ฟิทช์มองแบงก์ไทยกำไรดีขึ้น โบรกฯเชียร์ซื้อ KTB ไม่ห่วงหนี้ITD

HoonSmart.com>>ฟิทช์ เรทติ้งส์วิเคราะห์แบงก์ไทยความสามารถทำกำไรปี 67 ดีขึ้นต่อเนื่อง ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 3.3% สำรองทรงตัว บล.ดาโอเผย 8 แบงก์ที่ดูแล สินเชื่อเดือนก.พ.เพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนม.ค. SCB, KTB,TISCO เพิ่มขึ้นมากสุดเท่ากัน 0.4% ตามด้วย BBL+0.3% ส่วนTTB ลดลง 0.4% เลือก KBANK, TTB เด่นสุด ส่วน KTB พบนักวิเคราะห์ เสียงเชียร์”ซื้อ”ดัง ตั้งสำรองหนี้ ITD เต็มแล้ว ได้ประโยชน์จากงบประมาณปี 67 ผ่าน  ใช้เทคโนโลยีช่วยธุรกิจเต็มที่ 

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์  รายงานว่า ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ไทยดีขึ้น สูงกว่าช่วงก่อนโควิด โดยมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงในปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 1.9%เทียบกับ 1.6% เมื่อสิ้นปี 2562  คาดว่าน่าจะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในปี 2567 โดยอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 3.3% ในขณะที่ค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตน่าจะอยู่ในระดับทรงตัว ช่วยเสริมฐานะเงินกองทุนให้กับธนาคารและรองรับความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์

ส่วนอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของระบบธนาคารอยู่ที่ 3.3%ในปี 2566 ลดลงเล็กน้อยจาก 3.4% ของปี 2565 แต่คาดว่าอาจจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2567-2568 เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่สำคัญ ยังคงมาจากสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) และสินเชื่อที่ได้รับการปรับโครงสร้างเนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 10% ของสินเชื่อรวม รวมทั้งสัญญาณของปัญหาในการชำระหนี้ในลูกหนี้สินเชื่อบริษัทขนาดใหญ่บางราย แต่ อัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพยังคงอยู่ในระดับที่น่าจะพอเพียงในการช่วยรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

บล.ดาโอวิเคราะห์สินเชื่อของธนาคาร 8 แห่งที่วิเคราะห์ ในเดือนก.พ.อยู่ที่ 10.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนม.ค.( MoM) จากสินเชื่อรายใหญ่และภาครัฐเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ โดยธนาคารที่มีสินเชื่อเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ SCB, KTB และ TISCO เพิ่มขึ้นเท่ากันที่ +0.4%
ทั้งนี้ SCB โตจากสินเชื่อรายใหญ่, KTB จากสินเชื่อภาครัฐและ TISCO เพิ่มขึ้นจาก SME  ส่วน BBL เพิ่มขึ้น +0.3% MoM จากสินเชื่อรายใหญ่และต่างประเทศ ขณะที่ธนาคารที่มีสินเชื่อโตลดลงที่สุดคือ TTB ลดลง -0.4% MoM เพราะเป็นไปตามนโยบายที่ต้องการลดสินเชื่อรายใหญ่ลง เพื่อไปปล่อยสินเชื่อรายย่อยที่มีผลตอบแทนที่สูงกว่า

ส่วนภาพรวมของเงินฝากในเดือน ก.พ. 2567 อยู่ที่ระดับ 12.3 ล้านล้านบาท ทรงตัว MoM ธนาคารที่เงินฝากลดลงมากที่สุดคือ KKP -2.7% MoM จากเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน (CASA) ที่ลดลง แต่เงินฝากประจำยังคงเพิ่มขึ้น ส่วน BBL เพิ่มมากที่สุดที่ +0.8% MoM ตามการเติบโตของสินเชื่อ

แนวโน้มสินเชื่อคาดว่ารายใหญ่และภาครัฐจะกลับมาเร่งตัวได้อย่างโดดเด่นตามการลงทุนของภาครัฐในช่วงครึ่งปีหลัง  จึงคงประมารการสินเชื่อทั้งปีโต 3% จากปีก่อน ส่วน NPL จะทยอยเพิ่มขึ้นไม่น่ากังวลมากนัก เพราะแต่ละธนาคารมีการตั้งสำรองฯจำนวนมากมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และมีการทยอยขายหนี้เสียออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยคาด NPL ทั้งปีจะอยู่ที่ 3.17% จาก 2.92% ในปีก่อน

“ยังคงน้ำหนักกลุ่มแบงก์ “เท่ากับตลาด” เพราะกำไรปีนี้จะเติบโตชะลอตัวเหลือโต 5% จากปีก่อนโต 18% ข้อดี valuation ยังถูก เทรดที่ระดับ P/BV เพียง 0.64 เท่า  เลือก KBANK, TTB เป็น Top pick  ให้เป้าหมาย 155 บาท และ 2.10 บาท ตามลำดับ ขณะที่ SCB,KTB, TISCO และ BBL จะได้รับผลบวกจากสินเชื่อที่เติบโตดีในเดือน ก.พ.2567”

ด้านที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 22 มี.ค. 2567 มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 298 เสียง ไม่เห็นชอบ 166 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง ขั้นตอนต่อไป จะส่งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2567 ให้สภาชิกวุฒิสภาพิจารณาต่อไป

ส่วนหุ้นธนาคารกรุงไทย (KTB) ปรับตัวขึ้นโดดเด่น ราคาปิดที่ 16.80 บาท เพิ่มขึ้น 0.70 บาท หรือ +4.35% มูลค่าการซื้อขาย 3,701.44 ล้านบาท สูงที่สุดของวันที่ 22 มี.ค. 2567 หลังจากธนาคารพบนักวิเคราะห์ โดยส่วนใหญ่ยังคงแนะนำให้ซื้อ และบล.ฟินันเซีย ไซรัสปรับเพิ่มคำแนะนำ จาก “ถือ” เป็น “ซื้อ” สะท้อนความกังวลลดลงเกี่ยวกับปล่อยกู้ ITD ต่ำสุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ตั้งสำรองเต็มจำนวน ด้านราคาหุ้นร่วงกว่า 12% ตั้งแต่ต้นปี underperform กลุ่มแบงก์และตลาดที่ลดลง 3% ภายหลังประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ที่หดตัวลงมาก เชื่อว่าได้สะท้อนปัจจัยลบต่างๆ ไปมากแล้ว โดย P/BV ปัจจุบันที่ 0.55 เท่า เริ่มต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ 0.6 เท่า และต่ำกว่าราคาเป้าหมายที่ P/BV 0.65 เท่า อิง GGM ที่คาดการณ์ LT-ROE 8% และ COE 11.8% ขณะที่ราคาเป้าหมาย 19.80 บาท

แนวโน้มการดำเนินงานในปี 2567 ตั้งเป้าสินเชื่อโต 3% ต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อลดลง คาดเตรียมยื่นขอไลเซ่นส์ Virtual bank ได้ประโยชน์หลักๆ จากการต่อยอดธุรกิจใน ecosystem ของธนาคารฯ และกลุ่มพันธมิตรที่เข้าร่วมลงทุน และฐานลูกค้าใหม่ๆ ทั้งนี้ KTB มั่นใจว่าเทคโนโลยีด้าน IT ที่มีอยู่มีความแข็งแกร่งมากและไม่เป็นรองคู่แข่ง ส่วนพันธมิตรก็มีความแข็งแกร่งในแต่ละด้าน โดยแนวโน้มเงินลงทุนใน VB ไม่ได้เป็นภาระต่อธนาคารฯ ขณะที่ KTB ยังคงเป้างบลงทุนด้าน IT  ในระดับเดิมคือปีละ 1 หมื่นล้านบาท ให้ราคาเป้าหมาย 19.80 บาท

บล.หยวนต้า เผยความกังวลต่อกรณี ITD ลดลงเนื่องจากธนาคารให้ข้อมูลว่ามีการตั้งสำรองไว้เพียงพอแล้วตั้งแต่ไตรมาส 4/2566 และเป็นธนาคารที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากการผ่านร่างงบประมาณปี 2567

บล.บัวหลวงระบุว่า ปัญหาสภาพคล่องของ ITD อาจทำให้กลุ่มธนาคารมีแนวโน้มตั้งสำรองหนี้ฯสูงขึ้น อ้างอิงข่าวจากประชาชาติธุรกิจ วันที่ 20 มี.ค. ว่าธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับ ITD หลักๆ มี 4 แห่ง วงเงินรวม 2.4 หมื่นล้านบาทแบ่งเป็น 1) BBL 8 พันล้านบาท (เป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน 4 พันล้านบาท) 2) KBANK 6 พันล้านบาท (เป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน 3 พันล้านบาท) 3) SCB 6 พันล้านบาท ( เป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกันพันล้านบาท)และ4) KTB 4 พันล้านบาท (เป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน 2พันล้านบาท)

บล.บัวหลวงวิเคราะห์หุ้น KTB คาดผลงานปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายจะเน้นใช้เทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาการดำเนินธุรกิจและวิเคราะห์ความเสี่ยงของลูกค้า นอกจากนี้ได้ตั้งสำรองหนี้ฯ สำหรับลูกค้ารายใหญ่ในกลุ่มก่อสร้างที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตไว้เต็มจำนวนสินเชื่อแล้ว แม้ว่าปัจจุบันลูกหนี้ดังกล่าวจะอยู่ใน Stage 2 ก็ตาม (Under-performing loans: สินเชื่อที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้น)

สำหรับเป้าหมายทางการเงินปี 2567 ส่วนใหญ่ค่อนข้างสอดคล้องกับประมาณการของบล.บัวหลวง เช่น สินเชื่อเติบโต 3%   (เราคาดโต 2% YoY), NIM ที่ 3.0-3.3% (เราคาด 3.3%), รายได้ค่าธรรมเนียมโต Low to Mid-single digit (เราคาดโต 2% YoY), Cost/income ratio Low to Mid-40s (เราคาด 41.7%) และ Credit cost 120-130bps (เราคาด 150bps)

“ยังแนะนำ “ซื้อ”จาก Valuations ที่ถูกทั้งในด้านของ PER ที่เพียง 6.1 เท่าและ PBV ที่เพียง 0.5 เท่า และอัตราผลตอบแทนปันผลราว 5% ต่อปี”บล.บัวหลวงระบุ