GULF พร้อมเดินหน้าสร้าง LNG Terminal ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 กลางปี 68

HoonSmart.com>>”กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์” (GULF) เผยความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 พร้อมก่อสร้างท่าเทียบเรือก๊าซและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal) ตามแผนกลางปี 68 รองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) หนุนธุรกิจก๊าซของกลุ่ม เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถนำเข้า LNG รองรับความต้องการ

บริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) แจ้งความคืบหน้าของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ว่า เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2568 กลุ่มบริษัทฯ ได้รับจดหมายยืนยันจาการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สำหรับการรับงานถมทะเลในการพัฒนาโครงการระยะที่ 1 (Infrastructure) และอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้างในส่วนของโครงการในระยะที่ 2 (Superstructure) ได้แก่ ท่าเทียบเรือก๊าซและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal) ซึ่งมีแผนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างกลางปี 2568

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่การก่อสร้างท่าเทียบเรือก๊าซและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal) แล้วเสร็จ ท่าเทียบเรือดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ในการรองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อสนับสนุนธุรกิจก๊าซของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งปัจจุบัน กลุ่มบริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper License) สำหรับนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวในปริมาณรวม 7.8 ล้านตันต่อปี เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้า กัลฟ์ พีดี โรงไฟฟ้า กัลฟ์ เอสอาร์ซี และโรงไฟฟ้าหินกอง

ทั้งนี้ ท่าเทียบเรือดังกล่าวจะถือเป็นสถานีแห่งที่ 3 ของประเทศไทย และจะมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อนึ่ง บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด (GMTP) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมที่ GULF ถือหุ้น ร่วมกับบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ในสัดส่วน 70% และ 30% ตามลำดับ ลงนามในสัญญาร่วมทุนระหว่าง ภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership) กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นระยะเวลา 35 ปี เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 โดยแบ่งงานออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1: งานออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ได้แก่ งานขุดลอกและถมทะเลในพื้นที่ ประมาณ 1,000 ไร่ การก่อสร้างแนวกันคลื่น การก่อสร้างท่าเรือบริการ การก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค และงานอื่น ๆ ที่ เกี่ยวข้อง

ระยะที่ 2: งานออกแบบ ก่อสร้าง และประกอบกิจการท่าเทียบเรือก๊าซและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (Superstructure) บนพื้นที่ถมทะเล ประมาณ 200 ไร่ เพื่อรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวไม่ต่ำกว่า 5 ล้านตันต่อปี (สำหรับท่าเรือก๊าซส่วนแรก) และส่วนขยายไปจนถึง 10.8 ล้านตันต่อปี