HoonSmart.com>>”ทริสเรทติ้ง”คาดยอดขายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในปี 68 จะหดตัวลง 5-10% จากปีที่แล้ว จากอุปสงค์ในประเทศที่ยังอ่อนแอ ประกอบกับสถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ แต่คุณภาพสินเชื่อโดยรวมของผู้ประกอบการจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น รับผลดีจากชะลอปล่อยสินเชื่อใหม่ พร้อมคาดรายได้-กำไรปี 68 ของบริษัทเช่าซื้อรถโดยรวมยังเผชิญแรงกดดันจากหลายปัจจัย ทั้งสินเชื่อรวมหดตัว ต้นทุนการเงินสูง แต่มีลุ้นฟื้นตัวในครึ่งหลังปี 68 จากค่าใช้จ่ายด้านเครดิตที่จะค่อย ๆ ปรับดีขึ้น
บริษัท ทริสเรทติ้ง คาดว่า ยอดขายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในปี 2568 จะหดตัวลง 5%-10% จากปีที่แล้ว เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่ยังอ่อนแอ ประกอบกับสถาบันการเงินยังคงความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้การฟื้นตัวของตลาดเป็นไปอย่างจำกัด โดยรถยนต์เพื่อการพาณิชย์คาดว่ายังคงฟื้นตัวได้อย่างยากลำบาก แต่ไม่น่าจะหดตัวรุนแรงในอัตราเดียวกับที่เกิดขึ้นในปี 2567 เนื่องจากฐานที่ต่ำจากการปรับลดลงมากแล้ว ประกอบกับอาจได้รับแรงหนุนบางส่วนจากนโยบายภาครัฐที่คาดว่าจะออกมาในปี 2568 ซึ่งรวมถึงนโยบายการค้ำประกันหนี้ให้แก่ผู้ซื้อกระบะใหม่ ในด้านรถยนต์นั่งส่วนบุคคล แม้รถยนต์ hybrid จะยังขยายตัวได้ แต่โดยรวมตลาดรถยนต์นั่งยังคงเผชิญแรงกดดันจากอัตราหนี้สินต่อรายได้ของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ไม่ผ่านเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน ในส่วนยอดขายรถจักรยานยนต์ คาดว่ายอดขายอาจเติบโตได้เล็กน้อย แต่โดยรวมตลาดยังคงซบเซา เนื่องจากกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายระดับฐานรากยังอ่อนแอ ประกอบกับอัตราผลตอบแทนที่ถูกควบคุม ทำให้ผู้ให้บริการสินเชื่อไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อรองรับกลุ่มลูกค้านี้ได้ ต่างจากอดีตที่อัตราผลตอบแทนยังครอบคลุมและสามารถชดเชยความเสี่ยงของลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงได้
จากแนวโน้มยอดขายรถที่คาดว่าจะหดตัว ทริสเรทติ้งจึงมองว่าการเติบโตของธุรกิจเช่าซื้อจะยังคงชะลอตัวเช่นกัน ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่เอื้ออำนวย หนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ยังคงเป็นปัจจัยกดดันหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อในปี 2568 เพื่อรักษาคุณภาพสินเชื่อ และประคองผลการดำเนินงาน โดยผู้ประกอบการน่าจะยังคงมุ่งเน้นการเติบโตในกลุ่มลูกค้าที่มีประวัติสินเชื่อที่ดีเป็นหลัก
ทริสเรทติ้ง คาดว่าคุณภาพสินเชื่อโดยรวมของผู้ประกอบการจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในปี 2568 โดยได้รับผลดีจากการชะลอการปล่อยสินเชื่อใหม่ และการใช้เกณฑ์อนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดในปี 2567 ซึ่งจะยังคงดำเนินต่อเนื่องในปี 2568 นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือหรือบรรเทาการถดถอยของสินเชื่อจากภาครัฐก็จะช่วยลดผลกระทบได้บ้าง อย่างไรก็ตาม หากมีการขยายสินเชื่ออย่างไม่ระมัดระวัง อาจทำให้คุณภาพสินเชื่อไม่เป็นไปตามทิศทางอย่างที่คาดหวังว่าจะดีขึ้น
นอกจากนี้ ทริสเรทติ้ง คาดว่าการขาดทุนจากรถยึดจะทยอยปรับลดลง เนื่องจากราคารถมือสองเริ่มมีการสร้างฐานราคาใหม่ อีกทั้งอุปทานรถยึดที่จะออกมาสู่ตลาดประมูลในปี 2568 คาดว่าจะลดลง เนื่องจากสถาบันการเงินได้ดำเนินการอย่างเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้จำนวนหนี้เสียจากลูกหนี้ใหม่และจำนวนรถยึดลดลง รวมถึงมาตรการจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็น่าจะช่วยชะลอการยึดรถและจำนวนรถที่จะเข้าสู่ตลาด
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่อาจทำให้สถานการณ์ไม่เป็นไปตามคาดยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะจากการแข่งขันด้านราคาในตลาดรถยนต์ที่ยังคงรุนแรง ซึ่งอาจกดดันราคาของรถยนต์มือสองและส่งผลกระทบต่อการประเมินมูลค่ารถยึด ในส่วนธุรกิจเช่าซื้อรถเพื่อการพาณิชย์ คาดว่าการฟื้นตัวจะใช้เวลานานกว่าเช่าซื้อประเภทอื่น เนื่องจากตัวเลขมูลค่าสินทรัพย์รอการขายยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยังไม่มีสัญญาณของการชะลอตัว รวมถึงสภาพคล่องของตลาดรถบรรทุกที่น้อยกว่ารถขนาดเล็ก ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่อราคารถ ทำให้การขาดทุนจากรถยึดยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันกลุ่มเช่าซื้อรถเพื่อการพาณิชย์หรือรถบรรทุกในปี 2568 นี้
ทริสเรทติ้ง คาดว่ารายได้และกำไรของบริษัทเช่าซื้อยานพาหนะโดยรวมจะยังคงได้รับแรงกดดันในปี 2568 จากหลายปัจจัย เช่น รายได้ที่ลดลงจากสินเชื่อรวมที่หดตัว ต้นทุนทางการเงินที่ยังสูงจากการกู้ยืมใหม่ เพื่อชำระคืนเงินกู้เดิมแม้อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในทิศทางที่ปรับลดลง คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวของผลประกอบการที่ชัดเจนขึ้นในครึ่งหลังของปี 2568 จากค่าใช้จ่ายด้านเครดิตที่คาดว่าจะค่อย ๆ ปรับดีขึ้น ผลประกอบการของกลุ่มเช่าซื้อรถจักรยานยนต์น่าจะเห็นการฟื้นตัวไวที่สุด เนื่องจากยอดหนี้ต่อรายที่ต่ำกว่ารถยนต์ ทำให้สามารถจัดการกับหนี้เสียและรับรู้ผลกระทบได้เร็วกว่า แต่ในระยะยาว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้ารายย่อยฐานราก ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการกลับมาเติบโตของทั้งรายได้และกำไรอย่างยั่งยืน
ประเด็นสนับสนุนและเฝ้าระวังในปี 2568 คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ล่าช้าและไม่ทั่วถึง โดยเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การเพิ่มและกระจายรายได้ที่ยังไม่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ส่งผลต่อการจำกัดความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภค
ลูกหนี้ที่มีคุณภาพเครดิตเปราะบางทั้งในภาคธุรกิจและครัวเรือนยังมีจำนวนมาก สะท้อนจากตัวเลขอัตราส่วนสินเชื่อที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (special mention loans) ที่ปรับตัวขึ้น ลูกหนี้กลุ่มนี้ยังคงเผชิญแรงกดดัน ทำให้ผู้ประกอบการยังคงต้องบริหารคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิดและเข้มงวด พร้อมเร่งมาตรการติดตามหนี้เชิงรุกเพื่อลดความเสี่ยงที่ลูกหนี้จะตกชั้นเป็นลูกหนี้ด้อยคุณภาพ
การฟื้นตัวของธุรกิจเช่าซื้อรถเพื่อการพาณิชย์ยังคงต้องพึ่งพาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก หากเศรษฐกิจฟื้นตัวโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ทั้งจากการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐหรือภาคเอกชน จะช่วยกระตุ้นความต้องการในการใช้รถและลดผลกระทบการขาดทุนจากการลดลงของราคารถมือสอง มาตรการการค้ำประกันสินเชื่อก็จะช่วยให้การอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ระดับหรือขนาดของความสำเร็จยังต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและ ปริมาณสินเชื่อที่จะช่วยค้ำประกัน
การบริหารกระแสเงินสดอย่างระมัดระวัง ในภาวะที่ยังมีความอ่อนไหวในตลาดตราสารหนี้ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุน หลักอีกแหล่งหนึ่งของผู้ประกอบการ การบริหารกระแสเงินสดอย่างรอบคอบเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องให้ ความสำคัญต่อการสามารถชำระคืนหนี้ที่ถึงกำหนด โดยเฉพาะกรณีที่ไม่สามารถกู้ยืมใหม่ได้ มิฉะนั้นจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อมั่นและผลกระทบต่อธุรกิจในระยะยาว
ผลกระทบจากมาตรการภาษีของประเทศคู่ค้าของไทย มาตรการภาษีจากประเทศคู่ค้าของไทย อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยและส่งผลต่อความต้องการใช้รถของภาคธุรกิจ นอกจากนี้ ผลกระทบต่อภาคธุรกิจอาจส่งต่อผลกระทบมายังรายได้ของบุคคลากรในธุรกิจนั้นที่เป็นลูกหนี้ของผู้ประกอบการเช่าซื้อ กระทบต่อความสามารถในการช าระหนี้ในท้ายที่สุด
ตลาดรถยนต์โดยรวมยังคงเผชิญการแข่งขันด้านราคาจากการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งส่งผลต่อความผันผวนของราคารถยนต์สันดาปมือสองที่ยึดมาจากลูกหนี้
การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ความสนใจที่เพิ่มขึ้นในรถ EV และรถยนต์พลังงานทางเลือก เป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญในช่วงการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงหรือมีการชะลอการตัดสินใจซื้อรถคันใหม่ รวมถึงการประเมินค่าซากหรือราคาของรถ EV มือสอง
พระราชกฤษฎีกาที่กำหนดให้ ธปท. เป็นหน่วยงานก ากับดูแลธุรกิจเช่าซื้อได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นไปตั้งแต่ปี 2565 และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในปี 2566 แต่ ณ ปัจจุบันยังไม่มีการประกาศบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม การกำกับดูแลของ ธปท. คาดว่าจะช่วยยกระดับการดำเนินงานของธุรกิจเช่าซื้อให้มีมาตรฐานมากขึ้นในหลายด้าน อย่างไรก็ตาม การยกระดับดังกล่าวอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการมีเงื่อนไขและต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นบ้าง แต่คิดว่าไม่น่าจะกระทบอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งผู้ประกอบการบางรายก็มีการปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมในการถูกกำกับดูแลอยู่แล้ว โดยยึดหลักเกณฑ์ที่ ธปท. กำกับดูแลบริษัทที่เป็นบริษัทในกลุ่มของสถาบันการเงิน
———————————————————————————————————————————————————–