บลจ.เอ็มเอฟซี ส่งกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี แวลู อินเวสติง (M-VI) ลงทุนตราสารทุนทั่วโลกยึดหลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing) รับมือตลาดผันผวน เปิดขายครั้งแรกวันนี้-15 พ.ค.61 ป้องกันความเสี่ยงค่าเงินตามดุลยพินิจผู้จัดการกองทุน
น.ส.ประภา ปูรณโชติ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี (MFC) เปิดเผยว่า กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี แวลู อินเวสติง (M-VI) ถือเป็นกองทุนรวมต่างประเทศที่ยึดแนวทางการลงทุนแบบ Value Investing อย่างแท้จริง และมีจุดมุ่งหมายคือ ทำให้สินทรัพย์เติบโตขึ้น มีความยืดหยุ่นในการลงทุนทั้งในอุตสาหกรรมและในตลาดทุนประเทศต่างๆทั่วโลก มีการกระจายความเสี่ยงโดยลงทุนทั้งหุ้น และตราสารหนี้ โดยเน้นธุรกิจดีในราคาที่ยอดเยี่ยม หรือธุรกิจยอดเยี่ยมที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืนในราคาที่ดี และบริหารกองทุนโดยมุ่งเป้าหมายสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
กองทุนเปิด M-VI จะลงทุนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว คือ First Eagle Amundi International Fund ในชนิดหน่วยลงทุน “IU2-C share class USD” ในสกุลเงินเหรียญสหรัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อหาผลตอบแทนจากการเติบโตของเงินลงทุนผ่านการกระจายการลงทุนในทุกประเภทสินทรัพย์ และใช้หลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่า โดยจะลงทุนอย่างน้อย 2 ใน 3 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิในตราสารทุน ตราสารที่ให้ผลตอบแทนเชื่อมโยงกับตราสารทุน และตราสารหนี้
กองทุนดังกล่าวยึดหลัก Value Investing และเน้นการลงทุนแบบ Making More by Losing Less โดยการแสวงหาหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง (Margin of Safety) อย่างน้อย 30% ตลอดจนมีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม รวมถึงอาจลงทุนในทองคำบางส่วนอีกด้วย โดยกองทุนจะแสวงหาหุ้นที่มี Superior Business Models ด้วยการวิเคราะห์หุ้นและทำความเข้าใจธุรกิจอย่างลึกซึ้ง ประเมินความเสี่ยงด้านต่างๆ หาราคาหุ้นที่แท้จริง อดทนรอโอกาสซื้อในราคาที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงเช่น ราคาหุ้นสูงเกินมูลค่าที่แท้จริง หุ้นที่มีหนี้สูง และมีโมเดลทางธุรกิจที่ผันผวนสูง เป็นต้น
จากความเห็นของสายบริหารกองทุนของเอ็มเอฟซี มองสถานการณ์การลงทุน ราคาสินทรัพย์เสี่ยงยังน่าจะปรับตัวขึ้นได้ ด้วยปัจจัยบวกจากผลกำไรที่เติบโตของบริษัทในตลาดทุน เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตได้ดีประกอบกับการกระตุ้นเศรษฐกิจทางด้านการคลัง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะปรับเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผ่านจุดต่ำสุด แต่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1) แนวโน้มการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่อาจรุนแรงขึ้นเป็น Trade War 2) โอกาสที่อัตราเงินเฟ้ออาจปรับสูงขึ้นกว่าคาด 3) ธนาคารกลางสหรัฐ และยูโรอาจดำเนินนโยบายผิดพลาดส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง