HoonSmart.com>> ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้ง 3 ดัชนีหลักปิดร่วง ดาวโจนส์ลบ 320 จุด ด้านดัชนี S&P 500 ปิดต่ำกว่า 5,000 จุด เป็นครั้งแรกในรอบเกือบปี วิตกทรัมป์เดินหน้าเก็บภาษี ติดตามสถานการณ์ประเทศต่างๆ ตอบโต้สหรัฐฯ ด้าน “ราคาน้ำมันดิบ WTI” ลดลง 1.12 ดอลลาร์/บาร์เรล ฟาก “ตลาดหุ้นยุโรป” ฟื้นตัวปิดบวกหลังถูกขายหนัก 4 วันติด
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average: DJIA) วันที่ 8เมษายน 2568 ปิดที่ 37,645.59 จุด ลดลง 320.01 จุด หรือ -0.84%
ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดที่ต่ำกว่า 5,000 จุด เป็นครั้งแรกในรอบเกือบปี นักลงทุนกลับมามีความกังวลอีกครั้งและความคาดหวังต่อการผ่อนปรนภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯก่อนเที่ยงคืนซึ่งเป็นเส้นตายลดลง
ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 4,982.77 จุด ลดลง 79.48 จุด หรือ -1.57%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,267.91 จุด ลดลง 335.35 จุด หรือ -2.15%
ในช่วงเช้าตลาดฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง จากการเข้ามาช้อนซื้อเพราะนักลงทุนเห็นว่าตลาดมีการขายมากเกินไป (oversold) และนักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นมากขึ้นจากสัญญาณที่สหรัฐฯ จะเจรจาข้อตกลงที่จะลดภาษีศุลกากรกับคู่ค้ารายใหญ่
ประธานาธิบดีทรัมป์โพสต์บน Truth Social เมื่อวันอังคารว่าเขามี การสนทนาที่ดีเยี่ยม” กับรักษาการประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ซึ่งช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่น ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สก็อตต์ เบสเซนต์ ตอบรับกับการเริ่มต้นการเจรจาการค้าทวิภาคีกับญี่ปุ่น และกล่าวว่ามีรัฐบาลประมาณ 70 ประเทศได้ติดต่อติดต่อสหรัฐฯ เพื่อเจรจาเรื่องภาษีศุลกากร
แต่ในช่วงบ่ายตลาดปรับตัวลงอย่างหนัก โดยหุ้น Apple นำตลาดลงและปิดตลาดลดลงเกือบ 5% หลังจากเพิ่มขึ้นมากกว่า 4% ในช่วงเช้า เนื่องจากเข้าใกล้เวลาที่ภาษีศุลกากรตอบโต้ท(reciprocoal tariffs)ใหม่จะเริ่มมีผลบังคับใช้หลังเที่ยงคืนเล็กน้อย นอกเหนือจากภาษีศุลกากรพื้นฐาน 10% ที่บังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันเสาร์
ตลาดยังได้รับแรงกดดันมากขึ้นเมื่อ แคโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว กล่าวเมื่อบ่ายวันอังคารว่า จะบังคับใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ตามกำหนดในวันที่ 9 เมษายน และเดินหน้าเก็บอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มอีก 50% รวมเป็น 104% อัตราภาษีดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในเวลา 00:01 น. ตามเวลาสหรัฐฯ
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ขู่จีนว่าจะเพิ่มภาษีนำเข้าอีก 50% หากจีนไม่ยกเลิกภาษีนำเข้า 34% ที่เก็บจากสินคาสหรัฐภายในวันที่ 8 เมษายน
นอกจากนี้ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เจมีสัน เกรียร์ กล่าวเมื่อวันอังคารว่า ไม่คาดว่าจะมีการยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกในระยะใกล้นี้
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 4,500 จุดใน 4 วันติดต่อ ส่วนดัชนี S&P 500 ใกล้จะเข้าสู่ตลาดหมีเล็กน้อย โดยลดลงเกือบ 19% จากระดับสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ และปิดตลาดต่ำกว่า 5,000 จุดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2024 ในช่วง 4 วันที่ผ่านมา ดัชนี S&P 500 ลดลงมากกว่า 12% และดัชนี Nasdaq ร่วงลงกว่า 13% ในช่วง 4 วันที่ผ่านมา
ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุน พุ่งขึ้น 11.39% ปิดที่ระดับ 52.33 ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020
หุ้นกลุ่มวัสดุลดลง 2.96% หุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยลดลง 2.54% แต่หุ้นบริษัทประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น โดยหุ้น UnitedHealth Group บวก 5.4% หลังจากสหรัฐฯ ประกาศเพิ่มอัตราการจ่ายเงินให้กับบริษัทประกันภัยเอกชนที่เข้าร่วมโครงการแผนสุขภาพ Medicare Advantage ปี 2025 เป็น 5.06%
ความกังวลว่าการขึ้นภาษีศุลกากรที่เข้มงวดของสหรัฐฯ อาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ทำให้บางส่วนเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามมา
อย่างไรก็ตาม แมรี่ ดาลีย์ ประธานเฟด กล่าวเมื่อบ่ายวันอังคารว่า แม้เศรษฐกิจจะแข็งแกร่งแต่ยังมีอีกหลายสิ่งที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบของนโยบายใหม่ของรัฐบาลทรัมป์ เฟดไม่ควรเร่งปรับอัตราดอกเบี้ย
นักลงทุนจับตาการรายงานผลประกอบการของธนาคารรายใหญ่ ทั้ง JPMorgan Morgan Stanley และ Wells Fargo ในวันศุกร์นี้ จะรายงานผลประกอบการ
นอกจากนี้ยังจับตาการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจหลายรายการ ทั้งดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมีนาคม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนเมษายนจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ เพื่อประเมินสัญญาณภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างใกล้ชิด
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกและฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือนจากที่มีการขายอย่างหนักติดต่อกัน 4 วัน ขณะที่นักลงทุนจะยังคงติดตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ต่อการตอบสนองของประเทศต่างๆ ต่อมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ
ดัชนี STOXX 600 ของยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.7% หลังจากที่ร่วงลงกว่า 12% ในช่วง 4 วันที่ผ่านมา หุ้นทั่วโลกฟื้นตัวขึ้นบ้างในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา แม้นักลงทุนจะกังวลเกี่ยวกับ
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกที่อาจเกิดขึ้นจากสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น
ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ 486.91 จุด เพิ่มขึ้น 12.90 จุด, +2.72%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,910.53 จุด เพิ่มขึ้น 208.45 จุด, +2.71%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,100.42 จุด เพิ่มขึ้น 173.30 จุด, +2.50%
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 20,280.26 จุด เพิ่มขึ้น 490.64 จุด, +2.48%
คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอให้กำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตรา 25% เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เพื่อตอบโต้จากที่สมาชิก 27 ประเทศกำลังเผชิญกับการเก็บภาษีนำเข้าต่อสินค้าประเภทรถยนต์และเหล็กที่บังคับใช้อยู่แล้ว และยังเผชิญกับการเก็บภาษีนำเข้าต่อสินค้าประเภทอื่นๆ ในอัตรา 20% ตั้งแต่วันพุธเป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการยุโรปได้ผ่อนปรนข้อเสนอเบื้องต้นบางส่วน โดยได้ถอดสินค้าบางรายการออกจากรายการ เช่น เบอร์เบินของสหรัฐฯ นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปยังเสนอข้อตกลงเก็บภาษีนำเข้าแบบ “ศูนย์ต่อศูนย์” แก่รัฐบาลสหรัฐฯ อีกด้วย
JP Morgan คาดว่าธนาคารกลางยุโรป(ECB) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยติดต่อกัน 2 ครั้งในการประชุม 4 ครั้งถัดไป และคาดการณ์ว่า GDP จะได้รับผลกระทบ 1.5% ภายในสิ้นปี 2025 จากสงครามการค้า แต่มองว่ายูโรโซนจะหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้
บริษัทเภสัชกรรมในยุโรปเตือนประธานคณะกรรมาธิการยุโรปว่าภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมย้ายฐษนออกจากยุโรปและมุ่งหน้าสู่สหรัฐฯ เร็วขึ้น
หุ้นทุกกลุ่มของยุโรปปรับตัวสูงขึ้น นักลงทุนแห่ซื้อหุ้นกลุ่มป้องกันประเทศ ดัชนีหุ้นกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 5.1% ทำให้เป็นหนึ่งในกลุ่มหุ้นที่ทำผลงานดีที่สุดในยุโรปในปีนี้
หุ้นกลุ่มธนาคารซึ่งได้รับผลกระทบหนักจากความกังวลเรื่องการเติบโตที่ชะลอตัว กลับเพิ่มขึ้น 2.3% และหุ้นกลุ่มประกันภัยเพิ่มขึ้น 4.1%
ASML ผู้ผลิตอุปกรณ์ชิปของเนเธอร์แลนด์และ AstraZeneca ของอังกฤษเป็นปัจจัยหนุน STOXX 600 มากที่สุด โดยเพิ่มขึ้น 4.3% และ 3.2% ตามลำดับ
ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม ลดลง 1.12 ดอลลาร์ หรือ 1.85% ปิดที่ 59.58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนมิถุนายนลดลง 1.39 ดอลลาร์ หรือ 2.16% ปิดที่ 62.82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
———————————————————————————————————————————————————–