HoonSmart.com>>SCB EIC เตือนภาษีทรัมป์อาจทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะซอมบี้ในระยะยาว ปีนี้แนวโน้มกลิ้งลงเข้า ครึ่งปีหลังคาดโตแค่ 1% พร้อมเสนอให้ SMEs ใช้กลยุทธ์ 4Ps รับแรงกระแทกทางภาษีระยะยาว คาด 5 ปีส่งออกสหรัฐหายวูบ 8 แสนล้านบาท ร่วม 40% หวังรัฐเร่งออกมาตรการปกป้องการทุ่มตลาดจากสินค้าคุณภาพต่ำราคาถูกจากจีน
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวในหัวข้อ”ศึกภาษีทรัมป์ ถอดบทเรียนและกลยุทธ์สำหรับ SMEs”ว่า การเลื่อนขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐอเมริกา 90 วัน ขอประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่สามารถนิ่งนอนใจ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด จากภาวะเศรษฐกิจไทยไม่ได้แข็งแรง มีความเปราะบางจากหนี้ครัวเรือนสูงเกือบ 90% ของจีดีพี ติด 1 ใน 10 ของโลกที่มีหนี้ครัวเรือนสูงมาก
ประกอบกับ เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวต่ำสุดที่สุดในอาเซียน และต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก หลังจากโควิด-19 ระบาด จีดีพีไทยโตต่ำกว่า 2% และถ้าเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก 180 ประเทศ ไทยฟื้นตัวช้าอยู่ในลำดับ 160 ของโลก
“เศรษฐกิจภายในของเราเองมีความเปราะบางอยู่แล้ว ทั้งหนี้ครัวเรือนที่สูง แรงงานออกนอกระบบ การใช้จ่ายลด รายได้ฟื้นช้า เป็น”แผลเป็น”เชิงโครงสร้าง ยิ่งมาเจอความไม่แน่นอนจากภายนอกประเทศเข้ามากดดันเศรษฐกิจเพิ่ม บวกความอ่อนแอภายในทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าที่ผ่านมาค่อนข้างมาก”ดร.ปุณยวัจน์ กล่าว
ดร.ปุณยวัจน์ กล่าวว่า SCB EIC ได้ประเมินผลกระทบจากการขึ้นภาษี 36% ก็ได้ปรับจีดีพีต่ำกว่า 2% โดยจะมีการประเมินอีกครั้งหลังจากที่มีการระงับการขึ้นภาษี 90 วัน ปีนี้แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะกลับด้านเป็น”กลิ้งลงเขา” คือช่วงต้นปีเศรษฐกิจยังโต เพราะการขึ้นภาษียังไม่ส่งผลในระยะสั้นมากนัก แต่ในระยะยาวจะส่งผลแรงขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นไตรมาส 1 ยังเติบโตสูงอยู่ แต่หลังจากไตรมาส 2 เป็นต้นไปจะเริ่มไหลลง และครึ่งหลังของปีจะกลิ้งลงเขา คาดว่าจีดีพีจะโตแค่ 1% ในช่วงครึ่งปีหลัง
แตกต่างจากการเติบโตในอดีต ที่มีการเติบโตในลักษณะขึ้นเขา คือต้นปีโตต่ำ และจะโตเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 ,3 และสูงสุดในไตรมาส 4
สำหรับ ผลกระทบจากแผ่นดินไหว คาดว่าจะทำให้การท่องเที่ยวชะลอตัวลงตั้งแต่เมษายน และชะลอลงแรงในครึ่งหลังของปี 2568
ประกอบกับ จากความเปราะบางของเศรษฐกิจภายในประเทศ จากรายได้ที่ไม่ดี จะกดดันเศรษฐกิจไทยในระยะยาว แม้ในปัจจุบันจะมีมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐช่วยพยุงเศรษฐกิจระยะสั้นไว้ได้ แต่”ระยะยาวความช่วยเหลือจากภาครัฐที่มีจะจำกัดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” การบริโภคภายในประเทศยังไม่ฟื้น การส่งออกไม่โต การผลิตภาคเอสเอ็มอีที่ฟื้นตัวช้า รายได้ฟื้นตัวช้า การบริโภคจะชะลอตัวไปอีกนาน ทำให้การลงทุนชะลอตัวลงไปนับจากวันนี้ เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่”ภาวะผีดิบ หรือ ซอมบี้” เติบโตต่ำ
“ด้วยจำนวนบริษัทที่อยู่ในกลุ่มขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ เอสเอ็มอี ที่มีจำนวนมากคิดเป็น 90% ของจำนวนบริษัททั้งประเทศ แต่สร้างรายได้ให้เศรษฐกิจเพียง 15% เท่านั้น ส่วนจำนวนบริษัทขนาดใหญ่มีเพียง 10% แต่สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจสูงถึง 85% การถูกขึ้นภาษีจะยิ่งซ้ำเติมความสามารถของเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มที่พึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯจะได้รับผลกระทบหนัก”ดร.ปุณยวัจน์ กล่าว
ดร.ปุณยวัจน์ กล่าวว่า ภาครัฐต้องเร่งกำหนดความชัดเจนถึงแผนงานในการช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีออกมาโดยเร็วหลังจากประกาศชัดว่ามีมาตรการช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ โดยมองว่ารัฐต้องออก
1.มาตรการปกป้องสินค้าเอสเอ็มอี ยกระดับความสามารถของเอสเอ็มอี ที่ปัจจุบันทำกันอยู่แล้ว แต่มองว่าสามารถที่เพิ่มขึ้นได้อีก ทั้งนี้เพื่อป้องกันสินค้าคุณภาพต่ำ ราคาถูก ทะลักเข้ามาไทย ที่คาดว่าส่วนใหญ่จะมาจากจีน เพราะเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่ถูกขึ้นภาษีนำเข้าถึง 124% อาจจะเกิดการทุ่มตลาดได้
2.ช่วยปรับโครงสร้างหนี้เอสเอ็มอีอย่างเร่งด่วน จากปัจจุบันที่กำลังทำอยู่แล้วบางส่วนเช่น การปรับโครงสร้างหนี้ ต้องมีมาตรการเพิ่มเติมออกมาอีก เช่น อาจจะยืดเวลาการชำระหนี้ การขยายหนี้
3.บังคับใช้กฎหมายกับสินค้านำเข้าที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย
4.รัฐบาลต้องเร่งสื่อสารกับผู้ประกอบการ นักลงทุน ว่ากำลังทำอะไรอยู่ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
ธุรกิจไหนเจอหนัก
น.ส. โชติกา ชุ่มมี ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิต กล่าวในหัวข้อ”ศึกภาษีทรัมป์ ถอดบทเรียนและกลยุทธ์สำหรับ SMEs”ว่า กลุ่มธุรกิจที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯสูง จะได้รับผลกระทบทางตรงต่อการส่งออกสหรัฐ เช่น สินค้าอิเล็คทรอนิกส์ และสินค้าขั้นกลางและขั้นปลายที่พึ่งพาตลาดจีนสูง ขณะที่กลุ่มการส่งออกสินค้าขั้นกลางที่เป็นห่วงโซ่การผลิตไปยังจีนจะได้รับผลกระทบทางอ้อม
ในระยะสั้น การยืดช่วงเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐ ไทยอาจจะส่งออกได้เพิ่มขึ้น จากการที่ผู้นำเข้าอาจจะสั่งซื้อสินค้าจากไทยแทนจากจีนที่ราคาสูงขึ้น หรือ ประเทศคู่ค้ายังหาสินค้าทดแทนสินค้าไทยไม่ได้ ก็ยังนำเข้าจากไทยอยู่ แต่คาดว่าการส่งออกช่วง10 เดือนที่เหลือชะลอตัว โดยคาดว่าปีแรกที่ไทยถูกขึ้นภาษีนำเข้า 36% จะกระทบการส่งออก 0.26% ต่อปี
การขึ้นภาษีเป็นหนังม้วนยาวที่ต้องติดตามต่อไป ถ้ายึดตัวเลขที่ไทยถูกขึ้นภาษี 36% ความรุนแรงของผลกระทบมีแนวโน้มสูงขึ้นถ้าเวลานานขึ้น ซึ่งจากการประเมินผลกระทบตั้งแต่ปีที่ 5 ถึงปีที่ 10 ส่งออกไทยจะติดลบปีละ 2% มูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา จะลดลงสะสมรวมกันปีที่ 5-ปีที่ 10 ราว 8 แสนล้านบาท หรือราวๆ กว่า 40% ถือว่าไม่น้อยเลย จากมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันราว 1.9 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้เสมอ ผู้ประกอบการต้องติดตามอย่างใกล้ชิด สิ่งที่คาดการณ์อาจเปลี่ยนไป หากนโยบายของทรัมป์เปลี่ยน
กลยุทธ์ 4Ps รับแรงกระแทกจากภาษี
น.ส. โชติกา แนะนำ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเอาตัวรอดด้วยกลุยทธ์ 4Ps เพื่อรับแรงกระแทกทางภาษี และใช้วิกฤตทำการซ่อม สร้างโครสร้างการผลิตให้แข็งแกร่ง ประกอบด้วย
1.Product ต้องวิจัยพัฒนาสินค้า สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง เป็นจุดแข็งที่ทำได้ และเพิ่มมูลค่าสินค้า
2.Place กระจายตลาดส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ให้มีความหลากหลาย หรือ หันมาเพิ่มดีมานด์ในประเทศ ลดความผันผวนการพึ่งพาการบริโภคจากต่างประเทศ
3.Preparedness เตรียมรับแรงกระแทกระยะยาว ด้วยการจัดหาแหล่งวัตถุดิบ การบริหารจัดการหนี้
4.Productivity นำเอาเทคโนลยีเข้ามาผลิต การหาพาร์ทเนอร์หรือควบรวมกิจการ ช่วยทำในสิ่งที่ไม่ถนัด
ทั้งนี้ เพื่อทำให้ตัวเองมีแต้มต่อในการรับมือกับสงครามมากขึ้น
ข้าวยังมีแต้มต่อ
น.ส.โชติกา กล่าวว่า ในการรับมือระยะสั้น ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าที่มีแต้มต่อ คือผลิตได้คนเดียว สินค้ามีคุณภาพที่ดีกว่าคู่แข่ง สหรัฐยังจำเป็นสั่งซื้อจากไทยประเทศเดียว สินค้ากลุ่มนี้ใช้กลยุทธ์การส่งออกแบบเดิม เช่น ข้าว น่าจะได้รับผลกระทบต่ำ เพราะข้าวที่ส่งไปสหรัฐฯเป็นข้าวหอมมะลิ มีแต้มต่อพอสมควร และมีความยืดหยุ่นต่ออุปสงค์ราคาค่อนข้างต่ำ ผลกระทบต่อการบริโภคและการนำเข้าไม่เปลี่ยนแปลงมาก
นอกจากนี้ ตลาดข้าวโลกในช่วง 1-3 เดือนยังนิ่ง เพราะทุกประเทศมีสต็อคข้าวอยู่พอสมควร ในระยะต่อไปอาจจะสบายใจได้มากกว่าสินค้ากลุ่มอื่นๆ
“สินค้าที่เราประเมินผลกระทบจากการขึ้นภาษีมีประมาณ 500-600 กลุ่มสินค้า แต่ที่ยกมาคือสินค้าที่ได้รับผลกระทบสูงจากการส่งออกไปสหรัฐมากกว่า 50% ซึ่งสินค้ากลุ่มอื่นๆ อาจต้องพิจารณาข้อได้เปรียบและข้อด้อยของตัวเอง”น.ส.โชติกา กล่าว
กรณี สินค้าที่มีของถดแทนง่าย ไม่มีอำนาจในการต่อรอง แต่ยังมีกำไร เมื่อลดราคาลงมาแล้ว บวกภาษีนำเข้า 36% ยังพอไปได้ก็อาจจะลดลง หรือ อาจเจรจากับคู่ค้าเพื่อแบ่งปันต้นทุนร่วมกัน หรือ หาช่องทางจากกรอบ FTA สิทธิพิเศษข้อตกลงทางการค้าที่มีแต้มต่อ ควบคู่กับการทำ 4Ps
ขณะที่ นโยบายดอกเบี้ย และค่าเงิน คิดว่ารัฐคงมีการเตรียมการอยู่ คิดว่าน่าจะออกมาหลังจากนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี”น.ส.โชติกา กล่าว