HoonSmart.com>>ตลาดหุ้นสหรัฐทั้ง 3 แห่งดำดิ่งลึก ดาวโจนส์ร่วงลง 1,679.39 จุด หรือ -3.98% S&P 500 ดิ่งลง 274.45 จุด, -4.84% ดัชนี Nasdaq ทรุดหนัก 1,050.44 จุด, -5.97% แรงเทขายหุ้นภายในวันเดียวครั้งใหญ่ที่สุดครึ่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ หลังจาก”ทรัมป์”ประกาศขึ้นภาษีครั้งใหญ่ เพิ่มความเสี่ยงสงครามการค้าโลกฉุดเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย หุ้นพลังงานลงตามราคาน้ำมันทรุด หลังกลุ่ม OPEC+ เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน หุ้นยุโรปทรุดหนัก
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average: DJIA) วันที่ 3 เม.ย. 2568 ปิดที่ 40,545.93 จุด ร่วงลง 1,679.39 จุด หรือ -3.98% ขณะที่ดัชนี S&P 500 กลับสู่เขตปรับฐานอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นการเทขายหุ้นภายในวันเดียวครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2020 หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เปิดเผยมาตรการภาษีครั้งใหญ่ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของสงครามการค้าโลกที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 5,396.52 จุด ลดลง 274.45 จุด, -4.84%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,550.61 จุด ลดลง 1,050.44 จุด, -5.97%
ดัชนีดาวโจนส์ที่ร่วงลงเกือบ 1,700 จุด ถือเป็นการร่วงลงครั้งใหญ่เป็นอันดับ 5 ในประวัติศาสตร์ ส่วนดัชนี Nasdaq ลดลงภายในวันเดียวมากสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2020 และดัชนี S&P 500 ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ก่อนที่ทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน โดยขณะนี้ดัชนีต่ำกว่าระดับปิดตลาดสูงสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ราว 12% และเข้าสู่เขตปรับฐาน
หุ้นของบริษัทข้ามชาติร่วงลง โดยหุ้น Nike และ Apple ร่วงลง 14% และ 9% ตามลำดับ กลุ่มผู้จำหน่ายสินค้านำเข้ารายใหญ่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยหุ้น Five Below ร่วงลงเกือบ 28% หุ้น Dollar Tree ร่วงลง 13% และหุ้น Gap ร่วงลง 20% ส่วนหุ้นเทคโนโลยีร่วงลงจากแนวโน้มที่ไม่ต้องการเสี่ยง โดยหุ้น Nvidia ร่วงลงเกือบ 8% และหุ้น Tesla ร่วงลงกว่า 5%
หุ้นกลุ่มธนาคารที่มีความอ่อนไหวเศรษฐกิจ ร่วงลงเช่นกัน โดยหุ้น Citigroup ร่วงลง 14.14% หุ้น Bank of America ร่วงลง 11.06% และหุ้น JPMorgan ร่วงลง 7%
หุ้นบริษัทพลังงานลดลงตามราคาน้ำมัน หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และชาติพันธมิตร หรือ OPEC+ ประกาศเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน โดยหุ้น Exxon Mobil ลดลง 5.26% หุ้น Chevron ลดลง 6.22% หุ้น ConocoPhillips ร่วงลง 10.23%
วันที่ 2 เม.ย.เวลา 16.00 น. ตามเวลากรุงวอชิงตัน สหรัฐฯซึ่งตรงกับเวลา 03.00 น. ของวันที่ 3 เม.ย.ตามเวลาไทยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariffs) ที่จะเรียกเก็บจาก 185 ประเทศและเขตปกครอง ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรการภาษีที่สูงเกินคาด
ทรัมป์ประกาศแนวทางการจัดเก็บภาษีแบบสองขั้นตอน โดยกำหนดอัตราภาษีพื้นฐานที่ 10% ต่อคู่ค้าทางการค้าของสหรัฐฯ ทั้งหมด แต่จะเพิ่มภาษีพิเศษให้กับประเทศที่ถือว่าเป็น “ผู้กระทำผิด” ในด้านการค้า ซึ่งหมายความว่าประเทศเหล่านั้นจะต้องเผชิญกับอัตราภาษีที่สูงขึ้นามาก โดยภาษีดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 และ 9 เม.ย. ตามลำดับ
นักลงทุนต่างหวังว่าแผนภาษีของทรัมป์จะใช้อัตราภาษี 10% หรืออย่างแย่ที่สุดก็ 20% เป็นเกณฑ์ ไม่ใช่เป็นจุดเริ่มต้นขั้นต่ำ แต่ปรากฎว่าอัตราภาษีจะสูงกว่าที่นักลงทุนคาดไว้สำหรับหลายประเทศ เช่น อัตราภาษีที่มีผลบังคับใช้สำหรับจีนจะอยู่ที่ 54% เมื่อรวมกับอัตราภาษีตอบโต้ใหม่และภาษีที่เรียกเก็บกับจีนแล้ว
แมรี่ แอน บาร์เทลส์ หัวหน้านักยุทธศาสตร์การลงทุนที่ Sanctuary Wealth กล่าวว่า นี่คือสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดสำหรับภาษีศุลกากร และตลาดไม่ได้ประเมินไว้ จึงเป็นสาเหตุที่เห็นปฏิกิริยาการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง คำถามใหญ่คือดัชนี S&P 500 จะยืนเหนือ 5,500 จุด ได้หรือไม่ หากไม่ได้ อาจเห็นขาลงอีก 5-10% ซึ่งอาจไปที่จุดต่ำสุดที่ 5,200-5,400
นักเศรษฐศาสตร์ของ JPMorgan กล่าวว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจเกิดขึ้นได้ หากอัตราภาษีใหม่นี้ยังคงอยู่ต่อไป และไม่มีการเจรจาให้ลดลง
ในบทวิเคราะห์ที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ ไรอัน สวีท นักเศรษฐศาสตร์จาก Oxford Economics กล่าวว่าเศรษฐกิจมีความเสี่ยงอย่างอันตรายต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยอัตราภาษีศุลกากรเฉลี่ยของสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นถึงระดับที่ไม่เคยเห็นในรอบ 100 ปี
เมื่อวันพฤหัสบดี ประธานาธิบดีรับรู้ถึงการเทขายในตลาด และเปรียบเทียบการบังคับใช้ภาษีศุลกากรกับ “การผ่าตัด เช่น เมื่อคนไข้เข้ารับการผ่าตัด” และกล่าวว่า “ตลาดจะเฟื่องฟู หุ้นจะเฟื่องฟู ประเทศจะเฟื่องฟู และส่วนอื่นๆ ของโลกต้องการเห็นว่ามีทางใดที่จะบรรลุข้อตกลงได้บ้าง”
นักลงทุนหันไปหาพันธบัตรเพื่อลดความเสี่ยง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีลดลงประมาณ 14 จุด ปิดที่ 4.05% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2024 ขณะเดียวกัน ดัชนีดอลลาร์สหรัฐ(US dollar index )ลดลง 1.5% เหลือ 101.92 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2024 เช่นกัน
นักลงทุนจับตาการรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนมีนาคมในวันศุกร์นี้ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่า จะเพิ่มขึ้น 140,000 ตำแหน่ง จากที่เพิ่มขึ้น 151,000 ตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ 4.1% นอกจากนี้ยังจับการกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมประจำปีของ Society for Advancing Business Editing and Writing (SABEW)ของ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เจอโรม พาวเวลล์ ในวันเดียวกัน
ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลง และเป็นการปรับตัวลงภายในวันเดียวครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 8 เดือน จากความหวาดวิตกว่าสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าครั้งใหญ่
ดัชนี STOXX 600 ของยุโรปกลับสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม ดัชนีหุ้นเยอรมนี อิตาลี และฝรั่งเศสปิดตลาดลดลงมากกว่า 3% โดยหุ้นอิตาลีและฝรั่งเศสร่วงลงมากที่สุดในรอบกว่า 2 ปี
ดัชนีวัดความผันผวนของตลาดหุ้นโซนยูโรพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 8 เดือนที่ 25.54
ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 523.12 จุด ลดลง 13.80 จุด, -2.57%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,474.74 จุด ลดลง 133.74 จุด, -1.55%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,598.98 จุด ลดลง 259.85 จุด, -3.31%,
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 21,717.39 จุด ลดลง 673.45 จุด, -3.01%
ทรัมป์ประกาศในวันพุธที่จะจัดเก็บภาษีสินค้าส่วนใหญ่ที่นำเข้ามายัง 10% ส่งผลให้อัตราการจัดเก็บภาษีต่อสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นเป็น 20%
ฮิวจ์ กิมเบอร์ นักยุทธศาสตร์ตลาดโลกจากเจพี มอร์แกน แอสเสท แมเนจเมนต์ กล่าวว่า ปฏิกิริยาของตลาดทำให้เห็นชัดเจนว่าการประกาศเมื่อวันพุธแย่กว่าที่คาดไว้
นักลงทุนเพิ่มการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) แม้ว่าสงครามการค้าอาจจะทำให้เกิดเงินเฟ้อ และมีความคาดหวังว่าผู้กำหนดนโยบายจะดำเนินการเพื่อกระตุ้นการเติบโต
หุ้นกลุ่มที่อ่อนไหวต่อเศรษฐกิจ ทั้งกลุ่มธนาคาร กลุ่มทรัพยากรพื้นฐาน และกลุ่มน้ำมันและก๊าซต่างก็ลดลงกว่า 5% โดยกลุ่มธนาคารนำการลดลง
สำหรับหุ้นรายตัว ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาอย่าง Adidas และ Puma ร่วงลงกว่า 11% เนื่องจากตลาดการจัดหาสินค้าหลักได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีศุลกากรที่สูง
บริษัทสินค้าฟุ่มเฟือยร่วงลง โดย LVMH ลดลง 5.6% จากผลกระทบของการจัดเก็บภาษีศุลกากรกับสหภาพยุโรปและสวิตเซอร์แลนด์
ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง เรียกร้องให้บริษัทในยุโรประงับการลงทุนที่วางแผนไว้ในสหรัฐฯ
กลุ่มอุตสาหกรรมป้องกันประเทศบางส่วนปรับตัวขึ้น โดยกลุ่มสาธารณูปโภคและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น 3% และ 2.1% ตามลำดับ
ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม ลดลง 4.76 ดอลลาร์ หรือ 6.64% ปิดที่ 66.95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน ลดลง 4.81 ดอลลาร์ หรือ 6.42% ปิดที่ 70.14 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
———————————————————————————————————————————————————–