HoonSmart.com>>ตลาดหลักทรัพย์ พร้อมนำมาตรการอื่นมาใช้เพื่อสกัดความผันผวนของตลาด หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น หลังสิ้นสุดใช้เกณฑ์ Ceiling/Floor 15% และห้ามชอร์ตเซล 11 เม.ย.นี้ ยืนยันกองทุนวายุภักษ์ไม่ได้ขายหุ้นออก ด้วยกฎ ACR ยังอีกห่างไกลที่จะขาย ส่วนหุ้นไทยมี.ค.ดัชนี SET ลดลง 3.8% จากเดือนก่อน มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวัน 38,491 ล้านบาท ลดลง 10% จ มาตรการภาษีฯ”ทรัมป์”ไม่กระเทือนหุ้นไทยมาก ตั้งแต่ 2-8 เม.ย.หุ้นไทย -8.4% เทียบเวียดนาม -14%
นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังสิ้นสุดระยะเวลาการใช้เกณฑ์ Ceiling/Floor 15% และห้าม Short Sell ในวันที่ 11 เม.ย.ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของกาใช้เกณฑ์นี้ชั่วคราว ทางคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ก็มีความพร้อมที่จะพิจารณานำเกณฑ์อื่นมาใช้เพื่อรองรับความผันผวนของตลาด หากต้องเผชิญกับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดโดยหลังจากที่ปรับใช้เกณฑ์ Ceiling/Floor 15% พบว่า SET ร่วงไป 4.5% และหุ้นในกลุ่ม SET100 มีเพียง 2 หุ้นที่มารอแตะฟลอร์เท่านั้น ซึ่งถ้าไม่มีเกณฑ์ใหม่นี้ก็อาจจะลงแค่นี้เหมือนกัน
“บอร์ดพร้อมร่วมประชุม มีการคุยกันตลอด แม้แต่วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ก็ยังติดตามสภาวะตลาดทั่วโลก เรายังพอมีมาตรการที่พร้อมจะนำมาใช้ แต่ก็ต้องดูว่าอะไรจะผ่อนคลาย หรืออะไรจะหนักขึ้น ตัวอย่างที่ทางตลาดทำก็คือ ก่อนหน้านี้ก็มีการพิจารณาจะลดเกณฑ์ของ”เซอร์กิตเบรกเกอร์”ไหม? แต่ทางเราก็ตัดสินใจไม่ลด เพราะมีมาตรการ Ceiling/Floor ที่ลดเหลือ 15% เพียงพอที่จะช่วยได้ นี่ก็เป็นตัวอย่างที่พิจารณาเพิ่มเติมได้”
ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ณ วันนี้ทางกองทุนวายุภักษ์ยืนยันว่าไม่มีการขายหุ้นออกมา ด้วยกฏ ACR (Asset Coverage Raio) ยังอยู่อีกห่างไกล จากวันนี้ลงไป 20% ถึงจะมีผลกระทบ นอกจากนี้ มาตรการฐานของตลาดจะมีการวิเคราะห์ข้อมูลให้ดี และเป็นจริงด้วย ณ วันนี้ตลาดทั่วโลก Sensitive มากกับข้อมูล ดังนั้นจะต้องตั้งสติก่อนวิเคราะห์ข้อมูล ข้อดีของตลาดหุ้นไทยคือ ข่าวในประเทศนิ่ง และหุ้นลงมามากแล้ว ดูได้จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวกระทบตลาดน้อย แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมยังแข็งแรง แค่นักลงทุนอาจอยู่ในพื้นฐานที่อยากให้เติบโตกว่านี้ พร้อมให้รับฟังคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีอย่างใกล้ชิด จะมีท่าทีที่จะไปคุยกับสหรัฐอย่างไรบ้าง เกี่ยวกับมาตรการตอบโต้ภาษีของสหรัฐที่คิดกับไทย 36%
“ทุกวิกฤตสร้างแรงกดดันให้เราปรับปรุงตัวเอง…ทุกวันนี้บริษัทจดทะเบียนต้องคิดแล้ว สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และสร้างความผันผวนแบบนี้ เขาจะทำยังไง”
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.-8 เม.ย.2568 หุ้นไทยปรับตัวลงไป 8.4% จากผลกระทบมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯที่ประกาศออกมา ซึ่งถือว่าไม่กระเทือนมาก เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเวียดนามที่ -14% ส่วนประเทศที่ไม่ค้าขายกับสหรัฐฯก็จะปรับตัวลงน้อย ซึ่งตอนนี้ก็ยังต้องติดตามดูมาตรการภาษีฯของ”ทรัมป์”ต่อไป
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 ผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวซึ่งกระทบกับกลุ่มขนส่ง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มประกันภัย และกลุ่มรับเหมา ทำให้ผู้ลงทุนมีความกังวลว่าอาจมีบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มดังกล่าว อาจได้รับผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ แต่หากพิจารณาจากอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ พบว่า บริษัทจดทะเบียนยังมีความเข้มแข็งและน่าจะสามารถผ่านสถานการณ์ครั้งนี้ไปได้ อีกทั้ง SET Index ช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก ทำให้ Valuation ของหลักทรัพย์อยู่ในระดับที่น่าสนใจ ดังนั้น เริ่มเห็นสัญญาณ บจ. ไทยเข้ามาช่วยหนุนมูลค่าบริษัทของตัวเองโดยการเข้ามาซื้อหุ้นคืน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน ขณะที่ Value Stock เริ่มมี downside ที่จำกัด
ตลาดหุ้นไทยเดือนมีนาคม 2568 SET Index ปิดที่ 1,158.09 จุด ปรับลดลง 3.8% จากเดือนก่อนหน้า ปรับลดลงมากกว่าตลาดภูมิภาค ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2568 SET Index ปรับลดลง 17.3% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2567 ได้แก่ กลุ่มการเงิน กลุ่มทรัพยากร กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มเกษตรและอาหาร และ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์
มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 38,491 ล้านบาท ลดลง 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และในช่วงไตรมาส 1/2568 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมฯ อยู่ที่ 42,826 ล้านบาท ลดลง 6.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 21,852 ล้านบาท ส่งผลให้ในไตรมาส 1/2568 ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 39,978 ล้านบาท
วันที่ 8 เมษายน 2568 SET Index ปิดที่ 1,074.59 จุด ลดลง 4.50% มูลค่าการซื้อขายรวม 66,714 ล้านบาท สะท้อนแรงกดดันที่เกิดขึ้นจากความวิตกต่อมาตรการภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้ 9 เมษายน 2568 โดยนับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศนโยบาย “Liberation Day” SET Index ปรับลดลง 8.4% สอดคล้องกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค
ด้าน Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 12.2 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 11.4 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 15.2 เท่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.9 เท่า
อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 4.24% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.34%
ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) เดือนมีนาคม 2568 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 519,619 สัญญา เพิ่มขึ้น 7.1% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้นของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures ทำให้ในปี 2568 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 463,656 สัญญา ลดลง 4.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures และ Gold Online Futures