“จีน กล้าชน สหรัฐ” ราคาสินทรัพย์ดิ่งทั่วโลก ถือเงินสดดีสุด ฝืนไม่ไหวตปท.ทิ้งหุ้นไทย 6 พันลบ.

HoonSmart.com>>ในสัปดาห์นี้ (7-11 เม.ย.2568) โลกจะวิกฤตมากแค่ไหน ราคาสินทรัพย์จะดิ่งลงแรงอีกเท่าไร หลังจากหุ้นสหรัฐและยุโรปร่วงระนาว 5% ทองคำและน้ำมันทรุดหนัก จะต้องจับตา”ทรัมป์” จัดการกับจีนอย่างไร หลังจากกล้าตอบโต้ขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐ 34% เท่ากับที่จีนถูกรีดรอบนี้ รอบแรก 20% รวมต้องจ่ายสูงลิ่ว 54% สถานการณ์ “ช้างชนช้าง” หญ้าแพรกก็แหลกลาญ ตลาดหุ้นไทยจะทรุดลงแรงอีกเท่าไร ดัชนี 1,100 และ 1,000 จะต้านทานไหวหรือไม่ยังต้องลุ้น…

นักวิเคราะห์ต่างหนักใจ เมื่อเห็นนักลงทุนต่างชาติทิ้งโครมหุ้นไทยมากถึง -6,398.76 ล้านบาท และ TFEX อีก-33,409 สัญญาเมื่อวันศุกร์ทมิฬที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา จนทำให้ดัชนี SET ลงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีที่ 1,122.51 จุด ก่อนฟื้นขึ้นเล็กน้อยปิดที่ 1,125.21 จุด ร่วงลง
-36.60 จุด หรือ -3.15% มากที่สุดในเอเชีย ในสัปดาห์นี้ได้แต่หวังว่าจะชะลอการขายลงบ้าง แต่ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น สงครามการค้าน่าจะยังคงยืดเยื้อและทวีความรุนแรง จึงให้คำแนะนำให้ชะลอการเข้าซื้อหุ้น ถือเงินสดเตรียมกระสุนไว้มากที่สุด รอเวลาช้อนดีกว่า

นักลงทุนจะต้องติดตามว่าไทยจะสามารถเจรจาต่อรองลดภาษีโหดจาก 36% ลงมาเหลือเท่าไร ที่สำคัญจะต้องลงมาอยู่ต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง เวียดนาม (46%) อินโดนีเซีย (32%)และมาเลเซีย (24%)  ขณะที่ทรัมป์ประกาศพร้อมเจรจากับเวียดนาม เลื่อนมาตรการภาษีออกไป  3 เดือน เสนอลดภาษีสินค้าสหรัฐฯ เหลือ 0% เพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย หากเวียดนามได้เงื่อนไขที่ดีกว่า นักธุรกิจไทยคงจะเหนื่อยอีกไม่น้อย

ขณะนี้ได้แต่หวังว่าไทยจะสามารถต่อรองลดภาษีลงมาได้พอสมควร  เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยในการประชุม 30 เม.ย.นี้ จะมีมติปรับลดดอกเบี้ยนโยบายมาช่วยกอบกู้สถานการณ์ช่วงสั้น ๆ แม้ว่าประธานธนาคารกลางสหรัฐ จะออกมาแสดงท่าทีว่าสงครามการค้ารุนแรงจะก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้สหรัฐไม่สามารถรีบลดดอกเบี้ยลงเร็วๆนี้ก็ตาม

ทางด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2568 ได้มีการเรียกประชุมด่วนทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกา เพื่อระดมสมองหามาตรการต่างๆ หลังจากไทยถูกเรียกเก็บภาษีสูงถึง 36% มากกว่าที่ภาครัฐและเอกชนคาดการณ์ไว้เกือบ 3 เท่าตัว ตีมูลค่าความเสียหายจากการขึ้นภาษีดังกล่าว ราว 8-9 แสนล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ ยานยนต์ อาหาร พลาสติก และเคมีภัณฑ์ ทำให้สินค้าไทยเสียเปรียบคู่แข่ง

ตั้งแต่เดือนมี.ค. 2568 อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ถูกเก็บภาษีในอัตรา 25% หากปรับเพิ่มเป็น 36%  อาจส่งผลต่อการตัดสินใจของบริษัทแม่ในการย้ายฐานการผลิต ส่วนอุตสาหกรรมอาหาร ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะอาหารแปรรูปและสินค้าประมง เช่น ปลาทูน่าและกุ้งแปรรูป เดิมมีอัตราภาษี 0% แต่ถูกปรับขึ้นเป็น 36% ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย อุตสาหกรรมพลาสติก  มูลค่าธุรกิจ  5-6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  อาจทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและสูญเสียส่วนแบ่งตลาด อุตสาหกรรมเคมี มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 11% ของทั้งหมด ซึ่งอาจลดลง

“เบื้องต้นมีกรอบสินค้าเกษตรหลายตัวที่จะเปิดให้มีการนำเข้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสินค้าหนัก อาทิ อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องบินรบ โดรน เป็นต้น ภาครัฐต้องเร่งเจรจาต่อรอง ไม่ใช่แค่ลดการเกินดุลการค้าสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ต้องเร่งแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา ต้องออกมาตรการเร่งด่วนเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศไม่ให้เข้ามาทุ่มตลาดเหมือนปัจจุบัน”นายเกรียงไกรกล่าว

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีหุ้นไทยลดลงมาก หลังสหรัฐฯจะเก็บภาษีจากไทย 36% ว่า ปัจจัยสหรัฐเก็บภาษีนำเข้าส่งผลกระทบให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง และมีหลายประเทศที่ดัชนีหุ้นปรับตัวลดลงมากกว่าไทย โดยเฉพาะประเทศที่มีการส่งออกไปสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก ส่วนหุ้นจะกลับขึ้นมาที่เดิมได้หรือไม่นั้น ต้องดูว่าประเทศนั้น จะมีวิธีการแก้ปัญหานี้อย่างไร จะต้องเก่งจนทำให้ความเชื่อมั่นในมิติต่าง ๆ กลับมาได้

“เชื่อว่านักลงทุนจะมีความเข้าใจ สะท้อนจากราคาหุ้น และพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และข้อมูลเรื่องรัฐบาลได้เตรียมมาตรการในการดูแลรับมือไว้อยู่แล้ว เชื่อว่านักลงทุนรู้ว่าผลกระทบจะมีไม่มาก จึงอยากให้ติดตามข่าวว่ารัฐบาลจะดำเนินการ และมีเงื่อนไขอย่างไร  ยอมรับว่า หากรัฐบาลไม่มีวิธีแก้ปัญหาที่ดี ก็มีโอกาสที่ภาษีของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยไม่น้อยกว่า 1% ” นายพิชัยกล่าว