33 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าของบริษัท สามารถเดินเครื่องได้ปีละ 350 วัน ตลอด 24 ชั่วโมง ที่สำคัญผลิตไฟฟ้าตามสัญญาที่ขาย ไม่จำเป็นต้องผลิตเผื่อไว้ ทำให้สูญเสียพลังงาน

“บริษัทยังไม่ทิ้งโอกาสในการซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวล (M&A) แม้ว่าจะมีประสบการณ์ที่ไม่ดีจากโครงการเอื้อวิทยาก็ตาม ครั้งนี้ต้องเลือกให้ดี คำนึงถึงอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยง แต่บางครั้งการลงทุนพัฒนาเองจะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า บริษัทมีระบบที่สามารถวัดผลการเผาเชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพสูง มีส่วนสูญเสียความร้อนน้อย สามารถแก้ไขจุดอ่อนได้ภายในระยะเวลารวดเร็ว  ปรับดีไซน์ช่วยเพิ่มการเผาผลาญ ขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าของ ACE ยังใช้เชื้อเพลิงมากถึง 60 ชนิด เทียบกับคู่แข่งบางแห่งใช้เพียง 1-2 ชนิด และที่สำคัญ เชื้อเพลิงยังมาจากของเหลือใช้ของเกษตรกร การรับซื้อช่วยเหลือสังคมและลดการเผาทำลายด้วย “นายธนะชัยกล่าว

บริษัทฯ ยังคงมีโอกาสเติบโตจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ที่เพิ่มพลังงานสะอาด ACE พร้อมที่จะเข้าประมูล มีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างอีกจำนวน 66 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวมมากกว่า 344.7 เมกะวัตต์ ใน 25 จังหวัดทั่วประเทศ  คาดว่าในช่วง 3-4 ปีข้างหน้าจะใช้งบลงทุนรวมกว่า 20,000 ล้านบาท ใช้สินเชื่อโครงการจากธนาคารที่มีดอกเบี้ยต่ำ สัดส่วน 70-75% หรือประมาณ 14,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือมาจากกระแสเงินสดที่ได้รับปีละ 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเมื่อเปิด COD โครงการใหม่ ๆ  รวมถึงการออกหุ้นกู้ โดยบริษัทมีเงินกู้จำนวน 4,000 ล้านบาท เทียบกับมูลค่าสินทรัพย์ที่สูงถึง 20,000 ล้านบาท ซึ่งตลาดคาดว่าในปีนี้ดอกเบี้ยในระบบจะลดลง ช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับบริษัทด้วย

ด้าน นายธีรวุฒิ ทรงเมตตา ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ กล่าวเสริมว่า  บริษัทเร่งมองหา New S-Curve เพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม เสริมความมั่นคงทางธุรกิจ รวมถึงการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Ecosystem ของธุรกิจพลังงานสีเขียว สิ่งที่กำลังอยู่ระหว่างเตรียมการ  คือ วางแผนที่จะก้าวเป็นผู้ให้บริการด้าน Net Zero Solutions ครบวงจรแบบ One Stop service อาทิ คาร์บอนเครดิต และใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) ซึ่งปัจจุบันโรงไฟฟ้าของ ACE สามารถผลิต REC ได้ประมาณ 1 ล้าน REC ต่อปี และในอนาคตเมื่อมี  COD โรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มเติม จะสามารถเพิ่มขีดความสามารถการผลิต REC ในระดับ 2 ล้าน REC ต่อปีได้ นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างเตรียมงานด้านบริการให้คำปรึกษา หรือ รับดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการช่วยลด CO2 ให้กับภาคธุรกิจในอนาคต อาทิ การให้บริการกับบริษัทฯ ที่ต้องการคาร์บอนและต้องการปลูกป่าเอง เป็นต้น

ACE มีพื้นที่ทดลองปลูกป่าเป็นโครงการนำร่อง (pilot project ) บนพื้นที่กว่า 200 ไร่ ที่จ.พะเยา โดยทำมา 2 ปี เพื่อเป็นแหล่งศึกษาการปลูกไม้โตเร็ว เช่น ยูคาลิปตัสผสมกับพืชพื้นเมืองที่โตช้า ผสมอย่างไรให้ได้ผลตอบแทนคาร์บอนเครดิตมากที่สุดในระยะเวลาที่เหมาะสม เชื่อว่ากระแสคาร์บอนเครดิตกำลังมาแรง หากรัฐเดินหน้าเต็มที่ทาง ACE ก็พร้อมในทุก ๆ ด้านเนื่องจากมีพันธมิตร เช่น พัฒนาพันธุ์ไม้ ปลูกต้นกล้า 30 ล้านต้น ไม่ได้หว่านด้วยเมล็ดที่มีความเสี่ยงเรื่องกลายพันธุ์ ทาง ACE สามารถโชว์เคสได้ ให้ผู้สนใจเห็นผลเป็นรูปธรรม พร้อมปลูกให้กับบริษัทที่ต้องการได้คาร์บอนและปลูกป่าเองด้วย สามารถออกแบบได้ตามที่ต้องการ

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างพัฒนาโรงไฟฟ้า New Gen ที่ผสมผสานระหว่างการบริหารจัดการด้านเทคโนโลยีและการนำระบบ AI เข้ามาผสาน โดยจะสามารถลดต้นทุนในการเดินเครื่องและลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงได้ในระยะยาว ทั้งนี้ตามแผนเบื้องต้นโรงไฟฟ้า New Gen ของ ACE จะมีทั้งหมด 8 แห่งทยอยแล้วเสร็จและเริ่มเปิดดำเนินการได้ภายใน 3 ปีข้างหน้า

สำหรับการขยายลงทุน บริษัทอยู่ระหว่างรอเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) และโครงการพลังงานหมุนเวียน สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ระยะที่สอง จำนวน 3,668.5 MW ขณะที่โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมก็เป็นอีกหนึ่งประเภทโรงไฟฟ้าที่ ACE มีความพร้อมและมีความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันก็ไม่ปิดโอกาสลงทุนในต่างประเทศ ทั้งรูปแบบร่วมทุนและ M&A แต่คงต้องพิจารณาความคุ้มค่าอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ

“ACE ยังคงตั้งเป้ามุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2593 ซึ่งสอดรับตามกลยุทธ์ธุรกิจในการตั้งเป้ามุ่งสู่การเป็น “ต้นแบบผู้นำด้านธุรกิจพลังงานสะอาดของโลก” ที่ยึดมั่นมาตลอด  จะช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกจากภายในองค์กรไปสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน”

ปัจจุบันโรงไฟฟ้า ACE มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมมากกว่า 602.3 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ หรือ COD แล้วจำนวน 23 โครงการ กำลังผลิตติดตั้งรวม 257.6 เมกะวัตต์ ใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ และที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอีกจำนวน 66 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวมมากกว่า 344.7 เมกะวัตต์ ใน 25 จังหวัดทั่วประเทศ ล้วนแล้วแต่เป็นสัมปทานระยะยาวสร้างรายได้มั่นคง