“ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน” ปรับขึ้นสู่เกณฑ์ “ทรงตัว” หวังท่องเที่ยวฟื้นตัว-กระตุ้นศก.หนุน

HoonSmart.com>> “สภาธุรกิจตลาดทุนไทย” (FETCO) เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้า (พ.ค.67) ปรับขึ้นสู่เกณฑ์ “ทรงตัว” นักลงทุนคาดหวังปัจจัยหนุนภาคท่องเที่ยวฟื้นตัว-มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มอง “เฟดตรึงดอกเบี้ย-ภาวะเงินเฟ้อ” ปัจจัยฉุด ชอบหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและสันทนาการมากสุด ส่วนกลุ่มปิโตรฯ เคมีภัณฑ์ น่าสนใจน้อยสุด

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 (สำรวจระหว่างวันที่ 20–29 กุมภาพันธ์ 2567) พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.88 ปรับเพิ่มขึ้น 37.8% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” โดยนักลงทุนมองว่าการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด

รองลงมาคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ นโยบายคงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) รองลงมาคือสถานการณ์เงินเฟ้อ และ การไหลออกของเงินทุน

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้

 ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (พฤษภาคม 2567) อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (ช่วงค่าดัชนี 80-119) ปรับเพิ่มขึ้น 37.8% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 106.88
 ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ในขณะที่ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว”
 หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM)
 หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO)
 ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
 ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ นโยบายคงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ

ผลสำรวจรายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับเพิ่ม 31.4% อยู่ที่ระดับ 115.00 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่ม 14.3% มาอยู่ที่ระดับ 100.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลด 11.9% อยู่ที่ระดับ 122.00 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับเพิ่ม 66.7% อยู่ที่ระดับ 100.00

นักลงทุนสนใจลงทุนในหมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) มากที่สุด รองลงมาคือ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD) และหมวดพาณิชย์ (COMM) ในขณะที่นักลงทุนเห็นว่าหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO) ไม่น่าสนใจมากที่สุด รองลงมา คือ หมวดธนาคาร (BANK) และหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ (STEEL)

สาหรับดัชนีความเชื่อมั่นรายกลุ่มนักลงทุน พบว่ามีเพียงความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ในขณะที่ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว”

ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ 2567 SET Index มีการปรับตัวดีขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้าในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก หลังนักลงทุนมีความคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะเริ่มลดดอกเบี้ยลงในเร็ววันนี้ รวมถึงมาตรการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นจีน การส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายทางการเงินอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางญี่ปุ่น การประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่แข็งแกร่งขึ้น และแรงหนุนจากนักลงทุนต่างชาติที่กลับเข้าซื้อหุ้นไทย ส่งผลให้ SET Index ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ปิดที่ 1,370.67 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.5% จากเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 47,265 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิกว่า 3,246 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิกว่า 27,624 ล้านบาท

ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยไปอีกระยะหนึ่ง ปัญหาเศรษฐกิจจีนที่ยังต้องติดตามต่อเนื่อง สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยเฉพาะใน รัสเซีย—ยูเครน และในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางยังยืดเยื้อ

ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศหลังสัญญาณการบริโภคภายในประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2566 ต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 1 ปี 2567 และติดตามผลประชุมกนง. ครั้งถัดไปต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย