WIP ธุรกิจติดตามหนี้ดีจ่อระดมทุน ขยายลูกค้าใหม่-เพิ่มงานรีไฟแนนซ์

HoonSmart.com>>วินเพอร์ฟอร์มานซ์ หรือ WIP ธุรกิจติดตามหนี้ที่ยังไม่เสียพร้อมเข้าระดมทุน IPO ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในปี’68 เตรียมยื่นไฟลิ่ง มิ.ย.นี้ ชูจุดแข็งเทคโนโลยีช่วยเข้าถึงลูกหนี้เร็วช่วยลดการเป็น NPLs ช่วยเจ้าหนี้ลดต้นทุน หวังนำเงินไปขยายธุรกิจหลักเพิ่มส่วนแบ่งตลาด สร้างธุรกิจใหม่ ตั้งเป้ารายได้โตปีละ 5-10% ระยะยาวหวังส่วนแบ่งตลาด 20%

บริษัท วินเพอร์ฟอร์มานซ์ (WIP) ธุรกิจให้บริการติดตามหนี้ เรียกเก็บหนี้ และการฟ้องร้องดำเนินคดีกับลูกหนี้ตามกฎหมายมีแผนที่จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในกลุ่มบริการ (Service)เป็นอีกหนึ่งดีลที่น่าจับตามองมากที่สุดอีกแห่งหนึ่งของปี ท่ามกลางภาวะหนี้สินครัวเรือนพุ่งสูง ที่ภาครัฐและเอกชนกำลังเร่งหาทางจัดการหนี้เสียให้ได้อย่างรวดเร็ว การแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ให้บริการหนี้เสีย หรือ NPLs ที่มีมากกว่า 2,000 แห่ง

เดิมพันความเป็นมืออาชีพ

บริษัท วินเพอร์ฟอร์มานซ์ (WIP) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 9 ม.ค.2558 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ในชื่อ บริษัท วิน คอลเล็กชั่น ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท วินเพอร์ฟอร์มานซ์ เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2558 โดยมีนายพรเลิศ เบญจกุล ผู้บริหารและพนักงานซึ่งเคยเป็นส่วนงานหนึ่งของฝ่ายงานติดตามทวงหนี้ของ บริษัท บัตรกรุงไทย (KTC) ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายใหญ่ในอุตสาหกรรม และปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้ใช้บริการรายใหญ่ของ WIP

วันที่ 29 ธ.ค.2564 WIP ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 100 ล้านบาท โดยมีนายพรเลิศ เบญจกุล กรรมการผู้จัดการ ถือหุ้นในสัดส่วน 5% ที่เหลือเป็นนักลงทุนทั่วไป โดยมีการขยายฐานลูกค้าไปยังสถาบันการเงินอื่นๆ บริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non- Bank) รวมถึงธุรกิจประเภทอื่นๆ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจและสร้างผลตอบแทนให้แก่บริษัท

นายพรเลิศ เบญจกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท วินเพอร์ฟอร์มานซ์ (WIP) กล่าวว่า บริษัทก่อตั้งมาได้ร่วม 10 ปี แต่ทีมผู้บริหารมีประสบการณ์ในการบริหารงานในธุรกิจนี้มาร่วม 20 ปี มีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะ 3 ปีย้อนหลัง ในช่วงปี 2565 -2567 มีรายได้ 300,335 และ 352 ล้านบาทตามลำดับ อัตรากำไรขั้นต้น (GP) อยู่ที่ 48%,51% และ 51% ตามลำดับ ในขณะที่กำไรสุทธิทำได้ 79 ,95 และ 95.5 ล้านบาทตามลำดับ โดยที่ผ่านมามีการจ่ายเงินปันผลในอัตรา 20% ของกำไรสุทธิ

“ปี 2568 กรณีการดำเนินธุรกิจภายใต้ภาวะปกติ ไม่นับรวมกิจกรรมที่จะมีการ IPO คาดว่ารายได้จะโตประมาณ 5-10%”นายพรเลิศ กล่าว

นายพรเลิศ กล่าวว่า สัดส่วนรายได้ 75% มาจากธุรกิจการให้บริการติดตามทวงถามหนี้ อีก 20% มาจากค่านายหน้าธุรกิจให้บริการเร่งรัดหนี้สิน ซึ่งรายได้จากงานส่วนนี้ในปี 2567 ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากเดิมอยู่ที่ 10% เท่านั้น และในปี 2568 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 30% และอีก 5% มาจากรายได้ส่วนงานธุรกิจให้บริการอื่น

การที่ WIP มีกำไรค่อนข้างสูง เพราะบุคลากรของบริษัทมีไม่มาก ประมาณ 210 คนเท่านั้น ทำให้ต้นทุนคงที่ไม่สูง ซึ่งจะพยายามรักษาคนไว้ในระดับนี้ และการที่สามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้จำนวนมาก ผลจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการติดตามทวงถาม เรียกว่าระบบเสมือนจริง DCS (Debt Collection System), ระบบหมุนโทรศัพท์อัตโนมัติ (Predictive outbound dialer : PDS) พร้อมซอฟท์แวร์การส่งข้อความเสียงในการทวงหนี้ที่ออกแบบมาสำหรับธุรกิจทุกขนาด เพื่อประหยัดเวลา ลดต้นทุนทางการเงิน และลดความยุ่งยาก

ปี 2567 ที่ผ่านมา ให้บริการทวงถามหนี้ที่เป็นหนี้อายุน้อยกว่า 90 วันที่เรียกว่าหนี้ส่วนหน้าอยู่ 5.2 ล้านบัญชี ซึ่เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ให้บริการอยู่ 4.7 ล้านบัญชี และปี 2565 ให้บริการ 4.5 ล้านบัญชี

“การติดตามหนี้ก่อนที่ลูกหนี้จะตกไปเป็น NPLs จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าการติดตามหนี้ NPL เพราะรายได้เข้าเร็วกว่า ต้นทุนต่ำกว่า และจากการที่จำนวนบุคลากรของเรามีไม่มาก ทำให้ต้นทุนโดยรวมของบริษัทต่ำ ความสามารถในการทำกำไรจะดีกว่าคู่แข่งในตลาดที่เน้นการติดตามเร่งรัดหนี้ NPL”นายพรเลิศ กล่าว

นายพรเลิศ กล่าวว่า ขณะที่การให้บริการติดตามหนี้เสีย หรือ หนี้ที่มีอายุเกิน 90 วันที่ตกไปเป็นหนี้เสีย (NPL) ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปี 2567 มีหนี้เสียที่ต้องติดตาม 19,000 ล้านบาท มีอัตราการจัดเก็บหนี้ได้สำเร็จ 5.2% ซึ่งลดลงเนื่องจากฐานของหนี้เสียสูงขึ้น ในขณะที่ปี 2566 มีหนี้เสียที่ต้องติดตาม 7,700 ล้านบาท อัตราการจัดเก็บหนี้สำเร็จอยู่ที่ 11.7% และปี 2565 มีหนี้เสียที่ติดตาม 4,500 ล้านบาท มีอัตราการจัดเก็บสำเร็จอยู่ที่ 9%

เตรียมยื่นไฟลิ่งมิ.ย.68

ผลการดำเนินงานที่เป็นไปตามเกณฑ์ของการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และโอกาสในการขยายธุรกิจติดตามทวงถามหนี้ที่กำลังมาแรง ทำให้บริษัท วินเพอร์ฟอร์มานซ์ (WIP) การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน หรือ ไฟลิ่ง กับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ภายในเดือนมิ.ย.2568 นี้ โดยมีบริษัทหลักทรัพย์(บล.) เอเซีย พลัส เป็นที่ปรึกษาทางด้านการเงิน

นายพรเลิศ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีสินทรัพย์รวมอยู่ 270 ล้านบาท จึงต้องการระดมทุนเพื่อนำไปขยายธุรกิจเดิมหรือธุรกิจหลักคือ ธุรกิจทวงถามและติดตามหนี้ โดยจะขยายฐานลูกค้าใหม่ ทั้งสถาบันการเงิน และบริษัทให้สินเชื่อที่เป็นนันแบงก์

รวมถึง การร่วมทุนกับบริษัทผู้ประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์(AMC) ที่เป็นพันธมิตร เพื่อไปซื้อหนี้เสีย โดยทาง WIP จะเป็นผู้ติดตามทวงถามหนี้ให้แล้วแบ่งกำไรตามสัดส่วนการลงทุน ซึ่งปัจจุบันมีพันธมิตรอยู่แล้วและอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อหนี้ ซึ่งตามกฎหมายสามารถลงทุนในบริษัทอื่นได้ไม่เกิน 40% ของสินทรัพย์ จึงเป็นเหตุผลที่ WIP จดทะเบียนในกลุ่มบริการ แทนที่จะจดทะเบียนในกลุ่มการเงิน

“เราตั้งเป้าที่จะมีส่วนแบ่งในธุรกิจบริการติดตามหนี้และเร่งรัดหนี้ ไม่ต่ำกว่า 5-10% และในระยะยาวตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 20%”นายพรเลิศ กล่าว

นายพรเลิศ กล่าวว่า นอกจากนี้ บริษัทจะมีการนำเงินไปขยายธุรกิจใหม่ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ เพิ่มแหล่งที่มาของรายได้และกำไร โดยปี 2568 บริษัทได้มีการขยายการให้บริการปิดเล่ม/ปิดบัญชี หรือ การรีไฟแนนซ์สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ บริการติดตามเอาคืนทรัพย์สินประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ การบริการรับเป็นผู้แนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงิน สินเชื่อจำนำรถยนต์

“เราคิดค่าใช้จ่ายจากลูกค้าแบบคงที่ คือ ถ้าในกรุงเทพคิดค่าบริการ 3,500 บาท ถ้าอยู่ต่างจังหวัดคิดค่าบริการ 4,500 บาท ถือว่าลูกค้าเสียค่าบริการต่ำกว่าตลาด”นายพรเลิศ กล่าว

จุดแข็งที่”เจ้าหนี้”สนใจ WIP

นายพรเลิศ ยอมรับว่า การแข่งขันในตลาดติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้มีการแข่งขันสูง จากการที่มีบริหารบริหารสินทรัพย์ (AMC) น่าจะประมาณ 2,000 รายทั่วประเทศ ยังไม่รวมบริษัทที่ขึ้นทะเบียนกับสภาทนายความ และ AMC ที่ขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย แต่จำนวนธนาคารและนันแบงก์ ที่เป็นเจ้าหนี้และเป็นผู้ใช้บริการบริษัทติดตามหนี้มีจำกัด ผู้ให้บริการรายเล็กอาจจะสู้ AMC รายใหญ่ไม่ได้ ถ้ามีเงินทุนไม่เพียงพอ เทคโนโลยีไม่พร้อม แผนธุรกิจไม่ดี บริการไม่มีความแตกต่าง

WIP มีจุดแข็งที่แตกต่างไป ภายใต้เทคโนโลยีที่มี ประสบการณ์ทีมงาน สามารถเข้าถึงลูกค้าได้เร็ว จะทำให้โอกาสที่หนี้จะตกไปเป็นหนี้เสียมีน้อยลง ช่วยลดต้นทุนให้กับเจ้าหนี้ โดยระบบเทคโนโลยีการติดตามทวงถามหนี้เสมือนจริง (Virtual Debt Collector) ทั้งการส่ข้อความเสียงแจ้งเตือน การโทรออกอัติโนมัติ การส่งจดหมาย ที่สามารถทำให้เจ้าถึงลูกหนี้จำนวนมาก ผสมกับการติดตามที่ใช้พนักงาน ภายใต้กระบวนการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับประกาศ กฎระเบียบของทางการที่เกี่ยวข้อง

รวมถึง มีการวิเคราะห์ข้อมูลและการบริหารแผนการติดตามหนี้ให้เหมาะสมกับระยะเวลาของหนี้ซึ่งจะช่วยควบคุมอัตราหนี้เสียได้ดีขึ้น การป้องกันมิให้บุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าถึงข้อมูลลูกหนี้ตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) การให้บริการระบบที่สอดคล้องกับแต่ละประเภทของสินเชื่อ เพราะสินเชื่อส่วนบุคคลกับสินเชื่อจำนำรถก็จะใช้ระบบที่แตกต่างกัน

จากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการสินเชื่อ มีความเข้มงวดเรื่องการบริหารพอร์ตสินเชื่อให้มีคุณภาพ ไม่เกิดเป็นหนี้คงค้าง และไม่กลายเป็นหนี้เสีย จำเป็นต้องอาศัยความชำนาญในการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สิน การบริหารหนี้ เพื่อควบคุมคุณภาพของหนี้ จะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งเชื่อว่า WIP จะมีโอกาสในการเติบโตต่อไปได้

“เราเป็นบริษัทติดตามทวงถามหนี้รายแรกที่ได้รับการรับรอง ISO/IEC 27001:2022 และ ISO/IEC 27701:2019 และกำลังดำเนินการขอรับรอง PCIDSS เพื่อเสริมความปลอดภัยของข้อมูล ฉะนั้นสถาบันการเงิน หรือ นันแบงก์ที่มาใช้บริการ WIP ไม่ต้องเสียเวลามาบอกว่าเราต้องทำอะไร และการที่ผู้ใช้บริการรายใหญ่ที่เป็นบริษัทบัตรเครดิตมีการใช้บริการของ WIP มายาวนานเป็นหนึ่งในการการันตีถึงคุณภาพการทำงานของเรา”นายพรเลิศ กล่าว

ทำไม”นักลงทุน”ถึงสนใจ

นายพรเลิศ กล่าวว่า บริษัทที่ให้บริการติดตามและทวงถามหนี้มีจำนวนมาก และที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็มีมากเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่จะให้บริการติดตามหนี้เสีย หรือ NPLs ในขณะที่ WIP งานส่วนใหญ่จะมาจากการติดตามหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย คือ หนี้อายุน้อยกว่า 90 วัน ทำให้มีรายได้เข้ามาเร็ว ต้นทุนต่ำ ความสามารถในการทำกำไรจะดีกว่าคู่แข่งขัน

ด้านอัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรสุทธิ หรือ P/E Ratio ของ WIP หลังจากมีการแตกพาร์จาก 10 บาท เหลือ 1 บาท เพื่อเตรียมระดมทุน พีอี จะอยู่ราวๆ 7 เท่า เมื่อเทียบบริษัทติดตามทวงถามหนี้ด้วยกันในตลาดนี้อยู่ราวๆ 10 เท่า และยังมีการปันผลที่ดีมาตลอด ซึ่งที่ผ่านมาปันผลปีละ 20% ของกำไรสุทธิ แต่หลังจากได้เข้าตลาดอาจจะปรับอัตราการจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้น

การนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น อาจทำให้ชื่อของ บริษัท วินเพอร์ฟอร์มานซ์ เป็นที่รู้จักของเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน บริษัทให้สินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน สามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ และขยายธุรกิจใหม่ๆ ดึงดูดพันธมิตรทางธุรกิจได้มากขึ้น

แต่ความท้าทายหลักๆ ในปีนี้ยังมีอยู่ คือ ภาวะตลาดทุนที่ไม่เอื้ออำนวย การแข่งขันของธุรกิจติดตามทวงถามหนี้ที่รุนแรง

WIP จะสามารถ IPO ในปีนี้ได้หรือไม่ และถ้าสามารถ IPO ได้ จะทำให้เกิดมหากาพย์แห่ความสำเร็จ หรือ ฝันร้ายแห่งการลงทุน? คงต้องรอดูผลตอบรับจากตลาด

แต่ที่แน่ๆ นักลงทุน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) สถาบันการเงิน นันแบงก์ รวมถึงคู่แข่งขัน จะไม่พลาดจับตาดูดีลนี้แน่นอน